อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ THE MIRROR AND THE LAMP

อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ THE MIRROR AND THE LAMP

อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ THE MIRROR AND THE LAMP
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่ช่องโทรทัศน์มีมากจนแทบล้นรีโมต พฤติกรรมการเสพข่าวที่แปรเปลี่ยน และความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารอันล้นพ้น การดำรงอยู่ของข่าวที่มาและหายไปอย่างรวดเร็วส่งผลต่อการทำงานและชีวิตของนักข่าว ให้ต้องปรับตัวตามกระแสของโลก

T : กตัญญู สว่างศรี
P : วิภาวดี พิสุทธิ์สิริอภิญญา

อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ นักข่าว พิธีกร และโปรดิวเซอร์หนุ่มผู้คร่ำหวอดในวงการ ยังคงยืนหยัดในฐานะคนทำข่าว ผลงานของเขามีหลากหลาย ทั้งพิธีกรรายการ ‘เถียงให้รู้เรื่อง’ จัดรายการวิทยุ และยังเป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยวเชิงข่าวอีกด้วย

หลังจากถ่ายรูปเบื้องหน้าของการเป็นพิธีกร เราชวนเขานั่งลงคุยถึงเบื้องหลังชีวิตนักข่าวยุคใหม่ กับโจทย์มากมายที่ต้องถามให้รู้เรื่อง

“ข่าวทุกวันนี้ต้องการความเร็ว แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยั่งยืนไม่ค่อยมี” อภิรักษ์ขยับสูท และหยิบปากกาขึ้นมาขีดเขียนลงกระดาษ

“โจทย์สำคัญที่ใครๆ ต้องการความเร็ว ประเด็นนี้มีอยู่ 2 เรื่องคือ คุณค่าข่าว กับ ความเป็นข่าว คุณค่าข่าว คือ News Value อันนี้ควรจะส่งเสริม ควรหามาบอกประชาชน ส่วนความเป็นข่าว เช่น งานนู้นงานนี้ ดารงดารา ถ้าเอาอันนี้มา คนต้องชอบแน่เลย มีความเป็นข่าวเยอะ แสดงว่า Popular เดี๋ยวนี้ความเร็วทำให้เราไปทำงานที่คนอยากรู้มากกว่าสิ่งที่คนควรจะรู้ อันนี้คือในแง่ของความเร็วในปัจจุบันนี้”

ด้วยทิศทางของโลกที่ตอบโจทย์ธุรกิจ การทำข่าวอาจถูกกลืนไป

“ธุรกิจด้วยครับ แต่ข่าวส่วนหนึ่งต้องทำให้องค์กรอยู่ได้ สามารถที่จะเป็นไปได้ แต่อีกส่วนหนึ่งความเป็นข่าวมีหน้าที่ทำให้สังคมสามารถได้รับประโยชน์ เพราะการเป็นข่าวคือการที่คุณไปถือไมโครโฟน ถือเครื่องสัมภาษณ์ เขาให้คุณเข้าไป ที่สำคัญ เขาให้คุยกับผู้ใหญ่ เขาให้คุยกับตำรวจ เขาให้คุยกับขอทาน เพราะว่าคุณมีหน้าที่ในการทำงานเพื่อที่จะตอบโจทย์ให้กับสังคม คำว่าฐานันดรพิเศษมาจากตรงนี้”

อภิรักษ์เล่าถึงชีวิตและความพิเศษของนักข่าว พาให้นึกถึงหนังที่เพิ่งเข้ามาฉายไม่นานอย่าง Spotlight ที่ว่าด้วยกลุ่มนักข่าวที่เปลี่ยนสังคมจากการทำข่าว

“หนัง Spotlight ช่วง 10 วินาทีสุดท้ายก่อนจบ ผมน้ำตาจะไหลจากฉากนั้น เพราะมีความรู้สึกว่านั่นคือคุณค่าที่คุณได้ทำมากที่สุด คือข่าวทำได้ ข่าวได้ช่วยชีวิตคน สามารถแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรม แล้วข่าวสามารถหยุดยั้งไม่ให้คนทำแล้วทำอีก เกรงกลัวต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อันนี้คือคุณค่าของข่าวที่ทำได้ ถ้าเราต้องการเป็นคนทำข่าวทำงานแบบนั้น เราต้องมุ่งหวังไปสู่พูลิตเซอร์ มุ่งหวังสู่เป้าหมายที่สังคมได้ประโยชน์ ไม่ใช่ยอดของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นขายได้ขายดี หรือมีคนพูดถึง ถ้าข่าวทำหน้าที่ตรงนั้นได้ดีจริง ยอดขายก็จะดีเอง”

ฟังดูเหมือนง่ายกับการทำสิ่งที่ทำให้ดีแล้วจะประสบผลสำเร็จ ความจริงเป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่ เขาใช้เวลานิ่งคิด ขยับแว่น จิบน้ำและขยายความต่อ

“ทุกวันนี้ถ้าเราทำสื่อจะเป็น Commercial Arts คือทำงานศิลปะที่เป็นธุรกิจ แต่การเป็นสื่อมวลชนมีมากกว่า Commercial Arts เพราะต้องมี Journalism เข้าไปด้วย เพราะไม่ใช่แค่ทำข่าวแล้วถ่ายดี ได้ภาพดี หรือเขียนเรื่องแล้วคนจะสนใจ ภาพต้องดีและระวังไม่ละเมิด เรื่องเป็นเรื่องที่มีคุณค่า และต้องระมัดระวังไม่ละเมิดสิทธิ์หรือได้มาอย่างไม่ถูกต้อง โจทย์สุดท้ายไม่ใช่แค่ว่าเรตติ้งหรือโฆษณา แต่ต้องตอบได้ว่าคุณค่าต่อสังคมคืออะไร เราไปตรวจสอบการทุจริตในระบบการศึกษา การทุจริตในถนน การทุจริตในโครงการศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อันนี้คือคุณค่าของงานข่าว บางทีงานข่าวไม่ต้องไปตรวจสอบอะไรมากมายเลยครับ แค่เราเดินไปตามท้องถนนแล้วเรามีความรู้สึกว่าทำไม มอเตอร์ไซค์ถึงขี่บนบาทวิถี ในขณะที่ประชาชนไม่ได้มีสิทธิ์เดินบนบาทวิถี อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่สื่อมวลชนควรจะทำ”

ในชีวิตที่ดำรงอยู่ท่ามกลางโซเชียลมีเดีย ข่าวที่เราพบเห็นโดยส่วนใหญ่กลับเต็มไปด้วยเซ็กซ์ เรื่องฉาวโฉ่ ความตาย หรืออะไรที่ทำให้เราจะต้องอึ้งมากกว่าจะเป็นเรื่องของคุณค่าอย่างที่เขาบอก

ถามว่า Value สูงมั้ย ไม่สูง ประเด็นนี้นักข่าวต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า เราเข้ามาในอาชีพนี้ด้วยเหตุผลอะไร

วันแรกที่เข้ามาเป็นนักข่าว เป็นพิธีกร ได้ตั้งเป้าหมายกับตัวเองอย่างไร เราถามย้อนกลับไปที่ตัวเขา

“กระจกไม่ได้สะท้อนอย่างเดียวเราพลิกซ้ายพลิกขวาแสงของกระจกที่เข้ามากเข้าน้อย หรือการหันของกระจกก็สามารถที่จะมีคุณค่าได้ไม่แตกต่างกัน”

“เริ่มต้นมาผมอยากเป็นพิธีกร ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความอยากเป็นผู้ประกาศข่าว แต่สมัยก่อนการเป็นผู้ประกาศข่าวได้ ต้องมีใบผู้ประกาศข่าว ผมก็ไปสอบใบผู้ประกาศมา พอถึงเวลาผมมาสมัครเข้าทำงานที่ ITV ตอนนั้นเขาประกาศรับผู้ประกาศข่าว สมัครเข้ามาในตำแหน่งผู้ประกาศข่าว สุดท้ายคือผมอยากเป็นคนสัมภาษณ์ พิธีกรแบบรายการสัมภาษณ์ และทุกวันนี้กลายเป็นว่าผมเป็นมนุษย์สัมภาษณ์”

อีกมุมหนึ่งนอกจากการสัมภาษณ์การทำงานท่องเที่ยว เราถามเขาถึงการเดินทางด้วยสายตานักข่าวเป็นเช่นไร

“รายการในแบบนักข่าวมีมุมของนักข่าวที่น่าสนใจ ซึ่งมีมุมแปลกๆ วิธีคิดของเราคือไม่ได้เล่าเฉพาะสิ่งที่เราเห็น คิดแบบข่าว แล้วเราก็หาคำตอบ คิดเหมือน Spotlight นั่นแหละว่าทำไมสถิตินี้ถึงมากขึ้น สิงนี้เกิดขึ้นได้ยังไง เราหาคำตอบ สนุกในการเห็น เหมือนนักวิทยาศาสตร์ ถ้าเราสังเกต ตั้งคำถาม แล้วเราจะหาคำตอบ เพียงแค่อันนี้เป็นการหาคำตอบในเชิงสังคมว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ และเป็นเพราะอะไร”

แล้วคำตอบในสังคมของเราในช่วงนี้มีความจริงอะไร เรื่องแบบไหนคือสิ่งที่นักข่าวควรให้น้ำหนัก

กลับไปที่ทฤษฎีครับ คุณจะเป็นตะเกียง หรือคุณจะเป็นกระจก ผมคิดว่าผมเป็นกระจกที่พยายามจะเป็นตะเกียง เราไม่ได้เป็นตะเกียง แต่เราเป็นกระจก แต่กระจกไม่ได้สะท้อนอย่างเดียวนี่เราพลิกซ้ายพลิกขวา แสงของกระจกที่เข้ามากเข้าน้อย หรือการหันของกระจกก็สามารถที่จะมีคุณค่าได้ไม่แตกต่างกัน

“ถ้าเราบอกว่านักข่าวให้เฉพาะความจริง แล้วถ้าเกิดผมส่องกระจกเฉพาะด้านหนึ่ง คุณก็เห็นเฉพาะของคุณ แต่ผมรู้ว่าคุณมีหลังเหวอะ ถ้าผมไปหันข้างหลังมาให้ คุณจะได้เห็นตัวเองบ้างว่าต้องเปลี่ยนแปลง นักข่าวที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นตะเกียงก็ได้นะครับ แต่ว่าเลือกกระจกที่สะท้อนให้ถูกมุม หรือไปสะท้อนมุมที่คนมองไม่เห็น แล้วตั้งคำถาม วันนี้เนี่ย ตะเกียงเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าตะเกียงส่องผิดนี่ก็ลำบาก ถ้ากระจกส่องอย่างเดียว ส่องเฉพาะด้านเดียว ด้านที่ทุกคนส่องเหมือนกันหมด ก็ไม่ไหว ความดีเหมือนกันหมด แต่ระดับของการตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหนไม่เหมือน ความดีไม่มีนิยามนะ ความดีคือความดี แต่ว่าอะไรที่เขาบอกว่าดี อันนี้ยากว่าจะไปตอบโจทย์ยังไง แบบไหน”

นักข่าว พิธีกรหนุ่ม ลุกขึ้นไปเข้าเฟรมเพื่อถ่ายรูปเพิ่มเติม แสงแฟลชแวบขึ้น สะท้อนใบหน้าของเขาในทางตรง ภาพปรากฏขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์ ในความรับรู้ ภาพใบนี้ต่างออกไปหลังการพูดคุย ความจริงที่ไม่ปรากฏซ่อนอยู่ในความคิดของนักข่าวผู้เฉียบคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook