สวนพอใจ หลังสวน ที่ตั้งใจส่งต่อผลไม้ดีๆ สู่มือผู้บริโภค

สวนพอใจ หลังสวน ที่ตั้งใจส่งต่อผลไม้ดีๆ สู่มือผู้บริโภค

สวนพอใจ หลังสวน ที่ตั้งใจส่งต่อผลไม้ดีๆ สู่มือผู้บริโภค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวนพอใจ หลังสวน

“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด พ่อแม่รับข้าราชการ จึงมีค่านิยมที่ได้รับการปลูกฝังว่าให้ตั้งใจเรียน จบออกมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน  ผมจึงตั้งใจเรียนมาตลอดจนได้มาเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์  พอจบมหาวิทยาลัยผมได้ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ร่วม 10 ปี ต่อมาจึงเกิดคำถามว่าจริงๆ ชีวิตในเมืองเหมาะกับเราไหม พอทำไปความสุขและชีวิตในมุมส่วนตัวก็ค่อยๆ หายไป เลยเป็นจุดเปลี่ยน ช่วงที่คิดก็พยายามหาข้อมูลว่าถ้ากลับบ้านจะทำอะไร เราสนใจเรื่องเกษตรเพราะที่บ้านมีที่ดิน ปู่ย่าก็เป็นเกษตรกร ช่วงที่ยังทำงานประจำมีโอกาสเดินทางไปอบรมตามศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ทำให้ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากตรงนี้ด้วย” นี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวของวิศวกรหนุ่มที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร  คุณเอฟ-กมลพงษ์ ชื่นเจริญ ปัจจุบันเขาพลิกฟื้นผืนดินของครอบครัวมาทำเกษตรปลูกพืชไร่ และเป็นเจ้าของ สวนพอใจ ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

เริ่มต้นทำการเกษตร ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก  

ที่ดินผืนนี้ของพ่อมี 47 ไร่ เดิมทำสวนปาล์มกับสวนยางพารา ก่อนลาออกจากงานผมขอที่ดินท่าน 3 ไร่ เพื่อทำเกษตรช่วงวันหยุด เย็นวันศุกร์ก็ขับรถจากกรุงเทพฯ มาชุมพร พอวันอาทิตย์ก็ขับรถกลับกรุงเทพฯ ไปทำงานต่อเป็นอยู่เกือบปี ซึ่งตอนนั้นเลือกปลูกไม้ยืนต้นอย่างเดียว คิดว่าปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูกตามคอนเซ็ปต์ที่เราสนใจ ทำแบบไม่ต้องดูแลมาก เดินทางไป-กลับอยู่เกือบปีจึงมีความรู้สึกชอบอาชีพนี้ มีความสุขที่ได้ปลูกต้นไม้ จึงตัดสินใจลาออกท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนรอบข้าง

ตอนลาออกมาจริงๆ ผืนดินทั้ง 3 ไร่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด อาชีพเกษตรกรไม่ใช่ว่าเราจะปลูกทุกอย่างที่กินแล้วเราจะอยู่ได้ พอปลูกไม่เป็นระบบ จะขายอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ตอนลาออกมาช่วงปีแรกคือมีความสุข เพราะมีทั้งเงินทุนที่เราทำงานเก็บมา และมีเวลาเป็นนายตัวเอง พอออกมาก็ขอที่ดินพ่อเพิ่มอีก 10  ไร่ที่เป็นสวนยางพาราเพื่อมาปลูกทุเรียน 4-5 ปีก็ได้ผล นอกนั้นปลูกพืชระยะสั้น  ผักกินใบ ฝรั่ง มะละกอ  สับปะรดเป็นพืชเสริมในช่วงที่ทุเรียนยังไม่ออกไว้เป็นรายได้หมุนเวียน แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับเป็นพืชเสริมรายจ่าย ที่ทำไปมันเป็นพืชที่ท้องตลาดมีขายทั่วไป สุดท้ายขาดทุน เงินเก็บระยะเวลา 10 ปีที่ได้จากการทำงานค่อยๆ หมดไป เมื่อทุนหมดปัญหาจึงเกิด ความคิดที่จะกลับไปสมัครงานในกรุงเทพฯ ลอยเข้ามาในหัวทุกวัน แต่ยังกัดฟันสู้ เพราะชอบอาชีพนี้และดีที่มีครอบครัวสนับสนุน

พืชธรรมดาแต่มีความพิเศษ

พอเข้าปีที่ 4 ก็เริ่มดีขึ้น พอจะจับทางได้แล้วจึงเริ่มเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตร โดยเข้าทางวิชาการมากขึ้น ไปหาที่อบรมที่ภาควิชาไม้ผลเขตร้อนที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ สาขากำแพงแสน หลักสูตรที่เกี่ยวกับการปลูกไม้ผล หลักสูตรอะไรที่สนใจก็ไปอบรม จนได้รู้จักข้าวโพดหวานสีแดงที่ทานดิบได้ พันธุ์แรกของโลก แตงโมไร้เมล็ด พืชแปลกที่หาทานไม่ได้ตามท้องตลาด ได้เริ่มสั่งพันธุ์มาลองปลูกจากทีละน้อยๆ เพื่อให้เราเกิดการเรียนรู้ เกิดประสบการณ์ก่อน พอชำนาญก็เริ่มมีผลผลิตออกมาขายในออนไลน์ ขายคนรู้จัก ปรากฏว่าขายได้มีรายได้เข้ามาก็มีกำลังใจ เริ่มเป็นรายได้ก้อนแรกที่เป็นกอบเป็นกำจากการทำเกษตรคือข้าวโพดกับแตงโม ทำให้จับ_หลักได้ว่าจริงๆ เราควรมองหาพืชที่ปลูกเป็นพืชธรรมดาแต่มีความพิเศษ คนนิยมบริโภค และพิเศษคือมีความแตกต่างจากที่ขายทั่วไปและไม่ได้หาซื้อได้ง่ายๆ ซึ่งพืชที่ปลูกสร้างรายได้ก่อนที่ผลผลิตทุเรียนจะออกมาคือข้าวโพดญี่ปุ่น แตงโมไร้เมล็ด เสาวรสไต้หวัน มะละกอเรดเลดี้ ซึ่งเข้ามาช่วยเป็นรายได้ในช่วงที่ทำเกษตรปีที่ 4 ทำให้สามารถเดินต่อไปได้ ผลผลิตที่ออกมานำมาจำหน่ายทางเฟซบุ๊กภายใต้แบรนด์  “สวนพอใจ หลังสวน”

ปลูกด้วยใจ ส่งให้ด้วยรัก

สวนพอใจ มาจากธรรมข้อแรกคือ ฉันทะ ในอิทธิบาท 4 คือความพอใจรักใคร่ในสิ่งที่ทำ จุดเริ่มต้นคือผมมีความรักในอาชีพเลยตั้งชื่อว่าสวนพอใจ ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 มีพื้นที่ทั้งหมด 47 ไร่ ปลูกทุเรียน 15 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 20 ไร่ แปลงพืชไร่ แตงโม ข้าวโพด โรงเรือนเมลอน มะละกอ เสาวรส รวมเกือบ 10 ไร่ และแหล่งน้ำประมาณ 3 ไร่ การบริหารจัดการง่ายๆ คือแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ไม่ปลูกผสมผสานกันในพื้นที่เดียวกัน เช่นปาล์มน้ำมันที่เป็นพืชอุตสาหกรรมเราก็ปลูกแต่ปาล์มเพราะไม่ต้องดูแลเยอะ ส่วนทุเรียนจะแบ่งอีกโซนหนึ่ง  หลักๆ จะเป็นหมอนทองที่นำมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวนและทุเรียนทอด และมีทุเรียนทางเลือกที่ปลูกเมื่อ 2 ปีที่แล้วแต่ยังไม่ได้ผล รองลงมาเป็นแตงโมไร้เมล็ดปลูกได้ปีหนึ่งประมาณ 2-3 รอบ และผลผลิตที่ขายได้ต่อเนื่อง คือข้าวโพดญี่ปุ่น เพราะสามารถปลูกได้เกือบทั้งปี ส่วนเมลอนปัจจุบันเรามีโรงเรือนเดียว ปลายปีจะสร้างเพิ่มอีก 4 โรง โดยผลผลิตที่สวนเราเพาะปลูกตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร ได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย ปัจจุบันสวนเรามีคนงาน 2 ครอบครัวที่เข้ามาช่วยงาน และภรรยาของผมที่ลาออกจากงานประจำมาช่วยในเรื่องหลังบ้าน ดูออร์เดอร์ ทำคิวจัดส่งของได้เป็นอย่างดี

ไปได้ไกลในอาชีพเกษตรกร

ต้องรักในอาชีพที่ทำ ต้องหมั่นเรียนรู้อยู่ตลอด ฉะนั้นการเรียนรู้ด้านวิชาการและธรรมชาติต้องควบคู่กันไป รวมถึงการตลาดที่ต้องอาศัยประสบการณ์ เรียนรู้ พัฒนาไปเรื่อยๆ ปัจจุบันผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมีเยอะมากที่เขาพร้อมจะจ่าย ถ้าเราจับเรื่องคุณภาพได้และหาผู้บริโภคให้เจอ ผมว่าเรายังไปได้ไกลกับอาชีพเกษตรกร ตอนนี้ความสุขมันเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายที่ตั้งไว้คือมีความสุขแบบเรียบง่าย ไม่ต้องปรุงแต่ง มีชีวิตที่สมดุล มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ที่สำคัญคือมีครอบครัวอยู่พร้อมหน้า มีเวลาร่วมกันทุกวันในการทำกิจกรรม ลูกผม 4 ขวบก็ได้เล่นดิน เล่นทราย ปั่นจักรยาน อยู่กับธรรมชาติ ตอนนี้ถือว่ามีความสุขแล้ว รู้สึกว่าการทำงานไม่ใช่งานเพราะเรามีความสุขในทุกๆ วันโดยไม่ต้องรอวันหยุดเสาร์- อาทิตย์

ผลิตภัณฑ์จากสวนพอใจ
FB : SuanPorjai, FB : kamonpong.chuencharoen   

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ สวนพอใจ หลังสวน ที่ตั้งใจส่งต่อผลไม้ดีๆ สู่มือผู้บริโภค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook