โมเดลแนะนำ บ้าน ห้องสมุด Co-working space ในงานสถาปนิก’ 61 แจ่มทุกแบบ

โมเดลแนะนำ บ้าน ห้องสมุด Co-working space ในงานสถาปนิก’ 61 แจ่มทุกแบบ

โมเดลแนะนำ บ้าน ห้องสมุด Co-working space ในงานสถาปนิก’ 61 แจ่มทุกแบบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงระหว่างนี้จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม ที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี มีงานน่าเดินของคนสนใจเรื่องการออกแบบ การตกแต่งบ้าน รวมไปถึงนวัตกรรมสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม การอัปเดตวัสดุ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการอยู่อาศัย “งานสถาปนิก’61” เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี และปีนี้งานสถาปนิก’61 มาในธีมงานน่าสนใจคือ “ไม่ธรรมดา” ที่ให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและงานออกแบบพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยของสังคมไทย ภายในงานจะมีนิทรรศการ การแสดงสินค้าของบูธต่างๆ มากมาย

แต่ที่ Sanook! Home สนใจมากที่สุดภายในงานและอยากแนะนำให้ลองไปเดินดูคือนิทรรศการส่วนกลางบริเวณฮอลล์ 2 เพราะมีโซนหนึ่งนำโมเดลบ้าน โรงแรม ห้องสมุด co-working space ฯลฯ มาจัดแสดง พร้อมนำเสนอไอเดียการออกแบบที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม การกลมกลืนกับธรรมชาติ ฯลฯ โมเดลแต่ละแบบจะมีคำอธิบายถึงแนวคิดของนักออกแบบประกอบไว้ และเราคัดเลือกโมเดลที่ชอบมาเป็นไอเดียเผื่อใครคิดอยากสร้างบ้าน รีโนเวทบ้านเก่า หรือกำลังหาไอเดียปลูกบ้านในฝันสักหลังของตัวเอง นอกจากแบบที่คัดและใส่รายละเอียดมาด้านล่างแล้วยังมีโมเดลอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

LIBRARY49 ห้องสมุดโรงเรียนบ้านทุ่งยาว

อาคารห้องสมุดแห่งนี้ตั้งที่โรงเรียนบ้านทุ่งยาวในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นห้องสมุดที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของบริษัท 49GROUP และบริษัทพันธมิตรที่ประกอบด้วยบุคคลหลายวิชาชีพทั้งสถาปนิก วิศวกร กราฟิกดีไซน์เนอร์ นอกจากจะเป็นการทำงานร่วมกันของบุคคลเหล่านี้แล้วคนในชุมชน คุณครู และนักเรียนช่วยก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดของทุกคน เดิมทีพื้นที่บริเวณที่ตั้งห้องสมุดแห่งนี้รกร้าง แต่เพราะต้องการทำให้ห้องสมุดแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาคารแห่งนี้จึงเกิดขึ้น

ลักษณะของอาคารหลังนี้อาจดูไม่แตกต่างจากอาคารทั่วไป แต่เป็นอาคารที่เน้นเรื่องการวางทิศทางตามแนวตะวันของไทย เพื่อเปิดรับลม แสง รวมไปถึงเลี่ยงแสงแดดจัดๆ ส่องเข้าสู่อาคาร จึงมีการใช้หลังคาทรงจั่วองศาสูงร่วมกับชายคายื่นยาวเพื่อป้องกันแสงแดด และฝนสาด ถ่ายเทความร้อนและน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว โดยอาคารหลังนี้แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 4 ส่วนคือห้องสมุด ห้องการเรียนรู้ ส่วนอ่านหนังสือและลานอเนกประสงค์ รวมทั้งห้องสมุดแห่งนี้ยังมีการนำวัสดุหาง่ายในท้องถิ่นมาใช้ง่ายต่อการเสาะหา ซ่อมแซม ช่วยประหยัดพลังงาน

บริษัทผู้ออกแบบ   : 49GROUP

ใต้ถุน co-working space สยามสแควร์

ใต้ถุนเป็นอาคารที่ออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ทำงานส่วนร่วม โดยมีแนวคิดในการออกแบบตั้งอยู่บนข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ระหว่างตึกแถว และตัวอาคาร ดังนั้นอาคารจึงถูกออกแบบให้เชื่อมโยงระหว่างลานกับพื้นที่กิจกรรมบริเวณใกล้เคียง และมีการเปิดพื้นที่แบบเรือนใต้ถุนสูง ส่วนการออกแบบพื้นที่ภายในนั้นเน้นการออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่มีความระดับความสูงแตกต่างกัน ผนังมีการเจาะช่องแสง และให้ลมพัดผ่าน นอกจากนี้ยังมีการออกแบบส่วนบังแดดและฝนเพื่อให้เกิดสภาวะน่าสบายในการใช้งาน วัสดุที่นำมาใช้หลักๆ คือเหล็ก ในขณะที่ “ไม้ไผ่” ถูกนำมาใช้เป็นส่วนของแผงบังแดด ฝ้าเพดาน

สถาปนิก/บริษัท : Oriental Studio

บ้านสะเทินน้ำสะเทินบก

บ้านหลังนี้สร้างขึ้นที่จังหวัดนนทบุรีพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ น้ำท่วมได้ง่าย สภาพแวดล้อมมีการปลูกผัก ผลไม้เพื่อเป็นแหล่งอาหาร วัตถุประสงค์ของเจ้าของบ้านคือต้องการสร้างบ้านให้หลังเล็กที่สุด ใช้พื้นที่น้อยที่สุด ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดเพื่อคงไว้ซึ่งการเป็นแหล่งอาหาร และสร้างระบบนิเวศที่ดีให้เกิดกับตัวบ้าน ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงมีลักษณะยกใต้ถุนสูง เพื่อหนีน้ำในช่วงน้ำหลาก และในช่วงน้ำแล้งช่วงเวลากลางวันใต้ถุนด้านล่างก็เหมาะสำหรับทำกิจกรรมยามว่างสำหรับครอบครัว ตัวบ้านหันหน้าไปทางทิศเหนือเพราะเป็นทิศที่อากาศเย็นทั้งวัน ส่วนในทิศที่ได้รับรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ก็ป้องกันด้วยการยื่นชายคาเยอะๆ และมีแผงกันแดดที่เป็นสวนผัก เปิดรับลมธรรมชาติช่วยระบายความร้อนจากตัวอาคาร สำหรับพื้นที่สวนรอบๆ บริเวณบ้านที่มีขนาดใหญ่นั้นสามารถเป็นพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเมืองได้อีกทางหนึ่ง

บริษัท : EcoArchitect

บ้าน 2 ชั้นของหนึ่ง ณรงค์วิทย์

นี่น่าจะเป็นบ้านหลังใหม่ของโปรดิวเซอร์เพลงละครช่อง 3 “หนึ่ง ณรงค์วิทย์” ที่ต้องการรวมบ้าน สำนักงานหรือบริษัท Chandelier Music ไว้ด้วยกันบนพื้นที่ 432 ตรม. บริเวณริมทะเลสาบสัมมากร ซึ่งสิ่งที่คุณหนึ่งต้องการคืออาคารสไตล์อินดัสเทรียล ลอฟท์ พร้อมสวนที่มีบรรยากาศสบายๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ มีระเบียงขนาดใหญ่เพื่อไว้สังสรรค์กับเพื่อนๆ สำหรับในส่วนของสำนักงานนั้นเน้นความรื่นรมย์ ส่วนห้องนอนหลักนั้นตั้งใจไว้ด้านล่างของบ้านเพราะคิดถึงอนาคตเมื่อยามมีอายุมากขึ้น แต่เมื่อนักออกแบบดูรายละเอียดต่างๆ ของพื้นที่ใช้สอยที่มีแล้วปรากฏว่าฟังก์ชั่นที่เจ้าของบ้านต้องการส่วนมากจะอยู่ชั้นล่าง ซึ่งจะทำให้อาคารส่วนที่เป็นบ้านและสำนักงานบดบังวิวกันเอง ดังนั้นนักออกแบบจึงใช้หลักการเรื่อง space ของ auditorium หรือที่นั่งชมละครในโรงละครที่มีลักษณะเหลื่อมกัน ถ้าใครนั่งอยู่แถวบนมองไปยังแถวที่ต่ำกว่าศีรษะของผู้ชมแถวด้านหน้าจะไม่บังเรา ในทางกลับกันถ้าผู้ชมอยู่แถวล่างแล้วมองมาด้านบนก็จะเห็นหน้าคนด้านบน และบ้านหลังนี้ก็ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับหลักการใช้พื้นที่แบบเดียวกับในโรงละคร ส่วนวัสดุหลักๆ นั้นเน้นการใช้เหล็ก อิฐ ปูน และกระจกซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะอินดัสเทรียล ลอฟท์

สถาปนิก/บริษัท : WARchitect.design

ใครสนใจไปเดินเล่นงานนี้งานยังจัดอยู่จนถึงวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคมนี้ ฮอลล์เปิดตั้งแต่เวลา 10.00 น.-20.00 น. สำหรับใครที่ไม่สะดวกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว งานมีบริการรถตู้รับ-ส่งจากสถานี MRT จตุจักรไปที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยรถตู้จะจอดให้บริการอยู่บริเวณ MRT ทางออกที่ 4 ส่วนที่บริเวณงานมีรถตู้จอดอยู่ที่ร้านกาแฟ Black canyon ด้านล่าง โดยรถตู้จะออกเป็นเวลา

 

 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ โมเดลแนะนำ บ้าน ห้องสมุด Co-working space ในงานสถาปนิก’ 61 แจ่มทุกแบบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook