รู้จัก "บอนสี" ราชินีไม้ใบในกระแส มีกี่ประเภท ต้องปลูกและดูแลอย่างไร

รู้จัก "บอนสี" ราชินีไม้ใบในกระแส มีกี่ประเภท ต้องปลูกและดูแลอย่างไร

รู้จัก "บอนสี" ราชินีไม้ใบในกระแส มีกี่ประเภท ต้องปลูกและดูแลอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข่าวล่าสุดกับราคาบอนสีพันธุ์จงอางเผือก ราคาต้นละ 1 ล้านบาท ทำให้ไม้ใบชนิดนี้ถูกพูดถึงมากขึ้น แม้บอนสีจะเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว เนื่องจากความโดดเด่นเรื่องสีสัน และความหลากหลายทางสายพันธุ์ แต่ที่ผ่านมาไม้ด่างดูจะเป็นกระแสในตลาดคราวนี้ถึงเวลาของบอนสีที่จะมาอวดโฉมให้คนได้รู้จักกันมากขึ้น

บอนสีบอนสีบอนสี

บอนสี (Caladium bicolor)

บอนสีนั้นมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caladium bicolor อยู่ในวงศ์ Araceae เป็นไม้ประดับที่มีใบสวยงาม มีสีสันหลากหลายแปลกตาและเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับการขนานนามว่า "ราชินีแห่งไม้ใบ" แต่โดยถิ่นกำเนิดแล้วอยู่ในอเมริกาใต้ และเขตร้อนทั่วไป แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยมากับเรือสำเภาของพ่อค้าจีน เชื่อกันว่าเป็นว่านมงคล บอนสีมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "บอนฝรั่ง"

บอนสีมีการปลูกอย่างแพร่หลายในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี 2544 และมีการผสมพันธุ์ขึ้นมามากมาย มีการตั้งชื่อตามลักษณะใบและสีสันของบอนสี 

บอนสีบอนสีบอนสี

ลักษณะทั่วไปของบอนสี

บอนสีเป็นไม้อวบน้ำ ดูดซึมและคายน้ำได้เร็ว มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวหรือเหง้า การแตกใบเป็นกอ มีก้านใบยาว ต้องการแสงร่มรำไรประมาณ 50 - 70 เปอร์เซ็นต์ ความต้องการน้ำอยู่ในระดับปานกลาง และชอบความชื้นสูง ประมาณ 70 - 95 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 21 - 35 องศาเซลเซียส และอาการมีการถ่ายเทสะดวก บอนสีมีความแปลกแตกต่างกันอยู่ที่ลักษณะใบที่มีสีสันสวยงามและมีขนาดรูปใบแตกต่างกัน

ประเภทบอนสี

สามารถแบ่งตามรูปแบบของใบเป็น 4 ลักษณะคือ

  1. บอนใบไทย (thai-Native Leaf Caladium)

    รูปร่างใบคล้ายหัวใจ ก้านใบอยู่กึ่งกลางใบ ปลายใบแหลมหรืออาจมนบ้าง และมีหูใบฉีกไม่ถึงสะดือ

  2. บอนใบยาว (Long- Leaf Caladium)

    รูปใบเรียวหรือป้อม ปลายใบเรียวแหลม ก้านใบอยู่ตรงรอยหยักบริเวณโคนใบพอดี และมีหูใบฉีกถึงสะดือ (ก้านใบ)

  3. บอนใบกลม (Round-Leaf Caladium)

    รูปร่างใบค่อนข้างกลมหรือรี ปลายใบมนสม่ำเสมอ ก้านใบส่วนใหญ่จะอยู่กึ่งกลางใบพอดี

  4. บอนใบกาบ (Sheath-Leaf Caladium)

    รูปร่างของก้านใบจะแผ่แบนตั้งแต่โคนใบถึงคอใบ ลักษณะคล้ายใบผักกาด

ลักษณะดอกของบอนสี

ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วยปลีดอกและจานรองดอก คล้ายดอกหน้าวัว บานตอนกลางคืนและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่บนปลีดอก แต่จะพร้อมผสมพันธุ์ได้ในเวลาไม่พร้อมกัน จึงเกิดการผสมข้ามได้ง่าย เมื่อนำเมล็ดไปเพาะ ต้นใหม่ที่ได้จะมีลักษณะที่แตกต่างจากต้นพ่อและแม่พันธุ์ ทำให้เกดลูกผสมใหม่ๆ ขึ้น

การปลูกบอนสี

  • ดิน กรณีปลูกเป็นไม้กระถางหรือไม้ประดับใช้ดินทั่ว ๆ ไปหรือดินขุยไผ่ผสมใบไม้ผุ เช่น ใบทองหลาง ใบมะขาม ใบก้ามปู อัตราส่วน 1 : 2 แต่ถ้าหากปลูกลงแปลงเพื่อขายหัวพันธุ์ ควรใช้ดินร่วนปนทรายผสมปุ๋ยคอก แกลบดินและขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 หรือดินร่วมปนทรายผสมปุ๋ยคอกอัตราส่วน 1 : 1 (พื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะใช้ปุ๋ยคอกในอัตรา 1,000 กิโลกรัม)
  • น้ำ ให้รดน้ำทุกวันในช่วงเวลาเช้า
  • แสงแดด บอนสีเป็นพืชที่ต้องการแสงแดด 50 - 70 เปอร์เซ็นต์ โดยการปลูกลงในกระถางนั้น ควรให้บอนสีอยู่ในที่ร่มรำไร หรือยกไปรับแสงแดดในช่วงเวลาเช้า ระหว่างเวลา 09.00 - 10.00 น. หรือใช้ซาแลนพรางแสง 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ และหากปลูกลงแปลงควรใช้วัสดุคลุมแปลง เช่น ฟางข้าว เพื่อลดการระเหยของน้ำ
  • อากาศ บอนสีต้องการอากาศที่ถ่ายเทสะดวก
  • อุณหภูมิ อยู่ระหว่าง 21 - 35 องศาเซลเซียส

การขยายพันธุ์ของบอนสี

บอนสีมีการขยายพันธุ์ 4 วิธี คือ

  1. แยกหน่อ

    โดยการแบ่งหน่อของต้นบอนสีที่โผล่มาจากโคนต้นแม่ ซึ่งบอนสีสามารถแยกหน่อไปปลูกได้เมื่อมีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป

  2. ผ่าหัว

    โดยการนำหัวบอนสีที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือน - 1 ปี มาผ่าแบ่งหัวเป็นชิ้นขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ล้างให้สะอาดแล้วนำไปชำในกระบะทรายหยาบประมาณ 15 วัน ชิ้นบอนสีจะงอกใบออกมา จากนั้นให้ย้ายไปปลูกในกระถางขนาด 2 - 3 นิ้ว ต่อไป

  3. ผสมเกสร

    ให้เตรียมต้นบอนสีที่จะนำมาเป็นต้นพ่อแม่พันธุ์ไว้ เมื่อต้นบอนสีออกดอกและบานในช่วงเวลา 19.00 - 20.00 น. ให้ทำการผสมเกสร ซึ่งดอกบอนสีจะผสมติดภายใน 1 สัปดาห์ และฝักจะแก่เต็มที่ภายใน 30 วัน สามารถนำเมล็ดไปเพาะและงอกเป็นต้นใหม่ได้ภายใน 15 วัน

  4. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือปั่นตา

    ให้นำชิ้นส่วนเนื้อเยื่อเจริญของต้นบอนสีมาเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง จนเกิดเป็นกลุ่มเนื้อเยื่อและพัฒนาเป็นบอนสีต้นใหม่ ซึ่งการขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ต้นบอนสีที่ได้จะมีเปอร์เซ็นต์การกลายพันธุ์สูงถึงร้อยละ 20


การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

โรค

  • โรคราเม็ดผักกาด การป้องกันกำจัดให้ใช้เทอร์ราคลอร์ราดบริเวณโคนต้นในอัตราที่แนะนำไว้ในฉลาก
  • โรคโคนเน่า การป้องกันกำจัดให้ขุดต้นเป็นโรคทิ้งแล้วใช้ปูนขาวโรยบริเวณหลุมดินที่เป็นโรคนี้

แมลง

  • เพลี้ยอ่อน จะดูดน้ำเลี้ยงที่โคนกาบหรือใบอ่อน บอนสี การป้องกันกำจัดให้ฉีดพ่นด้วย S-85 หรือใช้ยาฉุนแช่น้ำ 1 คืน แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำยามาผสมกับผงซักฟอกเล็กน้อย ฉีดพ่นบริเวณโคนต้นติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์
  • หนอนกินใบ หรือหนอนแก้ว แม่ผีเสื้อจะวางไข่ได้ใบบอนสีในช่วงฤดูฝน และเมื่อฟักออกมาเป็นตัวอ่อน หนอนแก้วจะกัดกินใบจนเกลี้ยง ซึ่งการกำจัดที่ได้ผลจะกระทำโดยวิธีการเก็บทำลายทิ้ง

การเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์บอนสี

บอนสีจะพักตัวในช่วงฤดูหนาว โดยจะค่อย ๆ ทิ้งใบจนไม่มีใบเหลือในที่สุด ซึ่งระยะนี้ควรงดการให้น้ำและชุดหัวขึ้นมาล้างทำความสะอาด ชุบด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา ผึ่งทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 15 วัน แล้วเก็บใส่ถึง กล่อง หรือตะกร้าที่มีการระบายอากาศได้ดี พอใกล้ฤดูปลูก (ฤดูฝน) ประมาณเดือนมีนาคม ให้นำหัวพันธุ์บอนสีมาผ่าเพาะชำ แล้วนำไปปลูกเป็นต้นบอนสีต่อไป

 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ รู้จัก "บอนสี" ราชินีไม้ใบในกระแส มีกี่ประเภท ต้องปลูกและดูแลอย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook