หน้าฝน พื้นลื่น น้ำขัง จัดบ้านอย่างไรให้ผู้สูงวัยปลอดภัย ไม่ลื่นล้ม
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/hm/0/ud/5/26521/tnhome33.jpgหน้าฝน พื้นลื่น น้ำขัง จัดบ้านอย่างไรให้ผู้สูงวัยปลอดภัย ไม่ลื่นล้ม

    หน้าฝน พื้นลื่น น้ำขัง จัดบ้านอย่างไรให้ผู้สูงวัยปลอดภัย ไม่ลื่นล้ม

    2020-08-03T19:15:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเตือนอันตรายช่วงฝนตก ทำให้พื้นทางเดินมีน้ำขัง ลื่นได้ง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาทรงตัวไม่ดี ปัญหาสายตา และการได้ยิน ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้ลื่นหกล้ม เกิดอุบัติเหตุ

    นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงฝนตกถนนและพื้นทางเดินจะลื่นหรือมีน้ำขัง เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจเสี่ยงได้รับบาดเจ็บจากการลื่นล้ม หรือพลัดตกบริเวณทางต่างระดับได้ง่าย เมื่อผู้สูงอายุออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เนื่องจากผู้สูงอายุสุขภาพร่างกายเสื่อมถอยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เช่น การทรงตัวไม่ดี แขนขาอ่อนแรง มีปัญหาทางสายตา และปัญหาการได้ยิน หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม ไม่เหมาะสม เช่น พื้นและบันไดลื่น ชำรุด มีสิ่งกีดขวาง พื้นต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย ผู้สูงอายุที่หกล้มจะได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือบาดเจ็บที่ศีรษะ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งจากข้อมูลกรมควบคุมโรคพบว่า ปี 2560 มีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 2,018 คน หรือเฉลี่ยวันละ 6 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากถึง 1,046 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน

    นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกันและดูแลความปลอดภัยผู้สูงอายุเวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรเดินทางไปพร้อมผู้สูงอายุเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องเลือกรองเท้ากันลื่นให้กับผู้สูงอายุ เพื่อช่วยในการทรงตัว ส่วนในกรณีที่อยู่ภายในบ้าน ควรปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม

    - จัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง

    -มีราวจับหรือราวพยุง

    -มีแสงสว่างเพียงพอ

    -จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ

    -พื้นห้องเรียบเสมอกันและเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น โดยเฉพาะในห้องน้ำซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุ ได้ง่าย ภายในห้องน้ำต้องมีราวจับที่อยู่ในระยะยึดจับได้ อย่างทั่วถึง มีระบบระบายน้ำที่ดี และห้องน้ำไม่ควรอยู่ไกลจากห้องนอน

    -สวิตช์ไฟต้องอยู่ในตำแหน่งที่เปิด-ปิดได้สะดวก เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ

     “ทั้งนี้ การเปลี่ยนอิริยาบถหรือท่าทางของผู้สูงอายุจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างฉับพลัน หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือทรงตัวได้ไม่ดี นอกจากนี้ควรดูแลให้ผู้สูงอายุกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเสริมสร้างกำลังของกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัว เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

     

    ขอขอบคุณ

    ข้อมูล :กรมอนามัย

    ภาพ :istockphoto