ฟื้นคืนชีวิต บ้านบานเย็น กลุ่มเรือนไม้วิกตอเรียนอายุกว่า 100 ปี สู่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์

ฟื้นคืนชีวิต บ้านบานเย็น กลุ่มเรือนไม้วิกตอเรียนอายุกว่า 100 ปี สู่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์

ฟื้นคืนชีวิต บ้านบานเย็น กลุ่มเรือนไม้วิกตอเรียนอายุกว่า 100 ปี สู่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • บ้านบานเย็นเป็นกลุ่มเรือนไม้โบราณจำนวน 3 หลังอายุกว่า 100 ปี ที่สร้างตามสถาปัตยกรรมสไตล์วิกตอเรียนซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7
  • ทางทายาทได้อนุรักษ์บ้านเก่าแห่งนี้ให้คงสภาพสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้มากที่สุดและได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
  • บ้านบานเย็นเปิดบ้านต้อนรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เข้าชมฟรีโดยต้องแจ้งล่วงหน้า

ภายในซอยเล็ก ๆ อย่างซอยเทเวศร์ 1 กรุงเทพฯนอกจากจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสตรีวรนาถที่โดดเด่นด้วยอาคารเรียนไม้ 3 ชั้นซึ่งหาได้ยากในปัจจุบันแล้ว ตรงข้ามโรงเรียนยังมีเพชรเม็ดงามอีกแห่งคือ บ้านบานเย็น ซึ่งประกอบไปด้วยเรือนไม้โบราณจำนวน 3 หลังอายุกว่า 100 ปีที่สร้างตามสถาปัตยกรรมสไตล์วิกตอเรียนอันเป็นที่นิยมในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7

หลังจากที่บ้านถูกทิ้งร้างและทรุดโทรมเป็นเวลากว่า 20 ปี เมื่อเจ้าของเรือนแต่ละหลังทยอยเสียชีวิตและผู้อาศัยในบ้านต่างแยกย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ ปัจจุบันเรือนแต่ละหลังของบ้านบานเย็นได้รับการอนุรักษ์ให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม พร้อมเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ทางทายาทพยายามคงความดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดรวมถึงข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และรสนิยมของผู้คนสมัยก่อน

ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาเรือนพักอาศัยของบรรพบุรุษและพัฒนาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ โรจน์ คุณเอนก หนึ่งในทายาทของ บ้านบานเย็น จึงเริ่มโครงการอนุรักษ์กลุ่มเรือนไม้ทั้ง 3 หลังเมื่อ พ.ศ. 2550 และใช้เวลาร่วม 10 ปีจึงแล้วเสร็จโดยใช้งบประมาณราว 8 ล้านบาท การอนุรักษ์ที่คำนึงถึงคุณค่าของบ้านเก่าและการเลือกใช้วิธีอนุรักษ์ที่เหมาะสมทำให้ บ้านบานเย็น ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชนระดับดี ประจำปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

โรจน์ คุณเอนก โรจน์ คุณเอนก

“ในการอนุรักษ์เราก็ได้เก็บรักษาบ้านของบรรพบุรุษไว้เป็นสมบัติแผ่นดินและยังเป็นประโยชน์กับคนอื่น ๆ ที่สนใจประวัติศาสตร์บ้านเก่า เราไม่คิดค่าเข้าชมเพราะหวังว่าเมื่อผู้ชมมาเห็นการซ่อมแซมอนุรักษ์บ้านนี้แล้วจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเกิดความรู้สึกอยากเก็บและอนุรักษ์ของเก่าบ้าง เคยมีคนมาบอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากเราจึงเลือกเก็บบ้านหลังเก่าของเขาไว้แทนที่จะรื้อทิ้ง”

โรจน์ ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ภาพถ่ายพระยาหิรัญยุทธกิจ เครื่องเรือนและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่นำมาจัดแสดง ภาพถ่ายพระยาหิรัญยุทธกิจ เครื่องเรือนและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่นำมาจัดแสดง

บ้านบานเย็น ตั้งชื่อตามเจ้าของบ้านคือ พันเอก พระยาหิรัญยุทธกิจ (บานเย็น สาโยทภิทูร) ซึ่งเป็นคุณทวดของโรจน์ โดยคุณทวดเริ่มรับราชการในกรมบัญชาการทหารบกมณฑลกรุงเทพฯ ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ส่วนนามสกุล “สาโยทภิทูร” เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 เมื่อคุณทวดเป็นสมุหบัญชี กรมเสนาธิการทหารบกโดยมีหมายเหตุต่อท้ายว่า “แปลตรงว่า บานเย็น”

“บ้านเดิมของคุณทวดอยู่บริเวณที่เป็นถนนราชดำเนินหน้ากองสลากฯ ในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินขึ้นเพื่อขยายเมืองและสร้างพระราชวังดุสิต จึงได้ให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นย้ายมาอยู่ในย่านเทเวศร์โดยพระราชทานที่ดินให้แต่ทางคุณทวดไม่ขอรับเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ปัจจุบัน บ้านบานเย็น ที่มีพื้นที่ราวครึ่งไร่จึงเป็นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” โรจน์กล่าว

เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ

เรือนหลังแรกที่สร้างขึ้นในกลุ่มบ้านบานเย็น คือ เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ สร้างในราว พ.ศ. 2446 เพื่อเป็นที่พักอาศัยของพระยาหิรัญยุทธกิจกับภรรยาคนแรกคือ นางนุ่ม และ ประยงค์ ผู้เป็นบุตรสาว ส่วนเรือนหลังที่ 2 ชื่อ เรือนขุนวิเศษสากล  สร้างเพื่อให้เป็นที่อยู่ของน้องสาวของพระยาหิรัญยุทธกิจนามว่า นางจิ่น ซึ่งสมรสกับร้อยเอก ขุนวิเศษสากล และเรือนหลังสุดท้ายชื่อ เรือนเพ็งศรีทอง ที่พระยาหิรัญยุทธกิจสร้างเพื่อเป็นเรือนหอให้แก่ลูกสาวคือ ประยงค์ (คุณยายของโรจน์) ซึ่งสมรสกับนายเปล่ง เพ็งศรีทอง (คุณตาของโรจน์) ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวในขณะนั้น

เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนหลังแรกของ บ้านบานเย็น

บ้านหลังแรกที่อนุรักษ์เมื่อ พ.ศ. 2550 คือ เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ ลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น หน้าเรือนกว้าง 6.5 เมตร ตัวเรือนยาว 7.5 เมตร หลังคามุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ มีระเบียงหน้าบ้านประดับไม้ฉลุลายหยดน้ำโดยรอบและมีชานหลังบ้าน หน้าต่างส่วนใหญ่เป็นบานกระทุ้งมีช่องระบายลม เป็นเรือนที่ไม่มีไฟฟ้า และห้องน้ำกับห้องสุขาอยู่ด้านนอก ตัวเรือนยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร และก่ออิฐฉาบปูนปิดใต้ถุนเรือนโดยรอบแต่เว้นช่องระบายอากาศไว้เป็นช่วง ๆ

บริเวณระเบียงหน้าบ้านมีตู้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในอดีต เช่น ตะเกียงเจ้าพายุ เตาเชิงกรานที่ไว้ใช้อุ่นของเช่นยาจีน ปิ่นโตเงิน ที่บดยา และเตารีดถ่านโบราณ ส่วนมือจับประตูและหน้าต่างในบ้านหลังนี้เป็นกระเบื้องเคลือบขาวทั้งหมด และเมื่อเข้ามาภายในบ้านมีเครื่องเรือนและเครื่องใช้เก่าแก่อีกมากมาย โดยในชั้นล่างจะมีคอลเล็กชันเครื่องกระเบื้องจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เช่น จานกระเบื้องเขียนลายเทพพนมแต่ด้านหลังสกรีนว่า Nitto Ware, Made in Japan จานลายครามแบบเม็ดแตงและวาดลายมังกรจากจีนที่หากลองยกขึ้นส่องแดดจะเห็นรูเล็ก ๆ โปร่งแสงรอบจานให้แสงลอดผ่านได้ นอกจากนี้ยังมีถ้ำชาเขียนอักษรจีนว่า “ซังฮี้” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับสะพานซังฮี้หรือสะพานกรุงธนที่เชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี

ถ้ำชาเขียนอักษรจีนว่า “ซังฮี้” ถ้ำชาเขียนอักษรจีนว่า “ซังฮี้”

ซังฮี้ แปลว่า ยินดี และเป็นลวดลายของเครื่องลายครามจีนหรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่าเครื่องกิมตึ๋งและได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 และเมื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นจึงพระราชทานนามพระตำหนักและถนนรอบพระราชวังเป็นชื่อลวดลายของเครื่องกิมตึ๋ง เช่น ถนนด้านหลังพระราชวังชื่อว่า ซังฮี้ (ปัจจุบันคือถนนราชวิถี) ต่อมาเมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาชาวบ้านจึงเรียกชื่อสะพานซังฮี้ตามชื่อถนนจนถึงทุกวันนี้

จานลายครามแบบเม็ดแตงจากจีน จานลายครามแบบเม็ดแตงจากจีน

โรจน์เล่าว่า บ้านบานเย็น นั้นมีโรงครัวกลางที่ทำอาหารส่งสำรับไปยังบ้านทั้ง 3 หลัง และชี้ให้ชมชั้นวางถาดอาหารหลายถาดโดยชั้นบนเป็นถาดพอร์ซเลนจากยุโรปเขียนลายดอกไม้งดงามและไว้ใส่สำรับสำหรับเจ้านาย ส่วนชั้นล่างเป็นถาดอาหารสังกะสีสำหรับบ่าว

สมุดไทยขาว สมุดไทยดำ และคัมภีร์ใบลาน สมุดไทยขาว สมุดไทยดำ และคัมภีร์ใบลาน

บนโต๊ะตัวหนึ่งจัดแสดงสมุดไทยขาว สมุดไทยดำ และคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับเรื่องยันต์ท้าวเวสสุวรรณ และเรื่องปูมโหรที่แสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ทางโหราศาสตร์ของเจ้าของบ้าน และตรงบริเวณชานหลังบ้านมีการจัดวางโถแก้วทั้งขนาดใหญ่และเล็กหลายใบ ซึ่งโรจน์อธิบายว่าเป็นภาชนะสำหรับใส่หัวน้ำหอมที่คุณตาของเขานำเข้ามาจากยุโรปเพื่อทำแบรนด์น้ำหอมของตัวเองชื่อว่า Madame de Paris แต่ทำได้ไม่นานก็เลิกกิจการไป

เมื่อขึ้นมายังชั้น 2 ของบ้านจะเจอห้องนอนของคุณทวดซึ่งจัดแสดงเตียงเหล็กโบราณของคุณทวด และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องแบบที่ใช้ในราชการทหาร หีบเหล็ก นอกจากนี้ยังมีนาฬิกาลอนดอนโบราณและหน้าปัดเป็นเลขไทยซึ่งโรจน์เล่าว่ารัชกาลที่ 5 สั่งทำจากอังกฤษและพระราชทานให้ข้าราชการใกล้ชิดโดยคุณทวดเป็นหนึ่งในนั้น

เรือนขุนวิเศษสากล บ้านที่เจ้าของชื่อไม่ได้อาศัย     

เรือนขุนวิเศษสากลเป็นเรือนที่สร้างเป็นลำดับที่ 2 ของบ้านบานเย็นโดยใช้ไม้จากบ้านหลังเก่าที่ถนนราชดำเนินมาปลูกหลังใหม่และมีขนาดย่อมกว่าเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ ลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้นและยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร หลังคามุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์และระหว่างหลังคากับผนังมีช่องลมลายไม้ฉลุเป็นแนวยาว เสาเรือนเป็นซุงไม้เนื้อแข็งเหลาเป็นเสากลม และบางเสามีการตีไม้เป็นกล่องสี่เหลี่ยมครอบเสาไว้ ส่วนฝาเรือนเป็นไม้เข้าลิ้นซึ่งต่างจากเรือนอื่นที่เป็นไม้ตีเกล็ด และยังมีหน้าต่างลูกฟักติดซี่กรงซึ่งมีช่องระบายลมฉลุลายสวยงามอยู่ด้านบน

“เรือนนี้คุณทวดสร้างให้น้องสาวจึงเห็นว่ามีการประดับตกแต่งลายฉลุค่อนข้างมากแต่น่าเศร้าที่ขุนวิเศษสากล สามีของน้องสาวท่านถึงแก่กรรมก่อนที่จะย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้เพียงไม่กี่วัน บ้านนี้มีไฟฟ้าใช้แล้วจึงเห็นการเดินไฟด้วยสายไฟหุ้มผ้าและที่รัดสายเป็นเซรามิก เมื่อครั้งซ่อมบ้านหลังนี้เราได้ดีดเรือนขึ้น ตัดเสาเดิมและทำตอบ้านใหม่ ส่วนฝ้าชั้นบนเปลี่ยนจากฝ้าไม้เป็นฝ้าแบบเรียบ”

ชั้นล่างจัดวางตั่งและฟูกนอนพร้อมหมอนสามเหลี่ยม ถ้วยกระเบื้อง นาฬิกาและโคมไฟโบราณ บันไดขึ้นไปชั้น 2 ค่อนข้างแคบและชันแต่บริเวณชั้นบนสามารถเห็นความงามของลวดลายฉลุของช่องลมที่เป็นแนวยาวได้อย่างชัดเจน ภายในบ้านจัดแสดงโต๊ะเครื่องแป้งแบบโบราณและวิทยุรุ่นเก่า ถัดมาเป็นโต๊ะบูชาแบบญี่ปุ่น พระพุทธรูปจากเมืองนารา ตุ๊กตากระเบื้องญี่ปุ่นและกิโมโนผืนงามซึ่งเป็นสมบัติของคุณแม่ของโรจน์ (จันทนา คุณเอนก) ที่ท่านนำกลับมาภายหลังจากไปศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น

เรือนเพ็งศรีทอง เรือนหอของคุณตาและคุณยาย

เรือนเพ็งศรีทองเป็นเรือนที่สร้างหลังสุดท้ายและมีขนาดใหญ่ที่สุดโดยพระยาหิรัญยุทธกิจสร้างเพื่อเป็นเรือนหอให้ลูกสาวคือ ประยงค์ (คุณยายของโรจน์) ซึ่งสมรสกับนายเปล่ง เพ็งศรีทอง (คุณตาของโรจน์) เรือนหลังนี้มีเอกสารการซื้อขายว่าเป็นเรือนไม้ที่ซื้อมาจากหลวงนริศเสน่ห์พร้อมกับเรือนครัว ในราคา 1,600 บาทเมื่อ พ.ศ. 2471 แต่ปัจจุบันเรือนครัวไม้มุงสังกะสีได้รื้อถอนไปแล้วเนื่องจากทรุดโทรมมาก

เรือนนี้มีห้องน้ำภายในบ้านและมีไฟฟ้าใช้โดยโรจน์ยังคงสภาพการเดินสายไฟแบบตีกิ๊บสายไฟ รวมถึงสวิตช์และปลั๊กไฟแบบดั้งเดิม ฝาเรือนเป็นไม้ตีเกล็ดขนาดใหญ่และเล็กสลับกันซึ่งต่างจากเรือนอื่นที่ตีเกล็ดไม้ขนาดเท่ากัน นอกจากนี้ยังมีประตูบริเวณบันไดที่จะขึ้นชั้นบนและบันไดมีความกว้างมากกว่าเรือนอื่น ๆ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการติดตั้งเครื่องปรับอากาศจึงต้องมีการเสริมหน้าต่างกระจกอีกชั้นหนึ่งเพื่อไม่ให้ความเย็นถ่ายเทออกไปภายนอก

เครื่องเรือนและข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงมีจำนวนมากกว่าหลังอื่น ๆ เช่น ตู้เสื้อผ้า เตียง โต๊ะเครื่องแป้ง ตู้เย็น จักรเย็บผ้า และชุดจานชามเซรามิกจากจีนและยุโรป ส่วนชั้น 2 ของบ้านแบ่งเป็น 3 ห้องโดยโรจน์ยังคงเก็บรักษาเตียงนอนของคุณตาและคุณยายไว้อย่างดี และซ่อมแซมเครื่องเรือนเก่าอื่น ๆ ให้กลับมาสวยงามและใช้งานได้ดังเดิม นอกจากนี้ฝ้าเพดานของ 2 ใน 3 ห้องยังเป็นแบบเดิม คือ เป็นฝ้าไม้แผ่นยาวส่วนอีกห้องคือห้องนอนของ จารุพรรณ เพ็งศรีทอง (น้าสาวของโรจน์) เป็นห้องเดียวที่ทาสีขาวและตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบอาร์ตเดโคและใช้ฝ้าแบบเรียบ

นายเปล่ง ผู้เป็นคุณตาของโรจน์นั้นนอกจากจะทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวแล้ว ท่านยังชื่นชอบการถ่ายภาพยนตร์ด้วยกล้องฟิล์ม 8 มม. และสนใจศึกษาเรื่องโหราศาสตร์จนกระทั่งแต่งตำราหลายเล่ม เช่น “อังคะวิชาธาตุ” (ฉบับมาตรฐานและฉบับก้าวหน้า) และ “ตำราเลข 7 ตัว ฉบับอังคะวิชาธาตุ” ดังนั้นภายในบ้านจึงมีมุมที่จัดแสดงโต๊ะทำงานของท่านพร้อมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายภาพยนตร์ ฟิล์ม กล้องส่องทางไกล เครื่องพิมพ์ดีด วิทยุ เครื่องบันทึกเสียง และตำราโหราศาสตร์ที่ท่านเป็นผู้ประพันธ์

“คุณตาถ่ายภาพยนตร์ 8 มม. ไว้ประมาณ 7-8 เรื่องซึ่งบางส่วนก็เก็บไว้ที่หอภาพยนตร์ เช่น เรื่องที่บันทึกเหตุการณ์เสด็จนิวัติพระนครของรัชกาลที่ 9 (เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพของรัชกาลที่ 8 เมื่อพ.ศ. 2493) และมีบางเรื่องเกี่ยวกับ บ้านบานเย็น ด้วยซึ่งในสมัยนั้นต้องส่งฟิล์มไปล้างที่ฮ่องกง”

เรือนทั้ง 3 หลังของ บ้านบานเย็น นอกจากจะได้รับการดูแลและซ่อมแซมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษามรดกและความทรงจำเกี่ยวกับบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมที่โรจน์ในฐานะอาจารย์สอนด้านสิ่งแวดล้อมสถาปัตยกรรมและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการอนุรักษ์บ้านเก่าในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ

“ถ้าบ้านของเราเองเรายังไม่อนุรักษ์ให้ดีแล้วเราจะไปบอกให้คนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านและเมืองเก่าได้อย่างไร” โรจน์กล่าวทิ้งท้าย

Fact File

  • บ้านบานเย็น ตั้งอยู่เลขที่ 54 ซอยเทเวศร์ 1 ถนนกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
  • ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าชมได้ฟรีโดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ที่หมายเลขโทรศัทพ์ 089-050-0780 หรือ Facebook:baanbaanyen

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ ของ ฟื้นคืนชีวิต บ้านบานเย็น กลุ่มเรือนไม้วิกตอเรียนอายุกว่า 100 ปี สู่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook