“จุดฝักแค” ราชประเพณีที่หายไป!
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ho/0/ud/21/107497/nh.jpg“จุดฝักแค” ราชประเพณีที่หายไป!

    “จุดฝักแค” ราชประเพณีที่หายไป!

    2016-11-03T11:06:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    การจุดฝักแคพระราชทานนั้นเป็นธรรมเนียมสำหรับ การจุดไฟพระราชทานเพลิงศพข้าราชการทั่วไปหรือผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาพระราชทานเพลิงเป็นกรณีพิเศษ โดยก่อนที่จะทำการจุดฝักแคนั้น พระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานผ้าไตรส่วนพระองค์ให้แก่ทายาทนำไปวางบนหน้าโกศหรือหีบศพ หลังจากนั้นเจ้าพนักงานจะอัญเชิญไฟสำหรับจุดฝักแค ลักษณะของฝักแคนั้นจะเป็นกระดาษชนิดหนึ่งบรรจุด้วยดินปืนและตกแต่งห่อหุ้มให้สวยงามเป็นรูปสัตว์ในวรรรณคดี เมื่อจุดไฟแล้วฝักแคจะวิ่งไปตามลวดที่ขึงทอดยาวไปจนถึงหน้าโกศ/หีบศพ ซึ่งตลอดทั้งงานพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีจะไม่เสด็จขึ้นบนเมรุเลย

    แต่หากงานพระราชทานเพลิงศพงานใดที่มีพระราชวงศ์พระองค์อื่นเสด็จพระดำเนินตามมาด้วยนั้น หลังจากพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไฟจุดฝักแคแล้ว พระราชวงศ์ทุกพระองค์ที่อยู่ในงานไม่ว่าจะเป็น องค์รัชทายาท,พระเจ้าลูกเธอ ,พระเจ้าวรวงศ์เธอ จะต้องเสด็จขึ้นบนเมรุเพื่อพระราชทาน/ประทานดอกไม้จัน

    จากภาพ คือ พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเสด็จพระราชทานเพลิงศพโดยการจุดฝักแค

    ในงานเดียวกันพระราชวงศ์ยังต้องขึ้นพระราชทานดอกไม้จันดังเดิม

     

    ศพที่พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีจะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนเมรุเพื่อจุดไฟพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เองมีดังนี้

    1.พระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้น พระองค์เจ้าขึ้นไป (พระวรวงศ์เธอ – พระเจ้าวรวงศ์เธอ - พระบรมวงศ์เธอ เป็นต้น)
    2.หม่อมเจ้าชาย-หม่อมเจ้าหญิง ที่ได้รับพระราชทานโกศราชวงศ์
    3.ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า
    4.ผู้ที่ได้รับตำแหน่งจอมพลเมื่อยังมีชีวิต และครอบครองคทาจอมพล เป็นต้น

    อนึ่ง การจุดฝักแคนั้นยังมีบางศพที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นกรณีพิเศษ เช่น งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา ที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณมายาวนานตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ซึ่งภายหลังจากพระราชทานผ้าไตรให้ทายาทเชิญไปทอดที่โกศศพแล้ว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขึ้นไปบนเมรุเพื่อจุดไฟพระราชทานเพลิงหน้าโกศศพ และยังมีงานพระราชทานเพลิงศพพระครูรูปหนึ่งทางภาคอิสาน

    ซึ่งในงานเจ้าพนักงานได้จัดเตรียมฝักแคไว้สำหรับให้พระเจ้าอยู่หัวทรงจุดพระราชทาน แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงกลับไม่ทรงจุดฝักแค แต่เสด็จพระราชดำเนินตรงขึ้นไปยังเมรุเพื่อพระราชทานดอกไม้จันด้วยพระองค์เองและคุกพระชงฆ์ (คุกเข่า) ลงกราบ

    ผู้ที่จะจุดฝักแคได้มีเพียงสองพระองค์เท่านั้น คือ พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี โดยผู้ที่เสด็จแทนพระองค์จะไม่สามารถจุดฝักแคพระราชทานได้ และเนื่องจากปัจจุบันพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีทรงมีพระวรกายไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ธรรมเนียมการจุดฝักแคพระราชทานจึงเริ่มเลือนหายไป

    ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย