CIMBมองกนง.คงดบ.2%-ศก.ไทยโต3.3%

CIMBมองกนง.คงดบ.2%-ศก.ไทยโต3.3%

CIMBมองกนง.คงดบ.2%-ศก.ไทยโต3.3%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

CIMB มอง กนง. คงดอกเบี้ย 2% หลังภาวะศก. การส่งออกชะลอ เงินเฟ้อติดลบ กดดัน คาดศก.ไทยโต 3.3% ส่งออก 2% มองนโยบายรัฐช่วยกระตุ้นศก.ช่วงหลังของปี

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ คาดว่าที่ประชุมจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี เนื่องจากยังมีแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งจากเศรษฐกิจไทย การบริโภค การลงทุนการส่งออกที่ชะลอตัว ประกอบกับเงินเฟ้อที่ติดลบ รวมทั้งจากมาตรการการปรับลดดอกเบี้ยของตลาดหลักในภูมิภาคที่ส่งผลต่อสงครามค่าเงิน โดยจากนี้จะต้องติดตามสถานการณ์การปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินทุนไหลออก

ทั้งนี้ นายอมรเทพ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยในขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค รองจากประเทศสิงคโปร์ ทำให้หากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงหลังมีการคงในระดับต่ำเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ โดยส่วนตัวมองว่า กนง. จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีไปจนถึงสิ้นปีนี้

นายอมรเทพ ยังเปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า CIMB ไทยได้ปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ส่วนการส่งออกคาดจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 2 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังคงกดดัน ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐยังล่าช้า ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำกดดันการบริโภค ไม่เติบโต อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี

นอกจากนี้ นายอมรเทพ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน หรือภาวะเงินฝืด ซึ่งปัจจัยของเงินเฟ้อที่ติดลบ มาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 จากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่กลับมาในทิศทางที่อ่อนค่า ทำให้การนำเข้ามีราคาที่ถูกขึ้น โดย CIMB ประเมินกรอบค่าเงินบาททั้งปี แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยครึ่งแรกของปีจะแกว่งตัวประมาณ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนครึ่งหลังของปี จากปัจจัยที่จะเกิดกระแสเงินไหลออก หลังมีการคาดการณ์เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้คาดการณ์ว่า ปลายปีเงินบาทจะอยู่เคลื่อนไหวในกรอบ 34 บาทต่อดอลลบาร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook