Frictionless Sharing ดาบสองคมบน Facebook

Frictionless Sharing ดาบสองคมบน Facebook

Frictionless Sharing ดาบสองคมบน Facebook
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างบน Facebook ตั้งแต่ลูกเล่นใหม่ๆ อย่าง Ticker กับ Subcribe ที่ "ได้รับแรงบัลดาลใจ" มาจาก Twitter แบบเต็มๆ การแบ่งปันคอนเทนต์ผ่านทางกลุ่มเฉพาะที่ระบบสร้างให้โดยอัตโนมัติซึ่งคล้ายกับลูกเล่น "แวดวง" ใน Google+ และ Timeline โปรไฟล์แบบใหม่ที่ประกอบไปด้วยเส้นแสดงช่วงเวลาเหตุการณ์ตั้งแต่ปัจจุบันย้อนกลับไปถึงอดีต พร้อมโปะหน้าด้วย Cover Photo ใหญ่สะดุดตาที่ทำให้หลายคนครหาว่า "รก" และทำให้อินเทอร์เฟซที่ดูเรียบง่ายเหมือนกับ Hi5 เข้าไปทุกที

 

ภายในงานสัมมนานักพัฒนา F8 ที่ Facebook จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว นอกจากจะมีไฮไลท์ที่ลูกเล่น Timeline ดังกล่าว อีกหนึ่งความสามารถใหม่ที่ได้รับการเปิดตัวและสร้างข้อถกเถียงกันมากนั่นก็คือ Frictionless หรือ Seamless Sharing ระบบที่จะทำการ "แบ่งปันแบบไร้รอยต่อ" ให้อัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องขออนุญาตเป็นรายครั้งไป ผู้ใช้เพียงแค่เข้าไปเสพคอนเทนต์ตามปกติ และทุกอย่างก็จะถูกแบ่งปันผ่านทาง News Feed ทันที ทำให้เพื่อนๆ ของเราทราบได้เลยว่าเรากำลังทำอะไรบน Facebook ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือรู้ตัวอยู่หรือไม่ก็ตาม!

แบ่งปันเพื่อใคร?
กลไกการทำงานของ Frictionless Sharing สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก กล่าวคือเมื่อผู้ใช้ทำการเสพคอนเทนต์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข่าว หรือฟังเพลง ผ่านแอพพลิเคชั่นของบริการบน Facebook ระบบก็จะทำการแสดงการกระทำผ่านทาง News Feed หรือ Ticker ทันที แต่มีข้อแม้ว่าตอนที่เราจะเข้าไปใช้แอพพลิเคชั่นของบริการใดๆ เป็นครั้งแรก ระบบจะขออนุญาตจากเราก่อน เมื่อได้รับการอนุญาตแล้ว การแบ่งปันที่เหลือก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องมาคอยกดไลค์หรือคัดลอกลิงก์มาวางบนแถบสถานะเหมือนเมื่อก่อน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอ่านข่าวผ่านทางแอพพลิเคชันของ Washington Post หรือ The Guardian ระบบก็จะแสดงให้เพื่อนเราเห็นว่าเรากำลังอ่านหัวข้อข่าวอะไร หรือถ้าเราฟังเพลง ระบบก็จะแสดงชื่อเพลงที่เรากำลังฟังอยู่ทันที นับเป็นการช่วยลดขั้นตอนสำหรับพวกชอบแชร์อย่างยิ่ง!

 

 

 

ความจริงแล้ว Frictionless Sharing นี้ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของ Facbook ในการพยายามกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันอย่างล้นเกิน (Over-sharing) บนเครือข่ายสังคม เมื่อราว ค.ศ. 2007 Faceook ได้เปิดตัว Beacon คุณสมบัติที่มีลักษณะคล้ายกันซึ่งจะทำการโพสต์การกระทำของผู้ใช้ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์หรือบริการที่ร่วมรายการด้วยโดยอัตโนมัติผ่านทางหน้า Wall โดยไม่ได้รับการอนุญาต ซึ่งประเด็นหลังนี่เองที่ทำให้เกิดคดีฟ้องร้องการละเมิดความเป็นส่วนตัวตามมามากมายจนทำให้ facebook ต้องยกเลิกคุณสมบัตินี้ไปเมื่อ ค.ศ. 2009 และร้อนถึง Mark Zuckerberg ที่ต้องออกมาขอโทษด้วยตัวเอง

ถึงแม้ Frictionless Sharing จะมีมารยาทมากกว่า Beacon เนื่องว่าจะต้องได้รับอนุญาตก่อนในการใช้งานครั้งแรก แต่ทาง Electronic Privacy Information Center (EPIC) และ American Civil Liberties Union สองกลุ่มสนับสนุนผู้บริโภครายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาแย้งว่า ไม่นานผู้ใช้ก็จะลืมว่าตัวเองกำลังตั้งให้ระบบทำการแบ่งปันโดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกจับตามองจากระบบอยู่ รวมทั้งกล่าวหา Facebook ว่าไม่ยอมอธิบายผู้ใช้ถึงผลดีผลเสียที่จะตามมาจากการแบ่งปันอย่างล้นเกินนี้

แน่นอนว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จาก Frictionless Sharing ก็คือ Facebook เองที่จะได้รับข้อมูลปริมาณมหาศาลจากผู้ใช้โดยที่ไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่ของการขายโฆษณาที่จะทำได้อย่างตรงกลุ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ผู้สร้างคอนเทนต์ (Content Creator) ก็จะได้รับประโยชน์ในแง่ที่ว่าสามารถที่จะกระจายคอนเทนต์ของตนในรูปแบบไวรัลได้รวดเร็ว ช่วยเพิ่มระดับของการรับรู้และขยายฐานลูกค้าไปได้มาก โดยรายงานจาก Facebook เองระบุว่า Spotify บริการฟังเพลงออนไลน์ชื่อดังมียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคนเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการเปิดตัว Frictionless Sharing ภายในงาน F8 และสำหรับสำนักข่าวต่างๆ อย่าง The Guardian หรือ Washington Post ลูกเล่นนี้ยังช่วยให้เกิดการค้นพบและหมุนเวียนคอนเท้นต์ต่อกันไปเรื่อยๆ ในแวดวงของผู้ใช้ซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาล ทำให้ข่าวเก่าไม่ต้องถูกฝังกลบมิดทันทีที่ของใหม่ออกมา อีกทั้งยังไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าการแบ่งปันช่วยก่อให้เกิดการมี "ปฏิสัมพันธ์" มากขึ้นทั้งระหว่างเนื้อหากับผู้ใช้ และระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเองผ่านการ "แนะนำ" ต่อไปเป็นทอด ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันการพึ่งพิง SEO เพื่อให้เนื้อหาของตนถูกเสิร์ชเอ็นจิ้นค้นพบได้ง่ายแต่เพียงอย่างเดียวดูเหมือนจะไม่พอเสียแล้ว โดยเฉพาะในยามที่นับวันผู้บริโภคจะใช้เวลาต่อวันไปกับเครือข่ายสังคมมากขึ้น ฉะนั้น Frictionless Sharing จะเหมือนกับเป็นตัวช่วยให้ผู้ใช้ติดหนึบไปกับการเสพเนื้อหามากกว่าเดิม

 

 

Yahoo! News US อีกหนึ่งในสำนักข่าวที่ประสบความสำเร็จจาก Frictionless Sharing เพื่อเพิ่มยอดผู้เข้าชม

 

คุณค่าของการแบ่งปันที่ลดลง?

หนึ่งในข้อโต้แย้ง Frictionless Sharing ที่น่าสนใจคือ การเป็นสแปม ลองคิดดูง่ายๆ ครับว่า จริงอยู่ที่เราอาจสนใจว่าเพื่อนของเราชอบอ่านข่าวแนวไหน หรือชอบฟังเพลงแนวใด ซึ่งถ้าเรามีเพื่อนใน Facebook สักห้าหกคนก็คงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเรามีเพื่อนเยอะๆ แล้วล่ะก็ ลองนึกว่าภาพความโกลาหลในหน้า News Feed หรือ Ticker ของเราดูครับว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเพื่อนของเราหลายร้อยคนกำลังอ่านข่าวหรือฟังเพลงไปพร้อมกัน? เราจะยังคงความอยากรู้อยากเห็นว่าเพื่อนของเราแต่ละคนชอบเพลงแนวอะไรอยู่หรือไม่? นอกจากนั้น การแบ่งปันที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจอาจทำให้การแบ่งปันนั้น "ไร้ความหมาย" ไปเลยก็ได้ เพราะโดยธรรมชาติเรามักจะแบ่งปันเรื่องราวหรือคอนเทนต์ที่คิดว่าน่าสนใจหรืออาจเป็นประโยชน์กับคนรอบข้าง ตัวอย่างเช่น ผมอาจจะโพสต์แปะลิงก์ข่าวองค์การนาซ่าส่งจรวดไปลงดาวพุธลงบน Timeline ของน้องสาวเพราะรู้ว่าชื่นชอบด้านดาราศาสตร์ หรืออาจโพสต์แบนเนอร์โฆษณางานเลี้ยงรุ่นลองบน Timeline ของตัวเองเพื่อให้บรรดาเพื่อนเก่าได้เห็น แต่เมื่อใดที่การแบ่งปันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ "นอกเหนือการควบคุม" ก็อาจทำให้กลับกลายเป็นว่า นี่ไม่ใช่การแบ่งปันอีกต่อไปเพราะมองหาคุณค่าหรือเหตุผลของการกระทำไม่ได้ อีกทั้งยังไม่ถือว่าเป็นหลักการสื่อสารที่ดีเลย เพราะไม่ทราบว่าผู้รับสารเป็นใครกันแน่ และแท้จริงแล้วผู้ส่งสารต้องการให้สารสื่อถึงความหมายอะไร

นอกจาก Frictionless Sharing อาจทำให้เกิดปัญหาข้อมูลล้นเกิน (Information Overload) และการสแปมโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ใช้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการบริโภคคอนเท้นต์บน Facebook มากขึ้น เพราะเราไม่อาจเลือกสิ่งที่จะปรากฏออกมาให้เป็นไปตามที่ต้องการอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น นาย A อาจต้องการสร้าง Branding ให้กับตนเองว่าเป็นนักธุรกิจ สนใจด้านการเงินการลงทุน ก็เลยพยายามสร้างภาพลักษณ์ดังกล่าวขึ้นมาผ่านคอนเท้นต์ที่นำเสนอบน Timeline เพจที่กดชอบ หรือบล็อกที่เขียน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจชอบอ่านเรื่องย่อละครน้ำเน่าหรือข่าวอื้อฉาวของดารา นาย A ย่อมรู้ดีว่าทั้งสองอย่างคือ เหรียญสองด้านของตัวเอง แต่ไม่ว่าใครก็ย่อมต้องการนำเสนอแต่เฉพาะด้านดีของตนเท่านั้นไม่ใช่หรือ? อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าการ "ขาดตัวเลือก" ของการแบ่งปันคือ เราอาจเผลอนำเสนอสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราเองไปเลยก็ได้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อหน้าที่การงานหรือความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น เราอาจเผลอกดอ่านบทความในประเด็นล่อแหลมโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะคลิ้กเมาส์ไปโดน

แต่อย่างที่กล่าวไป Frictionless Sharing อาจมีประโยชน์ในแง่ที่ว่าอาจเพิ่มการมี "ปฏิสัมพันธ์" ระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเอง เพราะเมื่อใดที่เราเห็นว่าเพื่อนกำลังอ่านบทความแนวเดียวกับที่เราสนใจ เราก็อาจเริ่มประเด็นสนทนาเพื่อเพิ่มความคุ้นเคยได้โดยทันที นอกจากนั้น Frictionless Sharing ไม่ใช่เป็นความพยามครั้งแรกที่ Facebook ต้องการให้ผู้ใช้แบ่งปันเรื่องราวกันมากขึ้น เพราะเมื่อตอนที่ News Feed ถูกเปิดตัวใหม่ๆ ผู้บริโภคบางส่วนก็ไม่พอใจที่ระบบรายงานการระทำของเราให้เครือข่ายเพื่อนได้รับรู้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนกลับยอมรับมากขึ้น และประเด็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวก็ตกไป จนกระทั่งปัจจุบัน News Feed เป็นฟีเจอร์หนึ่งของ Facebook ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยรายงานเมื่อเร็วๆ นี้จาก ComScore ชี้ว่า Facebook คือเครือข่ายสังคมที่ผู้บริโภคใช้มากที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีคุณสมบัติการแบ่งปันหรือบอกต่อที่สะดวกเช่นนี้

 

รายงานจาก ComScore ชี้ให้เห็นว่าผู้คนใช้เวลาบน Facebook มากกว่าเครือข่ายสังคมอื่นรวมกัน

 

เช่นเดียวกับเหรียญ Frictionless Sharing ย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แน่นอนว่าต้องมีผู้ใช้งานบางส่วนไม่พอใจที่ระบบบังคับให้เกิดการแบ่งปันที่มากเกินพอดี ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการสแปม ข้อมูลล้นเกิน หรือการละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่ก็แน่นอนเช่นกันว่าตราบใดที่เครือข่ายสังคมนี้ยังมีผู้ใช้งานโตวันโตคืน แบรนด์ดังต่างให้ความสนใจ รวมทั้งมีเครื่องไม้เครื่องมือให้กับนักพัฒนาอย่างมากเหลือแล้ว การแบ่งปันอย่างรวดเร็วเช่นนี้ย่อมไม่หายไปไหน เพียงแค่อาจต้องการการปรับแต่งนิดหน่อยเท่านั้น

 

Profile นักเขียน
falcon_mach_v-สรนาถ รัตนโรจน์มงคล
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 ชื่นชอบและติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็กและบ้าคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่จำความได้ แต่เนื่องจากชอบอ่านข่าวและบทความตามเว็บไซต์มากกว่านั่งเขียนโปรแกรมจึงได้ตัดสินใจเรียนด้านนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพรับราชการ และเป็นนักเขียนบทความไอทีอิสระให้กับสื่อต่างๆ

 

 

 

ติดตามทุกความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจได้ที่ http://money.sanook.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook