ลาป่วยแบบจริงใจ ก้าวไกลกว่า

ลาป่วยแบบจริงใจ ก้าวไกลกว่า

ลาป่วยแบบจริงใจ ก้าวไกลกว่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่มีใครชอบถูกหลอก ไม่มีใครชอบคนที่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่จริงใจ และเมื่อใดก็ตามที่ “จับโกหก” ได้...แน่นอนว่าจะต้องถูกจัดการ!!

บทสรุปข้างต้นนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เป็นจริง เพราะถ้ามีใครมาทำกับเราเช่นนี้ เราย่อมไม่พอใจอย่างแน่นอน....แต่หากลองคิดมุมตรงข้าม ในการทำงาน เรา “ซื่อสัตย์” เพียงพอหรือยัง???

คนทำงานจำนวนไม่น้อย ยืนยันว่าตนรับผิดชอบในหน้าที่เป็นอย่างดี ยินดีทำงานหนัก ทำล่วงเวลา ไม่ได้เอาเปรียบองค์กร เรียกว่า ทำงานคุ้มค่ากับค่าตอบแทนอย่างแน่นอน ทว่า...เรื่องหนึ่งที่อาจจะไม่ได้ตระหนักมากนัก นั่นคือ การใช้ “สิทธิ์” ลาป่วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วยจริง โดยอาจคิดไม่ถึงว่า เมื่อผู้บริหารหรือองค์กรรู้ว่าเราไม่ได้ป่วยจริง...ย่อมรู้สึกว่าถูกหลอก ไม่พอใจ และต้องจัดการบางอย่างแน่นอน!!

เมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา เว็บไซต์แคเรียร์บิลเดอร์ ได้นำเสนอผลการสำรวจของบริษัท แฮร์ริส อินเตอร์แอ็คทีฟ ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นลูกจ้างในสหรัฐจำนวน 3,484 คน พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง หรือร้อยละ 32 ยอมรับว่า พวกเขามักขอลาป่วยทั้งที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยจริง ๆ

เหตุผลยอดนิยมมากที่สุดในการแกล้งป่วยและขอลางานคือ รู้สึกเกียจคร้านในการทำงาน เหตุผลรอง ๆ ลงมาได้แก่ รู้สึกเหนื่อยล้า ต้องการการพักผ่อน อยากนอน และบางรายยอมรับว่ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะขอลาป่วยในวันที่ต้องการเพื่อไปทำกิจธุระอื่น ๆ ขณะเดียวกัน พบว่าร้อยละ 30 ของลูกจ้างกลุ่มตัวอย่าง ยอมรับว่าแม้ป่วยจริง ๆ ก็จะยอมไปทำงาน เพื่อเก็บวันลาป่วยไว้ใช้ในโอกาสต่อไป

จากผลสำรวจนี้ มองย้อนกลับมาดูคนทำงานในบ้านเรา หากสำรวจจริง ๆ คงไม่แตกต่างกัน จำนวนไม่น้อยลาป่วยแต่ไม่ได้ป่วย เพราะดูเรื่อง “สิทธิ์ในการลาป่วย” มากกว่ามองว่าป่วยจริงหรือไม่ และมักไม่คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นความผิดร้ายแรง แต่เป็นการบริหารวันหยุดของตนเอง

ลองมาดูในทางกลับกัน เมื่อสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนายจ้าง พบว่าประมาณร้อยละ 19 ยอมรับว่า พวกเขาจะแอบเข้าไปเช็กความเคลื่อนไหวในเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ของลูกน้องในวันที่มีการลาป่วย เพื่อตรวจสอบดูว่าลูกน้องของตนเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ขณะที่นายจ้างอีกร้อยละ 64 ต้องการใบรับรองแพทย์มายืนยันในการลาป่วยแต่ละครั้ง

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านข่าวต่างประเทศข่าวหนึ่ง ซึ่งยืนยันถึง “ความไม่พอใจ” ของนายจ้างได้เป็นอย่างดี เพราะถึงขนาด “ไล่ออก” โทษฐาน “ไม่ซื่อสัตย์” เมื่อเห็นภาพลูกจ้างที่กำลังลาป่วยโพสต์ท่าทางที่มีความสุขขณะอยู่ที่ชายหาดในเฟสบุ๊คของตนเอง แม้ลูกจ้างจะมองว่านายจ้างทำเกินกว่าเหตุ และไม่เห็นแก่ความจงรักภักดีที่ทำงานให้แก่องค์กรมากกว่า 10 ปี แต่นายจ้างกลับตอบโต้ว่า ตนถูกทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเชื่อมั่นที่เคยมีได้สูญสิ้นไป...

คำถามคือ ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเรา เราจะรู้สึกอย่างไร?

ถ้าเราอยู่ในฐานะลูกจ้าง...เราควรหาวิธีใช้ “สิทธิ์ลาป่วย” นั้นให้คุ้มค่า โดยไม่คำนึงว่าเราป่วยจริงหรือไม่ และนายจ้างควรยอมรับสิทธิ์นี้ได้เช่นเดียวกัน?

ถ้าเราอยู่ในฐานะนายจ้าง...เราพึงพอใจที่ลูกจ้างโทร.มาขอลาป่วย แต่ความจริงแล้วไม่ได้ป่วย แม้เป็นสิทธิ์ลาป่วยตามกฎหมายก็ตาม?

จำไว้ว่า ลูกจ้างและนายจ้างมักมองต่างมุมเสมอ โดยมองจากมุมที่ตนจะได้ประโยชน์สูงสุด มากกว่าที่จะมองแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างกันโดยง่าย

ดังนั้น ทางออกในการใช้สิทธิ์ลาป่วย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่ออก หากถูกจับได้ว่าไม่ป่วยจริง นั่นคือ การแสดงความจริงใจต่อกัน

กล้าขออนุญาตใช้สิทธิ์ลาป่วย แม้ไม่ป่วย คนจำนวนไม่น้อยกล้าที่จะพูดโกหก มากกว่ากล้าที่จะพูดความจริง เพราะมองว่า การโกหกเพื่อให้ตัวเอง “ดูดี” มีค่ามากกว่าการพูดความจริง แต่อาจทำให้ตัวเอง “ดูไม่ดี” โดยไม่ได้ตระหนักในทางกลับกันว่า คนส่วนใหญ่ชอบคนพูดจริง มากกว่าคนพูดโกหก โดยไม่ขึ้นกับว่าเนื้อหาที่พูดนั้นดีหรือไม่ เพราะการพูดความจริงนั้น สะท้อนความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ แต่การพูดโกหกนั้น สะท้อนความหลอกลวง ไม่ซื่อสัตย์ และไว้ใจไม่ได้

ดังนั้น หากเราสามารถประเมินคุณค่าเช่นนี้ได้ ถ้าเราต้องการใช้สิทธิ์ลาป่วย เนื่องจากเราใช้สิทธิ์อื่น ๆ หมดแล้ว และต้องไปทำกิจธุระบางอย่าง ให้เรา “กล้า” ที่จะขออนุญาตหัวหน้าอย่างตรงไปตรงมา บอกความต้องการและความจำเป็นด้วยความจริงใจ ซึ่งหากหัวหน้าไม่ใจร้ายเกินไป กฎต่าง ๆ ย่อมยืดหยุ่นตามเหตุผลที่เหมาะสมได้

สร้างความเชื่อมั่นว่า แม้ลาป่วยแต่ไม่ได้เอาเปรียบ เพียงเรามีเหตุผลที่จริง เหตุผลที่เหมาะสมในการลาป่วย แต่การลาป่วยของเรานั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่งานที่รับผิดชอบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น หากเราลาป่วยเพราะเกียจคร้าน เบื่อ เครียด หรืออยากนอนอยู่บ้าน โดยไม่คำนึงว่างานที่เรารับผิดชอบจะเสียหายหรือไม่ จะกินแรงเพื่อนร่วมงานหรือไม่ นั่นแสดงว่าเราเป็นคนที่ “เห็นแก่ตัว” และคนแบบนี้...ย่อมไม่เป็นที่ต้องการขององค์กรอย่างแน่นอน!!

 

ผู้เขียน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโสมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,
http:// www.kriengsak.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook