เช เกวารา นักปฏิวัติผู้ไม่มีวันตาย (และเขาไม่ได้อยู่แค่ท้ายรถสิบล้อ)
- 14 มิถุนายน ค.ศ.1928 เป็นวันเกิดของ เช เกวารา ผู้ร่วมคณะปฏิวัติกับฟิเดล คาสโตร ซึ่งสามารถปลดแอกประเทศคิวบาเป็นเอกราชได้จนทุกวันนี้
- แม้ เช เกวารา เป็นภาพจำที่เหนียวแน่นของนักปฏิวัติปลดแอก แต่ในปัจจุบันภาพของเขาก็มาอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปผ่านสินค้าต่างๆไม่ว่าจะเป็นลายเสื้อยืด เข็มกลัด หรือแม้กระทั่งบังโคลนรถบรรทุก ทำให้ใบหน้าของเขาเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตา
เช เกวารา (Che Guevara) เป็นภาพจำที่เหนียวแน่นของนักปฏิวัติปลดแอก ที่ในปัจจุบันภาพของเขามาอยู่ในวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ผ่านสินค้าต่างๆไม่ว่าจะเป็นลายเสื้อยืด เข็มกลัด หรือแม้กระทั่งบังโคลนรถบรรทุก รวมทั้งประโยคสุดคลาสสิกที่ถอดมาจากเพลงของวงคาราบาวที่ว่า
“เชยังไม่ตาย เขาอยู่หลังรถบรรทุก…”
แต่กว่าจะกลายเป็นภาพจำอย่างสากลนี้ได้ ชีวิตของเขาต้องผ่านอุดมการณ์การปลกแอดเพื่อประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศโลกที่สาม ซึ่งในเวลานั้นหลายประเทศถูกปกครองด้วยระบบศักดินา เผด็จการ และทุนนิยมที่กดขี่ประชาชนอย่างแสนสาหัส
เช เกวารา กับสตรีทอาร์ตที่พบเจอได้ในมุมต่างๆ ของคิวบาและอเมริกาใต้
เชเดินทางไปในพื้นที่อเมริกาใต้พร้อมคณะปฏิวัติของ ฟิเด คาสโตร (Fidel Castro) และสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่จากการร่วมปฏิวัติคิวบา กองปฏิวัติคอมมิวนิสต์สามารถปลดแอกประชาชนได้สำเร็จทำให้ชื่อเสียงของทั้ง ฟิเดล และ เช โด่งดังไปยังทั่วโลก สร้างอิทธิพลทางความคิดในการจะเปลี่ยนแปลง เป็นแรงบัลดาลใจสำหรับผู้ที่อยากเห็นโลกใบใหม่ที่เท่าเทียมเสมอภาค กำจัดเผด็จการที่กดขี่แรงงานประชาชน
ในประเทศไทยเองมีนักเขียนที่เขียนถึง เช เกวารา มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนเล่าถึง งานแปล งานเรียบเรียงที่แสดงถึงแนวคิดของเขา นักเขียนไทยที่เคยเขียนถึงเช อาทิ ศรีอุบล,อนุสรณ์ ทรัพย์มนู, สุทธิชัย หยุ่น, ทวี หมื่นนิกร, จิระนันท์ พิตรปรีชา และ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เชจึงมีอิทธิพลทางความคิดในแวดวงสร้างสรรค์ไม่ว่าจะบทเพลงหรืองานวรรณกรรมที่มักทำให้หวนย้อนถึงความฝันวันปฏิวัติการต่อสู้กับเหล่าจักรวรรดินิยมเพื่อสถาปนาประชาชนดังวรรคทองที่เขาเคยกล่าวไว้
“โลกสามารถเปลี่ยนคุณ และคุณก็สามารถเปลี่ยนโลก”
แสตมป์ของเชมีออกมามากมาย
นักเรียนแพทย์ผู้กล้าเดินออกไปผ่าตัดสังคม
ค่ำคืนวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1928 ในเมืองโรซาริโอ ประเทศอาร์เจนตินา ได้มีชีวิตทารกเชื้อสายไอริช-สเปนถือกำเนิดขึ้น ไม่นานหลังจากกำเนิด เช เกวารา ในวัย 2 ขวบ ก็พบปัญหาทางสุขภาพครั้งแรกนั่นคือ หืดหอบ อันแสดงอาการเป็นโรคประจำตัวของเขาทำให้ต้องย้ายไปอยู่ใน อัลตา กราเซีย (Alta Gracia) ถึง 4 ปี เพราะเขาไม่สามารถทนอยู่กับอากาศในตัวเมืองใหญ่ได้
เมื่อโตขึ้นพอเข้าโรงเรียนในวัยมัธยมเชก็พยายามออกกำลังกายฝึกร่างกายชนิดที่อาจเรียกได้ว่าโรคร้ายของเขามีอิทธิพลกับเชถึงขนาดที่เขาเลือกเรียนแพทย์ในระดับมหาวิทยาลัย และไม่ว่าจะด้วยเหตุบังเอิญ หรืออย่างไรแต่ในที่สุดโรคนี้กลับเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างเหตุให้เขาเป็นนักปฏิวัติ
ในปี ค.ศ.1947 เชในขณะเป็นนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส ได้ออกเดินทางไปศึกษาโรคหืดหอบนี้ตั้งแต่เขตเหนือจดใต้ของประเทศโดยมอเตอร์ไซค์ ทำให้เชได้เห็นความเป็นอยู่ของประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ และได้สัมผัสความลำบากของชนเผ่าพื้นเมือง
หลังการเดินทางสำรวจนี้ไม่นาน ในปี ค.ศ.1951 เช และ อัลเบร์โต กรานาโด (Alberto Granado) เพื่อนสนิทของเขาก็ชวนกันออกเดินทางไกลอีกครั้ง คราวนี้พวกเขาไปไกลกว่าในประเทศตัวเอง สองคนท่องทั่วอเมริกาใต้ ตั้งแต่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ชิลี เปรู โคลัมเบีย และเวเนซูเอลา ระหว่างทางก็หางานรับจ้างทั่วไปทำพอให้มีปัจจัยเลี้ยงปากท้อง
ตลอดเส้นทางเชไม่ได้เห็นแค่ชีวิตความลำบาก ความเหลื่อมล้ำ ที่ประชาชนอเมริกาใต้ต้องประสบ เขาทั้งสองยังได้แลกเปลี่ยนสนทนาถึงปัญหามากมายกับคนหลายกลุ่ม การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากเพราะทำให้เชเลือกเดินเบนเส้นทางที่ต่างจากเดิม จากนักศึกษาแพทย์ที่ควรจะเดินตรงไปเป็นแพทย์ก็หันเหความสนใจสู่ปัญหาสังคม เขาตั้งมั่นในการศึกษาปัญหานี้จนเป็นแรงขับครั้งใหญ่ให้เขาละทิ้งความเป็นแพทย์ทันทีหลังเรียนจบ
ค.ศ.1953 หลังได้รับใบรับรองการศึกษา เชตัดสินใจทิ้งความมั่นคงในชีวิตและขัดเจตนารมณ์ของพ่อตนเองที่อยากให้เขาทำงานเป็นแพทย์ในบัวโนสไอเรส ออกเดินทางต่อไปยังเปรู กัวเตมาลา และโบลิเวีย ซึ่งในเวลานั้นเหล่าประเทศอเมริกาใต้กำลังมีสถานการณ์ทางการเมือง การปฏิวัติที่ค่อนไปทางตึงเครียด นั่นทำให้แพทย์หนุ่มที่แทบไม่ได้มีความรู้ด้านทฤษฎีการเมืองมากนักได้บ่มเพาะความเข้าใจด้านสังคมและการเมืองจากการเดินทางไปเห็นการปฏิวัติในพื้นที่ต่างๆ
เช่นในกัวเตมาลาซึ่งเวลานั้นก็มีการปฏิวัติรัฐบาลโดยกลุ่มปัญญาชน ในการปฏิวัติกัวเตมาลานอกจากการเปลี่ยนอำนาจยังมีการจัดสรรทรัพยากรของรัฐใหม่ นโยบายสำคัญ คือ การทวงคืนที่ดินของบริษัททุนใหญ่ของมหาอำนาจอเมริกามาคืนให้กับชาวนาประชาชนที่เคยเสียเปรียบจากการถูกกดขี่โดยบริษัททุนมาก่อนหน้านี้
เหตุการณ์ปฏิวัติที่กัวเตมาลานับได้ว่าเป็นจุดแรกที่เชมีส่วนเกี่ยวข้องและได้เห็นถึงความเลวร้ายของจักรวรรดิทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออเมริกาตัดสินใจแทรกแซง ผ่านการปฏิบัติการของ CIA ทำให้รัฐบาลกัวเตมาลาในการบริหารของกลุ่มปฏิรูปที่ขัดต่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนอเมริกาต้องล้มลง อเมริกาและทุนนิยมกลายเป็นปรปักษ์ของประชาชนคนชั้นแรงงาน ชนวนไฟแห่งนักปฏิวัติจึงลุกโหมในตัวเชนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ร่วมรบเถิดสหาย
หนึ่งในเหตุสำคัญที่ทำให้เชยืนเด่นข้ามเวลาจนเป็นที่จดจำคือ การเข้าร่วมกับกลุ่มปฏิวัติของ ฟิเดล คาสโตร ที่ในขณะนั้นคาสโตรเพิ่งพ่ายแพ้ในการก่อการภารกิจปฏิวัติผู้นำเผด็จการ ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) ที่คิวบา เชเข้าร่วมกับฟิเดล คาสโต และพวกรวม 82 คนกลับไปปฏิวัติคิวบาอีกรอบ ผลคือบาติสตาสามารถชนะการปะทะ และทำให้กลุ่มปฏิวัติของคาสโตรเหลือกลับไปเพียง 12 คน
เชกับสหายอีก 4 ชีวิตหนีรอดด้วยความช่วยเหลือจากชาวบ้านและชาวนา ทำให้เชจึงคิดได้ว่าต้องสร้างรากฐานการปฏิวัติโดยการเผยแพร่อุดมการณ์ความเท่าเทียมและแนวคิดการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ปราศจากการถูกกดขี่ขูดรีดและมีกินมีใช้มีความสุขโดยไม่ผูกชีวิตไว้กับทุนนิยม
หลังการได้รับความร่วมมือของชาวบ้านเชและคาสโตรได้ใช้แผนการใหม่โดยมีชาวนาและประชาชนเข้าร่วมทั้งสงครามจิตวิทยาและการต่อสู้แบบกองโจร จนได้รับชัยชนะสามารถปฏิวัติบาติสตาสำเร็จในปี ค.ศ.1959 คาสโตรสามารถสถาปนาคิวบาใหม่ขึ้นภายใต้การดูแลของคณะปฏิวัติได้สำเร็จและเชได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติของคิวบาภายใต้รัฐบาลของคาสโตร
แต่อย่างไรเชไม่อาจอยู่เฉยได้ด้วยความเชื่อที่เขาคิดว่าตนเองไม่ใช่คนในชาติใดชาติหนึ่ง แต่เขาเป็นนักปฏิวัติ หลังจากนั้นเชก็ยังดำเนินการเดินทางไปร่วมกลุ่มปฏิวัติในอเมริกาใต้เพื่อสนับสนุนการปลดแอกประชาชนจนภารกิจสุดท้ายของเขาคือ โบลิเวีย ครั้งนั้นเชปฏิบัติการไม่สำเร็จทำให้เขาถูกสังหารอย่างปริศนาโดยรัฐบาลโบลิเวียร่วมกับ CIA มีการเอาศพของเชมาให้สาธารณชนได้เห็นในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1967 หลังจากนั้นศพของเขาก็อันตรธานไปไร้ร่องรอย กว่าจะพบว่าฝังอยู่ไหนก็ปาเข้าไปอีก 30 ปีให้หลัง
ฝ่ายคาสโตรที่บริหารคิวบาอย่างยาวนานได้พยายามเจรจาขอกระดูกของเชจากรัฐบาลโบลิเวียมาตลอด จนท้ายที่สุดได้รับกระดูกเชในปี ค.ศ.1997 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 30 ปี เช เกวารา กระดูกของเชที่ได้รับคืนจึงยืนยันถึงอดีตลมหายใจการปฏิวัติการไม่หยุดความสำเร็จในประเทศใดประเทศหนึ่งหากแต่ความเท่าเทียมควรเกิดขึ้นทุกที่ในโลก
โดยบทเรียนใหญ่ของการปฏิวัติคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ชาวนา แรงงาน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำสู่ชัยชนะในคิวบา บทเรียนประชาชนนี้ยังคงอยู่แม้ร่างของเขาอาจสลายไปตลอดกาลแต่อุดมการณ์ของเชยังคงอยู่ตลอดไป
ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาอัตถิภาวนิยมชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงชายชื่อ เช เกวารา ไว้ว่า
“การมีอยู่ของมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งยุค”
Fact File
-หากสนใจติดตามเรื่องราวของการปฏิวัติในคิวบา สามารถติดตามได้เพิ่มเติมจากสารคดี The Cuba Libre Story ซีรีส์กึ่งสารคดีทางช่อง Netflix
อ้างอิง
-เช ยังไม่ตาย เขียนโดย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์.สำนักพิมพ์นาคร.2557
-CHE GUEVARA เช เกวาราเขียนโดย วัฒน์ระวี.สำนักพิมพ์แสงดาว.2559
-https://www.britannica.com/biography/Che-Guevara
-ภาพยนตร์สารคดี El che(2017 )โดย Matías Gueilburt