ส่องบ้านใหม่ชาวคลองลาดพร้าว จากบ้านไม้ริมน้ำครำ เป็นบ้านแบบนี้ บอกเลยว่าไฉไล

ส่องบ้านใหม่ชาวคลองลาดพร้าว จากบ้านไม้ริมน้ำครำ เป็นบ้านแบบนี้ บอกเลยว่าไฉไล

ส่องบ้านใหม่ชาวคลองลาดพร้าว จากบ้านไม้ริมน้ำครำ เป็นบ้านแบบนี้ บอกเลยว่าไฉไล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพมหานครเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก คือ การมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง ซึ่งมีปัญหาต่อการระบายน้ำ และยากหากจะเข้าไปจัดการ เพราะเมื่อโฟกัสไปที่ชุมชนริมน้ำก็พบปัญหามากมาย เช่น เป็นชุมชนรุกล้ำลำคลองสาธารณะ ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งยังเป็นชุมชนแออัด เข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม กระทบต่อคุณภาพชีวิตและมีปัญหาสังคม

เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมข้างต้น รัฐจึงเลือก 9 คลองในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางเขน คลองสามวา คลองลาดบัวขาว คลองบางซื่อ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองพระโขนง และคลองพระยาราชมนตรี จัดระเบียบภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) โดยนำร่องที่คลองลาดพร้าว เริ่มใน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ 54 ชุมชนเพิ่มสินร่วมใจ ชุมชนหลังกรมวิทยาศาสตร์ และชุมชนวังหิน ซึ่งบางส่วนจะเริ่มตอกเสาเข็มแรกในเดือนเมษายนนี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชน 74,115 คน ใน 18,415 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเห็นก่อนหลังการตัดสินใจครั้งใหญ่นี้ ลองมาดูชีวิต “ป้าลิ้นจี่ ลิ้นแก้ว” อายุ 75 ปี เจ้าของบ้านแห่งหนึ่งในชุมชนบางบัวร่วมใจพัฒนา (เชิงสะพานไม้ 2) เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ หลังตัดสินใจให้ความร่วมมือกับรัฐ

ป้าลิ้นจี่กล่าวว่า อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด เป็นบ้านไม้เก่าๆ ริมคลอง ซึ่งถูกน้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะปี 2554 มหาอุทกภัยที่ท่วมสูงถึงเอว ที่นี่น้ำไม่ค่อยสะอาด ท่วมทีก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แห้งก็ย้ายกลับมา ก็อยู่กันแบบนี้มาตลอด จนปีที่ผ่านมารัฐมาบอกว่าจะสร้างเขื่อนในลำคลองแห่งนี้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องรื้อบ้านที่รุกล้ำคลอง โดยมีข้อเสนอจะให้กู้เงินเพื่อสร้างบ้านใหม่ที่ไม่ไกลจากที่เดิม ซึ่งตนตอบตกลง จากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ก็มารื้อบ้านเก่าพร้อมสร้างบ้านใหม่อยู่บนฝั่งและ ห่างจากบ้านเดิมไม่กี่เมตร ซึ่งตนรู้สึกพอใจมาก

“ดิฉันเป็นคนแรกๆ ในชุมชนที่ยอมรับข้อตกลงของรัฐ ซึ่งนับวันนี้ก็ย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังใหม่ได้ 2 สัปดาห์แล้ว รู้สึกดีใจ เพราะบ้านหลังใหม่มั่นคงแข็งแรง คิดว่าน้ำที่เคยท่วมถึงทุกปี ปีนี้ท่วมไม่ถึงแล้ว แต่มีข้อเสียนิดนึงคือหมดเงินเก็บเยอะหน่อย” ป้าลิ้นจี่กล่าวทั้งรอยยิ้ม ก่อนเล่าอีกว่า

“แต่เสียงชาวชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่อยากให้รื้อ ฉะนั้นรัฐคงต้องไปทำความเข้าใจ”

มองไปรอบบ้านหลังใหม่ป้าลิ้นจี่จัดว่าน่าอยู่ทีเดียว เป็นบ้าน 2 ชั้นหลังคามุงเมทัลชีท พื้นปูด้วยกระเบื้องสวยงาม ข้างบนมี 1 ห้องนอน ข้างล่างมี 1 ห้องน้ำ หลังบ้านมีมุมห้องครัว รายล้อมไปด้วยอุปกรณ์พื้นฐานที่ครบถ้วน ส่วนของตกแต่งบ้านป้าลิ้นจี่ขนมาเอง ขณะที่เงินกู้สร้างบ้านนั้น

ป้าลิ้นจี่เล่าว่าต้องผ่อนชำระประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 15 ปี และจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กรมธนารักษ์ประมาณ 300 กว่าบาทต่อปี

สำหรับใครที่อยากมาอยู่บ้านสวยๆ ริมคลองแบบป้าลิ้นจี่ทำไม่ได้นะจ๊ะ เพราะให้สิทธิผู้อยู่อาศัยเดิมโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จะมีแบบบ้านให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ บ้านแฝด ราคาหลังละ 256,000 บาท และบ้านแถว หลังละ 200,000 บาท โดยให้ผู้อยู่อาศัยยื่นกู้กับกองทุน พอช. ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ผ่อนระยะยาว 15 ปี เฉลี่ย 1,800-2,200 ต่อเดือน ขณะเดียวกัน บ้านที่อยู่บนพื้นที่กรมธนารักษ์ต้องจ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์ทุกปี ประมาณ 540 บาทต่อปี

บ้านใหม่สีสวยสดใส ณ ริมคลอง ทำดีๆ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชาวชุมชนอีกนะเออ

ป้าลิ้นจี่ ลิ้นแก้ว

บรรยากาศโดยรอบบ้านหลังใหม่ป้าลิ้นจี่

จากบ้านไม้หลังเก่าริมน้ำสู่บ้านหลังใหม่บนฝั่งโดย พอช.

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าและพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยคลองลาดพร้าว เมื่อเร็วๆ นี้

 

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ส่องบ้านใหม่ชาวคลองลาดพร้าว จากบ้านไม้ริมน้ำครำ เป็นบ้านแบบนี้ บอกเลยว่าไฉไล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook