เปิดเรือนพี่หมื่น ‘เครื่องแขวนดอกไม้สด’ ของแต่งบ้านในอดีต ทั้งหอมและประณีต

เปิดเรือนพี่หมื่น ‘เครื่องแขวนดอกไม้สด’ ของแต่งบ้านในอดีต ทั้งหอมและประณีต

เปิดเรือนพี่หมื่น ‘เครื่องแขวนดอกไม้สด’ ของแต่งบ้านในอดีต ทั้งหอมและประณีต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

งานเครื่องดอกไม้เป็นงานหัตถศิลป์แขนงหนึ่งที่สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ ความละเอียดอ่อน ความสมบูรณ์ของธรรมชาติตั้งแต่ในอดีตกาล ดังนั้นเราจึงได้เห็นการนำดอกไม้ ใบไม้มาประดิดประดอยตกแต่งสถานที่ต่างๆ ทั้งศาสนสถาน พระราชวัง บ้านเรือนระดับคหบดี

Sanook! Home ตาดีเห็นเรือนพี่หมื่นในละครบุพเพสันนิวาสงดงามไปทุกมุม ทุกห้อง และสิ่งหนึ่งที่เห็นเสมอในงานตกแต่งบ้านคนไทยสมัยอดีตนั่นก็คือ ‘เครื่องแขวนดอกไม้สด’ ซึ่งเป็นงานประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ตกแต่งอาคาร สถานที่ สิ่งเคารพบูชารวมไปถึงบ้านเรือน เครื่องแขวนดอกไม้สดจะมีลักษณะเป็นช่อ พวงที่ทำขึ้นจากการนำดอกไม้เล็กๆ ร้อยรวมกันด้วยด้ายให้เป็นเส้นสายลวดลายต่างๆ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ

สำหรับเครื่องแขวนแบบ 2 มิตินั้นเป็นเครื่องแขวนที่มีลักษณะแบน มองได้ 2 ด้านเช่นเครื่องแขวนดอกไม้สดที่เรียกว่า ตาข่ายหน้าช้าง หรือบันไดแก้ว รวมไปถึงวิมานแท่น ส่วนใหญ่เครื่องแขวนลักษณะนี้มักใช้แขวนบริเวณหน้าต่าง เพราะเวลาลมพัดจะทำให้บ้านอบอวลไปด้วยกลิ่นดอกไม้

ส่วนเครื่องแขวนแบบ 3 มิตินั้นเราสามารถมองได้รอบทิศทางซึ่่งทีทั้งแบบกลิ่นคว่ำ แบบพวงแก้ว แบบพู่กลิ่น และแบบระย้าทรงเครื่อง ซึ่งเครื่องแขวนประเภทนี้จะใช้ประดับภายในบ้านเพื่อตกแต่งให้เกิดความสวยงาม

สำหรับเครื่องแขวนดอกไม้สดนั้นเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 งานศิลปะแขนงนี้ก็หายไป กระทั่งมีการฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งเมื่อสมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งผู้ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญในวงการช่างดอกไม้สมัยนั้นคือเจ้าจอมมารดาตานี ธิดาในเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ท่านยังได้ฝึกหัดและถ่ายทอดวิชาแก่พระธิดาและพระนัดดา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ให้เป็นช่างดอกไม้สืบวิชาต่อมาจนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว
รูปแบบของเครื่องแขวนดอกไม้สดถูกพัฒนามาตามยุคสมัย โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากขึ้นทำให้เครื่องแขวนดอกไม้สดเริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับสมันนิยมมากขึ้นเช่น โคมจีน โคมฝรั่ง และต่อไปนี้คือตัวอย่างเครื่องแขวนดอกไม้ชื่อต่างๆ

ตาข่ายหน้าช้าง
สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องแขวนที่คิดขึ้นมาเป็นแบบแรก เพราะโครงสร้างเป็นแบบเส้นตรงเส้นเดียว ไม่สลับซับซ้อน นอกจากใช้แขวนประดับสถานที่แล้ว ยังใช้คลุมหน้าผากช้างสำคัญเวลาเข้าพิธี เช่น พิธีถวายช้างสำคัญ หรือสมโภชช้าง เป็นต้น

พัดหน้านาง
ลักษณะคล้ายพัดหน้านาง หรือตาลปัตรของพระภิกษุ ตัวพัดร้อยเป็นสายด้วยดอกพุดแผ่รัศมีออก คล้ายพัดใบลาน ส่วนบนและล่างตกแต่งด้วยอุบะและตุ้งติ้ง เหมาะสำหรับแขวนประดับช่องประตู หน้าต่างหรือตามฝาผนัง

พัดจามร
นอกจากพัดหน้านางแล้ว พัดจามรถือเป็นพัดไทยที่มีรูปลักษณ์อ่อนช้อยงดงาม เหมาะที่จะนำมาดัดแปลงเป็นเครื่องแขวน เมื่อนำมาตกแต่งด้วยดอกไม้สีสันสดใส จะเพิ่มความสะดุดตาชวนมอง

กลิ่นจระเข้
รูปร่างคล้ายจระเข้ ประกอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสามอันซ้อนทับกัน โดยอันกลางมีขนาดใหญ่กว่าอันบนและล่างเล็กน้อย ใช้เส้นรอบรูปที่เกิดขึ้นใหม่ บรรจุลายและตกแต่งตามมุมด้วยอุบะให้ดูวิจิตร

พู่กลิ่น
เป็นพวงดอกไม้มีลักษณะคล้ายพู่ คือ ตรงกลางป่อง หัวและเท้าเรียว ใช้แขวนห้องเพื่อความสวยงาม และส่งกลิ่นหอมอบอวลของดอกไม้สด พู่กลิ่นมีหลายขนาดตั้งแต่ 3-7 ชั้น ในงานมงคลใช้พู่กลิ่นจำนวนชั้นเป็นเลขคี่ และใช้จำนวนชั้นเป็นเลขคู่สำหรับงานศพ

บันไดแก้ว
ลักษณะคล้ายขั้นบันได 3 ขั้น นำมาผูกโยงกันด้วยสายร้อยด้านข้าง และสายร้อยไขว้กากบาท ตกแต่งด้วยตุ้งติ้ง ใช้ดอกไม้สีขาวนวลทั้งหมด เพื่อให้ความรู้สึกคล้ายบันไดแก้ว เชื่อกันว่าเป็นบันไดเนรมิต โดยเทวฤทธิ์แห่งท้าวโกลีย์ รับองค์พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์

บันไดเงิน
ลักษณะคล้ายบันไดแก้ว แตกต่างกันที่สีสันของดอกไม้ ซึ่งใช้ดอกสีฟ้าคราม ขาว นวล อมเทาบ้าง และลวดลายตกแต่งที่แปลกออกไป ตามพุทธประวัตินั้น พรหมทั้งหลายใช้บันไดเงิน ตามส่งเด็จพระพุทธเจ้าลงจากดาวดึงส์ โดยท่านท้าวมหาพรหม ทรงกั้นเศวตฉัตรถวาย

บันไดทอง
ลักษณะคล้ายบันไดแก้วและบันไดเงิน หากแต่ใช้ดอกไม้สีเหลืองทอง เพื่อให้ความรู้สึกคล้ายบันไดทอง ซึ่งเทพยดาใช้ตามส่งเสด็จพระพุทธเจ้า ลงจากดาวดึงส์สู่พื้นพิภพ โดยมีท้าวโกลีย์ถือบาตรนำเสด็จ

กลิ่นตะแคง
ลักษณะคล้ายดาวหกแฉกหรือรูปหกเหลี่ยม ตกแต่งอุบะตามมุม นิยมร้อยทั้งดอกรักและดอกพุด ใช้แขวนประดับสถานที่ เพื่อเพิ่มความสวยงามสดชื่น ประดิษฐ์สีสันได้ตามความเหมาะสม

เครื่องแขวนระย้าน้อย
ประกอบด้วยโครงสร้างรูปดาว 5 แฉก ส่วนบนถักตาข่ายจอมแหด้วยดอกพุด ส่วนล่างถักตาข่ายดอกพุดชายห้อยอุบะตุ้งติ้ง ประดับเฟื่องมาลัยแบน ตามมุมติดอุบะไทย ทัดหูมาลัยซีก ส่วนล่างของระย้าประดับด้วยอุบะไทย

ระย้าทรงเครื่อง
โครงสร้างรูปดาว 8 แฉก ส่วนบนถักตาข่ายจอมแห ส่วนล่างถักตาข่ายดอกรัก ผูกอุบะตุ้งติ้งประดับเฟื่องมาลัยลูกโซ่แบน ด้วยดอกกล้วยไม้ ตามมุมผูกอุบะพู่กลิ่นบานไม่รู้โรย ชายพู่กลิ่นใช้อุบะสร้อยสนจากดอกกล้วยไม้ ตรงกลางประดับด้วยพู่กลิ่นเช่นเดียวกัน

กลิ่นคว่ำ
โครงสร้างเป็นกลิ่นตะแคง 6 แฉก ถักด้วยดอกรัก ส่วนบนและล่างร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบด้วยกัน ประดับด้วยเฟื่องมาลัยแบนลูกโซ่ด้วยดอกกล้วยไม้ ตามมุมห้อยอุบะด้วยสร้อยสนจากดอกกล้วยไม้ และติดทัดหูกลมดอกกุหลาบ ส่วนชายห้อยอุบะไทยทรงเครื่องด้วยกลีบกล้วยไม้

วิมานแท่น
ลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมสองชั้น คล้ายช่องหน้าต่าง มีตาข่ายหน้าช้าง เป็นรูปสี่เหลี่ยมหน้าจั่วอยู่ส่วนบน ตรงมุมของกรอบสี่เหลี่ยมมีดอกเย็บแบบทัดทั้ง 4 มุม ใช้สีสันสดใสให้เด่นสะดุดตา วิมานแท่นบางท่านเรียกว่า ช่องวิมาน

วิมานพระอินทร์

ใช้ประดับประตูหน้าต่าง ประดิษฐ์เพิ่มเติมจากตาข่ายหน้าช้าง ระหว่างจั่วบนและจั่วล่าง จะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายช่องหน้าต่าง ตรงกลางหน้าจั่วอาจติดแบบพระอินทร์ และติดแบบกระหนกบนจั่วล่าง หรืออาจจะไม่ติดแบบเลยก็ได้

โคมจีน
โครงสร้างเป็นรูปทรงกระบอก 6 เหลี่ยม ตัวโคมถักตาข่ายดอกรัก ขอบบนและล่างถักตาข่ายดอกพุด ตรงมุมบนร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบเข้าด้วยกันตรงกลางผูกอุบะไทยทรงเครื่อง ตามมุมประดับด้วยเฟื่องประดิษฐ์ ประดับอุบะแบบต่างหูจีน ตรงมุมติดทัดหูรูปดาว 6 กลีบ ชายล่างประดับด้วยอุบะตุ้งติ้ง

พวงแก้ว
โครงสร้างเป็นรูป 6 เหลี่ยมด้านเท่า สามอันร้อยอุบะดอกจำปีประดิษฐ์ ผูกให้ได้ขนาดลดหลั่นกันเป็นชั้น ประดับเฟื่องแบบกนก ตามมุมห้อยอุบะแขกดอกจำปีประดิษฐ์ ติดทัดหูรูปดาว ส่วนบนร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบติดกัน ห้อยอุบะแขกตรงกลาง

กระเช้าสีดา
โครงสร้างเป็นรูปดาว 6 แฉก ส่วนบนร้อยดอกรักเป็นสาย ผูกรวบตรงกลางห้อยอุบะแขก ตัวกระเช้าร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบ ที่ชายห้อยอุบะพู่ ตามมุมประดับเฟื่องแบบกนก ติดอุบะประดิษฐ์ที่กนก ผูกอุบะแบบประดิษฐ์ที่มุมและติดทัดหูรูปดาว

กระเช้าสีดาแปลง
โครงสร้างเป็นรูปดาว 6 แฉก ส่วนบนร้อยดอกรักเป็นสาย ผูกรวบตรงกลางห้อยอุบะแขก ตัวกระเช้าร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบ ที่ชายห้อยกลิ่นคว่ำตามมุมประดับเฟื่องแบบสามเหลี่ยมหน้าช้าง ที่มุมห้อยกลิ่นคว่ำ ปิดมุมทั้งหกด้วยเย็บแบบรูปดาวหกแฉก

กลิ่นจีน
ลักษณะคล้ายตั่งหูจีน เป็นแบบที่ดัดแปลงมาจากกลิ่นตะแคง คือรูปดาวหกแฉกอยู่ตรงกลาง ส่วนบนเป็นดางครึ่งดวง ส่วนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมติดกัน 2 อัน นำทุกส่วนมาผูกโยงเชื่อมกัน แล้วผูกอุบะและตุ้งติ้ง ให้ความรู้สึกที่โปร่งบางเบา เมื่อมีลมพัดเพียงเล็กน้อยจะเกิดอาการเคลื่อนไหว

โคมกระเช้าหน้านาง
โครงสร้างตัวโคมนำใบโพธิ์พอกย้อมสีมาผนึก ถักตาข่ายด้วยดอกพุดทับอีกครั้ง ส่วนบนถักตาข่ายโปร่งตลอดติดผูกอุบะตุ้งติ้ง ขอบฝาโคมประดับแบบกนกหัวมน ผูกอุบะประดิษฐ์ลายสมอเรือ ติดทัดหูกลมที่ตัวโคม แบ่งช่วงผูกอุบะและประดับแบบกนก ชายประดับพุ่มดอกรัก และอุบะสร้อยสน

โคมฝรั่ง
โครงสร้างเป็นรูปวงกลมหลายขนาด มีแกนกลางเชื่อมติดกันแต่ละชั้น ชั้นล่างมีวงกลมซ้อนกัน 2 วง ตัวโคมร้อยด้วยดอกรักผูกเป็นสายให้ได้จังหวะ ส่วนบนเป็นรูปโค้งมน ติดด้วยดอกรัก ห้อยอุบะตุ้งติ้งที่ขอบบน และชั้นที่ 2 ชั้นล่างสุดห้อยอุบะตุ้งติ้งสามแถว ตามขอบวงกลมทุกชั้นเดินสวนด้วยดอกรัก

โคมหวด
โครงสร้างตัวโคมเป็นรูปหวดนึ่งข้าว ปากหวดเป็นรูปดาว 6 แฉก พร้อมฝาถักตาข่ายดอกพุดที่โครงสร้างรูปหวด ถักตาข่ายห้อยอุบะตุ้งติ้ง ส่วนบนใช้ดอกรักประดับ ตามมุมห้อยอุบะไทย ตกแต่งด้วยเฟื่องกนกมน ติดทัดหูกลม ส่วนล่างประดับด้วยดอกรัก ห้อยชายด้วยอุบะไทยทรงเครื่อง และรัดข้อมาลัยซีก

พวงกลาง
โครงสร้างรูป 6 แฉก มีวงกลมซ้อนข้างใน 2 วง ร้อยอุบะดอกชบาประดิษฐ์ด้วยดอกรัก เป็นสายลดหลั่นกัน ส่วนรูปดาวอุบะลดหลั่นกันเป็นสามเหลี่ยมหน้าช้าง ตามมุมประดับด้วยอุบะสร้อยสน และติดทัดหูกลม ส่วนบนร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบ ประดับอุบะสร้อยสน

กระเช้าทิพย์มาลี
โครงสร้างกระเช้าเป็นรูปดาว 6 แฉก รัศมีเป็นรูปดาว 16 กลีบ ตัวกระเช้าย่อส่วนจากกระเช้าสีดา รัศมีติดแบบให้สีอ่อน-แก่ผูกติดกระเช้า ส่วนกลางของรัศมีร้อยดอกรักต่อกันแบบประดิษฐ์ รูปสมอเรือ ส่วนล่างประดับด้วยอุบะ แบบประดิษฐ์รูปสมอเรือซ้อนกัน

ได้รู้จักเครื่องแขวนดอกไม้สดรูปแบบต่างๆ กันไปแล้ว ต้องขอขอบคุณเจ้าของผลงานทุกคนที่ร่วมแบ่งปันผลงาน

 

 

 

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ ของ เปิดเรือนพี่หมื่น ‘เครื่องแขวนดอกไม้สด’ ของแต่งบ้านในอดีต ทั้งหอมและประณีต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook