สมชัย กวางทองพานิชย์ จากพ่อค้าขายเชือกสู่การเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชน

สมชัย กวางทองพานิชย์ จากพ่อค้าขายเชือกสู่การเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชน

สมชัย กวางทองพานิชย์ จากพ่อค้าขายเชือกสู่การเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง : ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ

ภาพ: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

ไม่ใช่คนมีชื่อเสียง

ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี

และไม่ได้มีอาชีพลงพื้นที่เพื่อศึกษาชุนชน

แต่ สมชัย กวางทองพานิชย์ เป็นที่รู้จักพอสมควรในแวดวงคนสนใจอดีต เขาเชี่ยวชาญเรื่องราวความเป็นจีน และความเป็นมาของพื้นที่ย่านสำเพ็ง จนได้รับการขนานนามว่า “นักประวัติศาสตร์” ทั้งที่เขาเองทำมาหากินเป็นพ่อค้าขายเชือก

ย้อนเวลากลับไป เมื่อเรียนจบจากวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ เขากลับมาช่วยกิจการที่บ้านตามประสาลูกหลานคนจีน เมื่อถึงช่วงเทศกาล เขาเป็นลูกมือช่วยเตรียมข้าวของสำหรับไหว้ในพิธีกรรมต่างๆ รายละเอียดยุบยับเป็นความวุ่นวายในสายตาคนหนุ่ม แต่เขาก็ต้องทำไปตามหน้าที่ ทั้งในฐานะคนจีน และลูกของแม่ที่เคร่งครัดตามประเพณี

“ทำไมวุ่นวายแบบนี้” เขาบ่นขึ้นในวันหนึ่ง

"บ่นแบบนี้ ถ้ากูตายเมื่อไร มึงเลิกไปเลย” แม่ตอบกลับมา

สิบปีต่อมา แม่เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน เขายังตั้งใจจะเลิกพิธีกรรมต่างๆ เช่นเดิม แต่ขอใช้เวลา 3 ปีในการทำซ้ำเช่นที่เคยทำอีกครั้ง-เสมือนระลึกถึงแม่ผู้เป็นที่รัก แต่ยังไม่ทันครบตามกำหนด เขากลับค้นพบคุณค่าที่ซ่อนตัวอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของพิธีกรรม ยิ่งรู้ยิ่งสืบค้นต่อ จนเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องเหล่านั้น เวลาต่อมา จังหวะชีวิตพาเขาไปศึกษาอดีตของย่านสำเพ็ง และค่อยๆ ค้นพบโลกอีกใบ (ในชีวิตแบบเดิม) ที่น่าค้นหาเป็นอย่างยิ่ง

บนเวที TEDxBangkok 2016 เขาขึ้นไปพูดในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ละแวกบ้าน” เป็นเวลาสั้นๆ ที่เรียกเสียงปรบมือได้กึกก้อง และเมื่อถ้อยคำนั้นถูกส่งต่อในโลกออนไลน์ เขากลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่คนชื่อ สมชัย กวางทองพานิชย์ เท่านั้น แต่รวมถึงคุณค่าของแนวคิดในการสืบค้นอดีตละแวกบ้าน -- ที่ทุกคนสามารถทำได้

“ไม่ต้องเป็นนักวิชาการ คุณก็ทำเรื่องเหล่านี้ได้”

พ่อค้าขายเชือก นักประวัติศาสตร์ และอาจารย์พิเศษที่ได้รับเชิญไปสอนวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาตั้งแต่ปี 2556 ยืนยันเช่นนั้น

คุณมาเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์รอบๆ บ้านได้ยังไง

ผมเคยสงสัยตั้งแต่เด็กๆ แล้ว วัดเกาะเป็นเกาะจริงหรือเปล่า นึกภาพว่าเป็นชายหาด มีต้นไม้ เป็นเกาะแบบทะเล ถามแม่ เขาก็บอกว่าเป็นมั้ง พอโตขึ้นคำถามแบบนั้นก็เวียนมาใหม่ ที่มากระตุ้นจริงจังๆ คือประมาณปี 2547 มีโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมาทำงานในพื้นที่ นักวิจัยหาสถานที่แถวนี้ไม่เจอ ผมเลยพาไปตามที่ต่างๆ ระหว่างพาสำรวจศาลเจ้า ผมก็สังเกตไปด้วย วันหนึ่งพบว่าสิ่งที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ กับสิ่งที่บันทึกไว้ในหนังสือ บางจุดไม่ตรงกัน เลยเริ่มเกิดความสงสัย พอเสร็จงาน ผมขอข้อมูลดิบไว้ สมัยนั้นใส่แผ่นดิสเก็ต หนึ่งแผ่นจบเรื่อง เราเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล

ตอนนั้นได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่นมีซอยชื่อ ‘ป่าช้าหมาเน่า’ ผมเริ่มไปค้น เลยได้รู้ว่าวัดเกาะเคยเป็นเกาะจริงๆ สำเพ็งล่ะมาจากไหน ไปเจองานของ ส.พลายน้อย บอกว่าเกิดจากแผ่นดินสามแผ่น เราก็ไปค้นต่อ เป็นไปไม่ได้นะ เพราะมันมาจากวัดสำเพ็ง ถ้าแผ่นดินมีสามแผ่น ก็เฉพาะวัดสำเพ็งสิ เราก็ลงพื้นที่หาคำตอบ

เป็นคนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์อยู่แล้วหรือเปล่า

ก่อนหน้านั้น ผมศึกษาเรื่องวิถีชีวิตจีนมาก่อน แต่ก่อนผมก็เหมือนคนทั่วไป จบมาก็ทำงานที่บ้าน งานหน้าร้านก็วุ่นวายมาก ช่วงที่แม่มีชีวิตอยู่ ทุกๆ เทศกาล ผมมีหน้าที่ช่วยเตรียมหมู เห็ด เป็ด ไก่ ไข่ ฯลฯ เพื่อมาไหว้ เบื่อมาก ทำไปบ่นไป “ทำไมวุ่นวายแบบนี้” แม่ได้ยินเข้า เลยพูดกลับว่า "บ่นแบบนี้ ถ้ากูตายเมื่อไร เลิกไปเลย” ผมก็ตอบว่า “โอเค ตายเมื่อไรจะเลิกเลย” สิบปีให้หลังแม่เสีย ในใจก็คิดว่าจะเลิก แต่ก่อนจะเลิกขอเวลา 3 ปี จะถอดงานแม่ให้หมด ทำให้เหมือนแกทุกอย่างเลย

พอต้องมาทำเอง เจออะไรบ้าง

เนื่องจากแม่เสียกะทันหันตอนปี 2536 ผมเลยพยายามทำให้เต็มที่ ญาติพี่น้องก็บอกว่า อันนี้ได้-ไม่ได้ อันนั้นถูก-ผิด พอถามว่า แล้วถูกเป็นยังไง ก็ไม่มีใครรู้ ไปถามร้านโลงศพ เขาก็ไม่แน่ใจ มันเป็นงานออร์กาไนซ์แล้ว โดยตัดทุกอย่างให้ง่าย พอผ่านงานศพ ผมก็ไปศึกษาเรื่องต่างๆ เริ่มเข้าใจวิธีคิดแบบจีนมากขึ้น สืบค้นพิธีกรรม พบว่ามันมีวิธีคิด แต่หลายคนทำตามๆ กันโดยไม่ได้เข้าใจ

พอทำครบ 3 ปี สุดท้ายเลิกไหม

ทำไปสัก 2 ปี ก็เลยจุดที่คิดจะเลิกแล้ว แรกสุดผมตั้งใจเลิกไหว้พระจันทร์ พอไปศึกษา เทศกาลจีนสัมพันธ์กับการเกษตร ไหว้พระจันทร์เป็นเทศกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิต บูชาดวงจันทร์มีมาแต่โบราณ พอเห็นที่มาก็เห็นคุณค่า มีมุมมองในการถอด มันมาจากไหน มาเพราะอะไร เราไม่มองว่างมงายแล้ว

หลังจากศึกษาเรื่องจีน พอมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเข้ามา ถึงได้เริ่มต้นศึกษาเรื่องของสำเพ็ง ?

จริงๆ ก่อนหน้านั้น มีนิตยสาร National Geographic มาสัมภาษณ์ผมเป็นคอลัมน์เล็กๆ เขาจะทำเรื่องว่าแต่ละเขตมีอะไรน่าสนใจ ผมรู้จักกับคนที่นั่น เขาเลยให้แนะนำพื้นที่ ตอนนั้นผมเบื่อกับ 3 คำถาม คือ เวลาเพื่อนโทรมาจะถามว่า ก๋วยเตี๋ยวเจ้าไหนอร่อย / ทองราคาเท่าไร / จอดรถที่บ้านมึงได้ไหม ปรากฏว่าคำถามเหล่านี้ นิตยสารก็จะถาม ผมเลยบอกเขาไปว่า “พวกคุณไม่เคยถามชีวิตพวกผมเลย เคยรู้ไหมว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่เป็นยังไง พวกเราทำงาน 24 ชั่วโมง” นิตยสารเลยเปลี่ยนประเด็น ‘ไชน่าทาวน์ทำเลทองไม่เคยหลับ’ คนเขียนก็มาดูว่าคนที่นี่ทำงานอะไรกันบ้าง นิตยสารตีพิมพ์ปี 2547 ทีมทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้อ่าน ก็เลยมาหาเรา ซึ่งนั่นคือจุดตัดในความสนใจเรื่องพื้นที่เลย

ช่วงที่ผมศึกษา มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทำเรื่องสำเพ็ง ออกมาเป็นหนังสือ ข้อมูลกล่าวถึงคลอง แล้วมันผิด พอแย้งไป เขาถามหาหลักฐาน เราเริ่มหาแผนที่เพื่อไปยืนยัน ถ้าหนังสืออย่างเดียวเราสู้นักวิชาการไม่ได้ แต่แผนที่ไม่มีใครสู้คนท้องถิ่นได้ เราดูออกว่าจุดไหนคืออะไร ตอนนั้นผมแก้ทั้งเล่มเลย เขาตอบมาว่า “คุณเอาเล่มนี้ไว้ให้เรา แล้วเอาเล่มใหม่ไป” ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องคุยต่อ คุณไม่ถามสักคำเลยว่าที่ผมแก้ใช้หลักฐานอะไร การทำงานผิดไม่ใช่เรื่องผิดนะ แต่เวลาจะแก้ ต้องถามว่าหลักฐานมาจากไหน นี่คือเหตุผลที่ผมใช้คำว่า ‘ไม่ต้องเป็นนักวิชาการ คุณก็ทำเรื่องเหล่านี้ได้’

ศึกษาจากที่ไหนบ้าง

ผมถามจากคนแก่ หนังสือ เอกสารต่างๆ ภาพเก่า และแผนที่

ตอนนั้นความท้าทายคืออะไร

การถอดรหัส (ตอบทันที) ผมเริ่มจากงานที่ถอดรหัสความเป็นจีนมาก่อน เป็นแพสชั่นของเรา ผมเคยคุยกับลิงค์ (จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา) เขาเริ่มทำบริษัท EXZY เพราะชอบภาพยนตร์เรื่อง Iron man และ Minority report ผมมานึกว่าตัวเองชอบเรื่องอะไร ผมชอบ Indiana Jones และ The Da Vinci Code เราชอบถอดรหัส มีแผนที่ สำรวจเมือง มีอะไรต่างๆ ซ่อนอยู่

เหนือสิ่งอื่นใด ผมทำโดยมีความสนุกเป็นพื้นฐาน มีความสุขกับการเดินในเมืองแล้วเห็นภาพเป็นเลเยอร์ เราก๊อปความทรงจำมาจากภาพเก่า มโนของเราเอง มันคู่ขนานกับทุกๆ ทางที่เดินไป เห็นความเป็นมา เห็นการเติบโต มันน่าหลงใหลนะ ทำไปเรื่อยๆ พอวันหนึ่งถอดรหัสได้เพิ่ม คุณจะปิติ 'สุดยอดเลย เจอแล้ว' ผมพูดบนเวที TEDxBangkok ว่าแค่คุณคิดว่าอะไรมาจากไหน มันก็ถูกต้องแล้ว นี่คือคีย์เวิร์ดเลยนะ มันจะพาคุณออกไปเรื่อยๆ ผมเองเริ่มจากคำถามง่ายๆ ว่า สำเพ็งมาจากไหน

คุณเองยังต้องค้าขาย แบ่งเวลายังไง

อย่าไปคิดว่าทำอะไรใหญ่โต แค่กำหนดพื้นที่เล็กๆ เช่น ซอยบ้าน เราเดินผ่านทุกวัน ผมไปพูด TEDxBangkok คือการย่องานทีทำทั้งหมดให้อยู่ใน 15 นาที ผมนึกถึงความง่ายและความสนุกในวันแรกๆ ที่ทำ สิ่งที่ทำไม่ใช่ภาระ ผมซื้อกล้องดิจิตอลเมื่อปี 2547 ราคาหมื่นกว่าบาท ล้านกว่าพิกเซล ก็ถ่ายแล้วเก็บไปเรื่อยๆ

มีเพื่อนทำด้วยกันบ้างไหม

ไม่มีหรอก ห้าปีแรกเหมือนคนบ้า คนใกล้ตัวก็ตลกกัน แต่เมียชอบนะ เพราะเราไม่ไปไหน (หัวเราะ) สำรวจอะไรก็ไม่รู้ เมื่อก่อนผมตกปลา ยิงปืน กิจกรรมเต็มไปหมด แต่ทำไปไม่นานก็เลิก ลูกน้องเก่าๆ เลยมองว่า ครั้งนี้เฮียบ้าได้นาน ผมตั้งหัวข้อว่าจะเก็บเรื่องอะไร แล้วเดินที่เดิมๆ เช่น ดูตึกเก่า ตึกไหนเก่าบ้าง เดินจนมองแค่หางตาก็รู้ว่าตึกไหนเก่า ดูจากขนาดกำแพง โครงสร้างแบบนี้ ระดับตึกไม่สูงมาก พื้นต่ำกว่าธรรมดาเล็กน้อย กำแพงหนาเกินฟุต ส่วนมากเป็นตึกเก่า ถ้าตึกใหม่จะใช้เสาเป็นตัวรับน้ำหนัก พอเกินพื้นที่ละแวกบ้านก็ไม่ทำแล้ว (หัวเราะ) งานเลยง่ายไง เวลามีทริปช่วยบรรยาย พอต้องข้ามคลองไปเขตบางรัก ผมจะขอตัวกลับทุกครั้ง บางคนบอกผมใจแคบ ก็ยอมรับ (ยิ้ม)

เวลาพูดว่าไม่ทำ คือไม่ได้ศึกษาเลย ?

จริงๆ พื้นที่รอบข้างทำหมดแหละ แต่เราทำเหมือนล่อ เวลาคุณบอกว่าทำแล้ว คนจะหนี ช่วงหลังๆ คนมองว่าผมดังแล้ว “โอเค เฮียทำแล้ว” ไม่มีใครกล้ามาจับ

พอตีกรอบพื้นที่ละแวกบ้าน ตั้งแต่ปี 2547 ตอนนี้ศึกษาครบหรือยัง

ไม่ครบหรอก มันมีงานอิมแพค กับงานคอมแพร์ พอทำเรื่องเดิม ผ่านมาหลายปีแล้วมันเปลี่ยน ต้องทำการเปรียบเทียบ พอเปรียบเทียบแล้วก็อาจเกิดผลกระทบ เช่น พอเราทำคลอง เยาวราชมีกี่คลอง คลองสามปลื้ม คลองสัมเพ็ง คลองศาลเจ้าใหม่ คลองเยาวพาณิชย์ อะไรอยู่ตรงกลาง มันเป็นเมืองๆ หนึ่ง ทำไมตลาดเก่าอยู่ตรงนี้ มันเป็นป้อมที่มีคูเมืองข้างละสองคู แล้วมันมีอะไรข้างใน พอค้นไป มันไม่ใช่เรื่องคลองอย่างเดียว มันมีคลองแล้วต้องมีเนิน เราจะค้นพบว่า อะไรเป็นหัวใจของความเป็นเยาวราช คือถนนเส้นไหน ทุกอย่างเริ่มต้นจากเมนๆ นี้ มาจากริมถนน ริมแม่น้ำ เข้าไปสู่ศาลเจ้า สู่ตลาด สู่ความต่อเนื่องของเมือง มันอ่านเมืองจากถนนเส้นนี้ได้ 

เวลาพูดถึง ‘สำเพ็ง’ ทุกวันนี้คือย่านขายของราคาถูก ในฐานะคนศึกษาอดีต สำเพ็งคืออะไร

สำเพ็งคือกำเนิดรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่พื้นที่อย่างเดียว แต่คือความเป็นรูปร่าง ความเป็นเมืองไทยในปัจจุบัน กำเนิดจากจุดๆ นี้ กลุ่มคนที่เข้ามามีความชำนาญด้านการเกษตร ชำนาญด้านการค้าขาย มีเครือข่ายตัวเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ความสามารถนำเสนอสิ่งนี้ จนกลายเป็นโครงสร้างหลักในการพัฒนาประเทศ

โครงสร้างแรกมาจากการค้าข้าว เป็นตระกูลค้าข้าวที่มาทำธุรกิจในเมืองไทย ไม่ได้มาอย่างเสื่อผืนหมอนใบ ตระกูลหวั่งหลีมาอย่างมีฐานะ สร้างเครือข่ายระหว่างซัวเถา ฮ่องกง อะไรพวกนี้ มาถึงก็ซื้อข้าวส่งออกกลับไป มีตลาดรองรับ พอข้าวส่งออกได้ คนจีนก็ไปสร้างเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ

พ่อผมอยู่อยุธยา ปู่ผมพายเรือขายของชำ พ่อมาเป็นลูกจ้าง ซื้อของจากกรุงเทพฯ ไปขายที่ต่างจังหวัด ปู่ผมล่องเรือขายของชำ ก็พัฒนามาเป็นร้านขายของ พ่อก็ทำแบบเดียวกัน ต่อมาก็ขายเชือก ทำไมอยุธยาถึงขายเชือกได้ เพราะคนที่กรุงเทพฯ ไปตั้งหลักที่นู่น สอนชาวบ้านทำเชือก ก็เอาเชือกมาขายกรุงเทพฯ ที่คนจีนมีฐานะได้ ไม่ใช่เพราะความขยันอย่างเดียว คนจีนมีเครือข่าย เครือข่ายครอบครัว โยงใยทั้งระบบ

ขณะที่สืบค้นของเก่า โลกมีของใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา คุณเลือกเก็บเลือกเปิดยังไง

ยกตัวอย่างขนมถ้วยฟูที่กระดาษสีชมพู ฝืดคอ ไข่ๆ คาวๆ ทั้งที่เนื้อคล้ายกัน วิธีทำคล้ายกัน แต่ผมว่าขนมเค้กอร่อยกว่าอีก ถ้าคุณไปกินเค้กร้านไหนแล้วอร่อย ซื้อไปไหว้อาม่าคุณก็ได้ แบบนี้ผมชื่นชมเลยนะ อย่างแรกคุณได้กินเอง (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยคุณนึกถึงอาม่า การเอาของที่อร่อยไปให้ รากของความเป็นคนจีนคือความกตัญญู เขาตายแล้วเหมือนไม่ตาย หลักการเดียวกัน แม่ผมตายไปแล้ว แกงหมูเทโพคือสิ่งที่แม่ชอบ แต่บางครั้งเราไปเจอสิ่งที่ผมชอบ และแม่เองน่าจะชอบ ผมก็เอาไปไหว้แม่ได้เหมือนกัน

เป็นการเลือกที่ฟังก์ชั่นมาก

ใช่ ไม่ใช่ว่าเลือกขนมถ้วยฟู เพราะชื่อมันฟู ถ้าคุณกินขนมไหนอร่อย ก็เก็บไว้ คุณเลือกได้หมด

เราควรรู้เรื่องพวกนี้เพราะอะไร

มีคนถามผมว่าทำไปเพื่ออะไร สำหรับผมมันคือจิ๊กซอว์ ปู่ย่าตายายเป็นใคร พ่อแม่เป็นใคร เมืองของเรา ทำไมเราพูดจีนได้ เพราะเมืองๆ นี้มันบังคับให้พูดตั้งแต่เด็ก มันจะค่อยๆ ประกอบ วันหนึ่งคุณจะเห็นโครงร่างคร่าวๆ ของตัวเอง ทำไมเราเป็นคนแบบนี้ มันมีที่มานะ สำเพ็งเป็นส่วนหนึ่งของผม พ่อแม่เป็นใครมาจากไหนก็อีกส่วน รวมไปถึงความคิดต่างๆ มันทำให้คุณสงบนะ เห็นทิศทางของชีวิต เห็นความเป็นตัวตน

มีวันที่ต่อจบไหม

ไม่จบหรอก เล่นได้จนตาย

จะตายตาหลับไหม ถ้าต่อไม่เสร็จ

มันสำเร็จทุกเป้าหมายไง เป็นเป้าเล็กเป้าน้อย ทุกวันนี้ก็เอาสิ่งที่ค้นแล้วมาทำใหม่ เปลี่ยนวิธีการเล่า ตอนนี้ผมอยากส่งต่อ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนเรา เป็นการส่งต่อวิธีคิด ซึ่งไม่ค่อยมีใครเอาด้วย แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก ผู้ใหญ่จะบอกว่า เด็กต้องเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม แล้วคุณเคยถามว่าเขาอยากรู้ไหม ฝากให้เด็กดูแล คุณจำได้ไหม ตอนเป็นเด็กเราเคยโดนพูดแบบนั้น แล้ววันนี้ก็มาฝังใส่เด็ก ไม่ต้องรอใคร อย่าคิดว่าเราแก่แล้ว ลงมือทำเลย ไม่ต้องรอเด็ก อยากรำไทยก็ไปหัด อยากทำอะไรก็ทำเลย ทำให้เด็กดูว่ามันดี ถ้าเห็นด้วย เขาจะมาทำเอง

ณ วันนี้ เป้าหมายของการทำงานสืบค้นประวัติศาสตร์คืออะไร

สนุก (ตอบทันที) ถ้าวันนี้ไม่มีคนเชิญไปบรรยาย จะเสียใจไหม ไม่ ถ้ามีคนได้รับ เราก็ดีใจ แต่เราไม่ได้คาดหวัง เราสนุก ได้ถอดรหัส การคุยกับผู้คนสอนอะไรเยอะมาก เรื่องคนเป็นเรื่องที่สนุกอยู่แล้ว ถ้าเราให้เกียรติกัน ทุกคนมีเรื่องเล่า มีวิถีชีวิต คนเก็บขยะก็มีเรื่องเล่า พอเบื่อก็ถอนตัว สนุกก็ฟังต่อ ถ้าเห็นความเป็นคนของทุกคน เวลาลงพื้นที่แล้วมีความสุขมากเลย  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook