“สสว.” เปิดตัวโครงการเสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่ จัดเต็มครบวงจร สร้างทักษะ CEO-ฝึกฝีมือ-
เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายค่าแรง 300 บาทของรัฐบาล และให้โอกาสผู้ประกอบการ SMEsรายย่อยที่ต้องการเปลี่ยนเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ หรือเป็นผู้ที่มีแรงบันดาลใจอยากจะผันตัวเองสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ"สสว." ได้เปิดตัว "โครงการเสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่" ขึ้น
อย่างยิ่งใหญ่ จัดเต็มครบวงจร สร้างทักษะ CEO-ฝึกฝีมือ-ช่วยตั้งธุรกิจ
เพื่อเป็นการยกมาตรฐานผู้ประกอบการและเติมเถ้าแก่หน้าใหม่เข้าสู่วงการ โดยโครงการดังกล่าว เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐให้แบบครบเครื่อง ตั้งแต่จัดอบรม "Mini MBA รายย่อย" ฝึกทักษะฝีมือ ไปจนถึงบริการกุนซือช่วยตั้งกิจการ โดยเปิดรับสมัคร 3,000 คนทั่วประเทศ
ในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัดทั่วประเทศ ในภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตอนกลางและตอนล่าง ที่เป็นพื้นที่ที่ค่าแรงขั้นต่ำเดิมกับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ห่างกันมากกว่า 20% วางเป้าหมายผู้ที่ผ่านการอบรมธุรกิจใหม่มียอดขายในช่วง 3 เดือนแรกไม่น้อยกว่ารายละ 30,000 บาท/ เดือน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โครงการจะเน้นที่จัดการองค์ความรู้แบบ 2+1 ด้าน คือ
1. ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจ โดยให้เรียนรู้ถึง การจัดการ การเงินและการตลาดเบื้องต้น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานการดำเนินธุรกิจ และ
2.ความรู้ด้านทักษะ ซึ่งเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจรายย่อย โดยมุ่งเน้นการลงมือทำจริงในธุรกิจที่สนใจ บวก 1. คือระบบพี่เลี้ยงธุรกิจคอยติดตามให้คำปรึกษา ทั้งด้านการตลาด การเงิน การผลิต เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนได้ต่อไป ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีความแตกต่างจากโครงการอบรมอื่น ๆของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ออกมาก่อนหน้านี้
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการบูรณาการหน่วยงานชั้นเยี่ยมในองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านฝึกอาชีพ และหน่วยงานสนับสนุนด้านการเงิน ตลอดจนทีมงานด้านที่ปรึกษาธุรกิจ ให้เข้ามาร่วมมือกันเพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่ครบเครื่อง ทั้งองค์ความรู้ ทักษะฝีมือ เงินทุนดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถตั้งธุรกิจของตัวเองได้อย่างยั่งยืน
" ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักเริ่มจากทักษะความชอบและประกอบการบนพื้นฐานทักษะฝีมือหลายรายนำไปสู่ความล้มเหลวแบบไม่ทราบสาเหตุ เพราะขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการ ด้านต้นทุน ด้านการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำรงธุรกิจให้ยั่งยืนได้ การดำเนินงานของโครงการเสริมสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่ จะให้โอกาสทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเปลี่ยนเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ และทั้งในส่วนของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท และผู้มีแรงบันดาลใจอยากจะผันตัวเองเข้าสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมทุกอย่างที่ผู้ประกอบการมืออาชีพต้องเรียนรู้" นายวิฑูรย์ กล่าว
ด้านนายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการการจะเปิดรับสมัครฝึกอบรมธุรกิจกลุ่มเป้าหมายจำนวน 3,000 คน จากนั้นปั้นเป็นผู้ประกอบการ SMEs ใหม่ให้ได้อย่างน้อย 300 ราย ซึ่งหลังผ่านการฝึกอบรมแล้ว ผู้เข้าร่วมจะได้รับการสนับสนุนให้ตั้งกิจการจนประสบความสำเร็จโดยวางเป้าให้มีรายได้ในช่วง 3เดือนแรกให้ได้ 30,000 บาท/เดือน
สำหรับการดำเนินโครงการจะครบวงจร ตั้งแต่ช่วยเริ่มต้น จนสามารถตั้งธุรกิจของตัวเองได้สำเร็จ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นได้ทั้งผู้ที่เคยเป็นผู้ประกอบการเดิม แต่อยากเปลี่ยนธุรกิจใหม่ และลูกจ้างในสถานประกอบการเดิมที่ยุติกิจการไปที่ได้รับการคัดเลือก 3,000 คน จะได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการ จำนวนหนึ่งวัน หรือ 6 ชั่วโมง โดยเนื้อหาของหลักสูตรจะมีทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจอย่างมีมาตรฐาน การจัดการธุรกิจเบื้องต้น ด้านการตลาด การเงิน การสต็อกวัตถุดิบและสินค้า งานโลจิสติกส์ ทรัพยากรมนุษย์ ไปจนถึงการเขียนแผนธุรกิจสำหรับธุรกิจรายย่อย
ระยะที่ 2 ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมรอบแรก ซึ่งแสดงความจำนงและมีความมุ่งมั่นที่จะตั้งธุรกิจใหม่ อีกทั้งเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการตั้งธุรกิจใหม่ได้จริง จะได้สิทธิ์เข้าร่วม Workshop ฝึกอบรมระดับปฏิบัติการเชิงลึก นาน 2 วัน หรือ 12 ชั่วโมง โดยมีเป้าหมายรองรับผู้ที่สนใจตั้งธุรกิจใหม่อย่างจริงจัง ไม่น้อยกว่า 300 ราย เนื้อหาสำหรับ Workshop ประกอบด้วยการเริ่มต้นธุรกิจใหม่เชิงลึก การพัฒนาทักษะการจัดการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไปจนถึงการฝึกอบรมอาชีพที่เตรียมไว้ 10 หลักสูตร เช่น หลักสูตรอาชีพด้านร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขนมหวาน ร้านเครื่องดื่ม ร้านทำกุญแจ ร้านซ่อมรองเท้า ร้านซ่อมเสื้อผ้า เป็นต้น
ระยะที่ 3 เป็นช่วงที่ผู้ผ่านการฝึกอบรมรอบ Workshop จะลงมือจัดตั้งธุรกิจกันจริงๆ จะให้การสนับสนุนต่อเนื่องอีก 3 ด้าน คือ ด้านที่ปรึกษาธุรกิจ - เรามีที่ปรึกษาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจที่จัดตั้งใหม่ เกิดได้จริง อยู่รอดได้จริง เช่น การช่วยเหลือในส่วนของการวิเคราะห์ทำเล การแก้ปัญหาเชิงบริหารจัดการ การเตรียมตัวยื่นขอสินเชื่อจากธนาคาร
ด้านการเงิน เตรียมอำนวยการสนับสนุนไว้ 2 อย่าง คือ การสนับสนุนให้เข้าอีกโครงการหนึ่งของ สสว. คือ โครงการอัดฉีดเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs ซึ่งเป็นการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยผู้ประกอบการจะได้รับการชดเชยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ของวงเงินสินเชื่อ และในเวลาเดียวกัน และจะสนับสนุนให้เข้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการใหม่ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.
ด้านการฝึกอบรมต่อเนื่อง ในที่ทำการของ สสว. มีบริการแก่ SMEs ที่เรียกว่า Front Service โดยเราจัดกิจกรรมฝึกอบรมความรู้อย่างกว้างขวางเป็นประจำทุกสัปดาห์ พร้อมให้บริการที่ปรึกษาโดย ไม่คิดค่าใช้จ่าย
ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการสามารถโทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ส่วนกลาง โทร.1301 หรือ โทร 091-864-3078 ภาคเหนือ โทร 089-431-2349 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโทร.081-320-3819 รับจำนวนจำกัดเพียง 3,000 คนเท่านั้น