Karl Von Bayern แห่งรัฐบาวาเรีย เจ้าชายนักธุรกิจ

Karl Von Bayern แห่งรัฐบาวาเรีย เจ้าชายนักธุรกิจ

Karl Von Bayern แห่งรัฐบาวาเรีย เจ้าชายนักธุรกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ถ้าไม่นับภาพเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในเมืองไทยที่เราคุ้นหูคุ้นตากันดี เวลาได้ยินคำว่า "เจ้าชาย" ภาพที่ลอยเข้ามาในหัวของคนส่วนใหญ่คงจะเป็นเจ้าชายรูปงาม ไปไหนมาไหนมีบริวารรายล้อมอย่างที่เคยเห็นในเทพนิยาย หรือการ์ตูนดิสนีย์ ซึ่งเป็นภาพเจ้าชายในยุคสมัยหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ถ้าถามว่า เจ้าชายในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างไร คงจะต่างกันไปตามแต่จินตนาการของแต่ละคน

"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสได้เจอเจ้าชายจากอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มากแห่งหนึ่งในยุโรป จึงไม่พลาดโอกาสดีๆ ที่จะสัมภาษณ์พูดคุยมาให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จัก และเห็นภาพอีกหนึ่งเจ้าชายในโลกความเป็นจริง

เจ้าชายคาร์ลแห่งรัฐบาวาเรีย (Karl Von Bayern) เจ้าชายวัยหนุ่มอายุ 28 พรรษา เป็นพระโอรสองค์เล็กสุดในจำนวนพระโอรส-พระธิดา 5 พระองค์ของเจ้าชายลูยท์โพลด์แห่งรัฐบาวาเรีย (Louitpold Von Bayern) กับเจ้าหญิงแคทริน เบียทริกซ์ ไวแกนด์ (Katrin Beatrix Wiegand) ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์วิตเติลบาค (Wittelsbach) เป็นราชวงศ์ผู้ครองรัฐบาวาเรีย (Bavaria) ซึ่งเป็นรัฐเก่าแก่และมีอาณาเขตใหญ่มากแห่งหนึ่งในยุโรป ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ และรวมเป็นรัฐหนึ่งในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในเวลาต่อมา

ปัจจุบันครอบครัวของเจ้าชายเป็นเจ้าของกิจการเครื่องพอร์ซเลนนิมเฟนบวร์ก (Nymphenburg) และการที่เจ้าชายคาร์ลมาเมืองไทยครั้งนี้ เป็นการเสด็จมาเพื่อเข้าร่วมงานบียอนด์ มาสเตอร์พีซ (Beyond Masterpieces) ที่จัดโดยกลุ่ม บริษัท บี.กริม ร่วมกับบริษัท มาสเตอร์กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ที่นำพอร์ซเลนนิมเฟนบวร์กมาจัดแสดงในบูทแสดงรถยนต์โรลส์-รอยซ์ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา และเปิดให้ผู้สนใจชิ้นงานเข้าร่วมประมูลและนำรายได้ถวายสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชีวิตของเจ้าชายในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจากเจ้าชายในเทพนิยายของซินเดอเรลล่ามากน้อยแค่ไหน?

เจ้าชายคาร์ลบอกว่า ปัจจุบันเจ้าชายและครอบครัวดูแลธุรกิจพอร์ซเลนนิมเฟนบวร์กในภาพรวม แต่ไม่ได้ทำงานบริหารเอง ชีวิตเจ้าชายเป็นชีวิตธรรมดา ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ออกไปไหนมาไหนตามปกติ คนในรัฐก็รู้กันว่าเป็นเจ้าชาย เป็นครอบครัวราชวงศ์ แต่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงพูดคุยได้ไม่มีพิธีรีตองแล้ว ชีวิตเชื้อพระวงศ์ในบาวาเรียค่อนข้างต่างจากที่เมืองไทย เพราะรูปแบบรัฐและเป็นการปกครองคนละแบบ ในเมืองไทยคนไทยยังเคารพยกย่องกษัตริย์และราชวงศ์อย่างสูงสุด

เจ้าชายในฐานะเจ้าของธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาระดับพรีเมี่ยมจากเยอรมันเล่าความเป็นมาของแบรนด์พอร์ซเลนนิมเฟนบวร์กว่า การผลิตพอร์ซเลนนิมเฟนบวร์กในราชวงศ์ถูกก่อตั้งในปี ค.ศ. 1747 โดย ดยุกอีเล็คเทอร์แม็กซ์ที่ 3 โยเซฟ (Duke Elector Max III Joseph) แห่งราชวงศ์วิตเติลบาค ด้วยความที่พระองค์ทรงอยากให้มีเครื่องเคลือบที่สวยงามใช้ในพระราชวัง จึงให้ตั้งโรงงานทำเครื่องพอร์ซเลนขึ้นในพระราชวังนิมเฟนบวร์ก และขยายสู่การรับผลิตให้กับเชื้อพระวงศ์ ต่อมาพระเจ้าลุดวิค ที่ 1 แม็กซ์ (Ludwig I Max) และพระเจ้าลุดวิค ที่ 2 (Ludwig II) ทำให้ชื่อเสียงของนิมเฟนบวร์กกระจายไปทั่วโลก

ในอดีตงานพอร์ซเลนถือเป็นของขวัญจากกษัตริย์สู่กษัตริย์ส่วนในปัจจุบันนิมเฟนบวร์กรับผลิตงานเพื่อใช้กับงานทางการในพระราชวังทั่วโลก และรับผลิตให้กับลูกค้าบุคคลสำคัญของโลก อาทิ นักการเมือง นักธุรกิจ และคนมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง และชิ้นงานส่วนใหญ่เป็นงานที่ลูกค้าสั่งทำ ไม่ใช่งานที่ผลิตออกมาในระดับแมส

ความพิเศษของพอร์ซเลนนิมเฟนบวร์ก คือ ทุกขั้นตอนผลิตด้วยมือทั้งหมด เทคนิคการผลิตงานได้รับการสืบทอดและรักษากันต่อมาจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่น ระเบียบวิธีและวัฒนธรรมประเพณีการผลิตดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งเดียวที่สามารถทำให้แน่ใจได้ว่าชื่อเสียงระดับนานาชาติของนิมเฟนบวร์กเกิดจากคุณภาพมีความประณีตละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน

"ปัจจุบันโรงงานผลิตพอร์ซเลนนิมเฟนบวร์กมีช่างฝีมือผลิตงานเพียง17 คนเท่านั้น แต่ทั้ง 17 คนนี้เรียกได้ว่าอยู่กับนิมเฟนบวร์กมาเกือบทั้งชีวิต เพราะในการผลิตพอร์ซเลนนิมเฟนบวร์ก มีเทคนิคที่ต้องเรียนรู้เยอะมาก ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นนิมเฟนบวร์กจึงมีการเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้าไปเรียนด้วย เพื่อที่วันหนึ่งถ้าคนรุ่นเก่าจากไป จะได้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานแทนได้ เป็นการถ่ายทอดทักษะเทคนิคของพอร์ซเลนนิมเฟนบวร์กให้คงอยู่ต่อไป

งานทุกชิ้นที่ลูกค้าสั่งทำจะถูกจดลิขสิทธิ์คุ้มครอง ไม่ผลิตซ้ำให้ใคร และทำประวัติชิ้นงานเก็บรักษาแบบไว้อย่างดี ถ้าของชำรุดหรือเสียหายเจ้าของสามารถสั่งผลิตใหม่จากประวัติที่ทำได้เลย" เจ้าชายเล่า

ถึงแม้จะมีการรับผลิตแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้กับลูกค้าระดับพรีเมี่ยมแบบที่ว่าสั่งอะไรก็ได้ แต่ข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของราชวงศ์วิตเติลบาคทุกชิ้นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ แม้ใครพบเห็นอยากจะครอบครองบ้าง ก็ไม่มีสิทธิ์ ทำได้แค่ชมเท่านั้น เพราะของเหล่านั้นสงวนไว้เฉพาะสมาชิกราชวงศ์เท่านั้น

นอกจากช่างฝีมือที่เป็นผู้ผลิตชิ้นงานแล้ว ยังมีศิลปินมือเอก สถาปนิก และดีไซเนอร์ เป็นกำลังสนับสนุนสำคัญในส่วนการออกแบบชิ้นงานใหม่ บุคลากรทุกส่วนช่วยกันรังสรรค์สร้างงานที่ล้ำยุคออกมาเสมอ นิมเฟนบวร์กผลิตเนื้อดินที่เป็นสูตรเก่าแก่เฉพาะของตัวเอง ประกอบด้วย feldspar, quartz และ kaolin เนื้อดินจะต้องมีอายุถึง 3 ปีก่อนจะสามารถนำมาผลิตต่อได้

สีทั้งหมดที่ใช้มาจากการพัฒนาเอง และลงสีด้วยมือทั้งหมด โดยใช้แปรงหัวเล็กที่สุดที่ใช้สำหรับการลงสีเครื่องเคลือบโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือผู้ลงสีจะต้องได้รับการฝึกอบรมและฝึกฝนฝีมือกว่า 10 ปี ก่อนจะกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงสี จึงจะสามารถเข้ามาทำชิ้นงานจริงได้

ทั้งหมดนี้คือคุณภาพมาตรฐานดั้งเดิมมาของนิมเฟนบวร์ก ที่สืบทอดมาเป็นระยะเวลากว่า 268 ปี และจะส่งต่อไปยังอนาคตจากช่างฝีมือรุ่นสู่รุ่น โดยการดูแลของเจ้าชาย เจ้าหญิง จากรุ่นสู่รุ่นเช่นกัน

นับเป็นธุรกิจระดับราชวงศ์ที่สร้างสรรค์ผลงานระดับพรีเมี่ยมออกมาให้คนทั่วไปได้เชยชมและครอบครองกันเพียงแค่มีสตางค์ก็เป็นเจ้าของได้แบบพระราชา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook