รีวิว Sony Ericsson Xeperia X1 พีดีเอโฟนสไตล์โซนี่

รีวิว Sony Ericsson Xeperia X1 พีดีเอโฟนสไตล์โซนี่

รีวิว Sony Ericsson Xeperia X1 พีดีเอโฟนสไตล์โซนี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มาถึงพีดีเอโฟนรุ่นใหญ่จากค่าย โซนี่ อีริคสัน อย่าง 'Xeperia X1' ที่ทีมงานคาดว่าจะยังคงจุดเด่นที่ด้านกล้องและเสียงเพลงตามสไตล์ของโซนี่ อีริคสันอยู่เช่นเดิม พร้อมเพิ่มคีย์บอร์ด QWERTY แบบ 4 แถวมาเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน โดยตัวเครื่องได้ใช้โรงงานผลิตเดียวกับ เจ้าตลาดพีดีเอโฟนตอนนี้ อย่างเอชทีซี ซึ่งล่าสุดทางโซนี่ อีริคสัน ได้ออกมาประกาศแล้วว่าในรุ่นต่อๆไปจะไม่ใช้โรงงานเอชทีซีในการผลิต ดังนั้นเครื่องรุ่นนี้อาจจะเป็นรุ่นแรกและรุ่นสุดท้ายที่ทางเอชทีซีจะผลิตให้กับทาง โซนี่ อีริคสัน การหันมาเข้าสู่ตลาดพีดีเอโฟนอย่างเต็มตัว ตามหลังซัมซุงที่เปิดขาย 'ออมเนีย' ไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา อาจจะเกิดจากกระแส ไอโฟนฟีเวอร์ ที่ทำให้ต้องหันมาทำตลาดมือถือที่สามารถใช้ทัชสกรีนได้อย่างจริงจัง ซึ่งนักวิจารณ์ในต่างประเทศต่างลงความเห็นว่า Xeperia X1 เป็นพีดีเอโฟนที่มีความสมบูรณ์ในหลายๆด้านมากที่สุด จนยกให้เป็นพีดีเอโฟนแห่งปีกันเลยทีเดียว Feature On Sony Ericsson Xeperia X1 เริ่มกันที่ หน้าตาการใช้งานเบื้องต้นกันก่อน สำหรับ Xeperia X1 จะมีอินเตอร์เฟสการใช้งานที่เรียกว่า 'X Panel' ที่สามารตั้งได้ว่าจะใช้งาน พาเนลในแต่ละแบบ ได้ถึง 9 แบบด้วยกัน การทำงานของพาเนล จะเรียกใช้งานจากปุ่ม X Panel บริเวณด้านล่างของปุ่มกด เมื่อกดแล้วจะมีหน้าต่างให้เลือกเพื่อใช้งาน โดยสามารถตั้งให้แสดงเป็นแบบ 9 ช่อง หรือแบบสไลด์เลือกด้านข้าง จากการกดปุ่มกลมๆ บริเวณด้านซ้ายล่างของหน้าจอ และกดปุ่มทางขวาล่างเพื่อเข้าสู่การตั้งค่าพาเนลทั้งหลาย ซึ่งพาเนลจะมีให้เลือกตามลักษณะการใช้งาน โดยพาเนลที่คุ้นตากันดีอย่างหน้าจอ Today ของวินโดวส์ โมบาย ยังคงเป็นหน้าจอหลักในการทำงานอยู่เช่นเดิม โดยไม่สามารถเลือกเปลี่ยนออกจากพาเนลได้ พาเนลต่อมาคือ 'Sony Ericsson Panel 1' และ 'Sony Ericsson Panel 2' ที่มีการวางโครงสร้างคล้ายๆกัน คือ มีวันที่อยู่บริเวณมุมซ้ายบน ต่อด้วยนาฬิกาขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางหน้าจอ ปุ่มลัดเข้าสู่หน้าจอ ข้อความ และ บันทึกการสนทนา อยู่ทางด้านขวา ส่วนด้านล่างของนาฬิกา จะมีแถบให้เลือกเปิด - ปิด โหมดการใช้งานต่างๆ ได้แก่ โหมดเครื่องบิน, การใช้งานไวไลส, บลูทูธ, โทรศัพท์ และ เปิด-ปิด เสียง แถวต่อมาจะเป็น ตารางนัดหมาย และ สิ่งที่ต้องทำ สำหรับ Sony Ericsson Panel 2 จะมีจุดที่แตกต่างกับ 1 เล็กน้อยคือ มีตารางปฎิทิน และ ปุ่มลัดสำหรับเรียกใช้งานโปรแกรมเพิ่มเข้ามา ในจุดนี้ผู้ใช้งานสามารถปรับตั้งค่าต่างๆของหน้าจอได้โดยการกดปุ่ม Option บริเวณมุมขวาล่างของจอ ที่เลือกเปลี่ยน สี รูปแบบนาฬิกา สภาพอากาศในแต่ละเมือง แสดง Rss Feed ได้จาก 10 ที่ รวมถึงการปรับแต่งปุ่มลัดในการใช้งานต่างๆอีกด้วย พาเนลที่ผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะเคยเห็นจากโฆษณา คือ 3D Fish Panel หรือ พาเนลนาฬิกา ที่มีปลาทองมาแหวกว่ายอยู่บนหน้าจอ สามารถจิ้มที่ตัวปลาให้ว่ายน้ำไปมาได้ด้วย โดยหลักการทำงานคล้ายๆกับสกรีนเซิฟเวอร์นั่นเอง ถัดมาคือ พาเนลสำหรับโชว์รูปภาพ Slideshow Panel โดยจะทำงานคล้ายกับสไลด์โชว์ และ พาเนลสารพัดประโยชน์จากกูเกิล Google Panel ที่เป็นการเรียกใช้งานบริการต่างๆของกูเกิล อย่างเช่น Gmail, Maps, ปฏิทิน และ รูปภาพ พาเนลสำหรับการใช้งาน มัลติมีเดีย ก็มีเช่นเดียวกัน เริ่มจากที่อธิบายง่ายๆ จะเป็น XeperiaRadio Panel สำหรับฟังวิทยุ FM ที่การใช้งานยังคงต้องใช้หูฟังในการรับสัญญาณเช่นเดิม หน้าจอการใช้งานจะมีปุ่มเปลี่ยนช่องและปรับคลื่นอยู่ตรงกลาง ปุ่มสำหรับเพิ่มลดเสียงอยู่ในแถวถัดมา ส่วนแถวสุดท้ายจะมีปุ่มเลือกให้เสียงออกทางลำโพงหรือหูฟัง และ ปุ่มเปิด - ปิด วิทยุ พาเนลสำหรับมัลติมีเดียอีกอันหนึ่งคือ Media Xperiance Panel จะมีลักษณะคล้ายๆกับที่อยู่ใน PSP คือเป็นหน้าจอที่สามารถใช้ดูรูป เล่นเพลง วิดีโอ เกม รวมไปถึงใช้ดูรายชื่อผู้ติดต่อได้อีกด้วย ซึ่งจะพูดถึงรายละเอียดทีหลัง สำหรับพาเนลหลักๆที่มีมากับ Xeperia X1 ก็จะมีเท่านี้ ส่วนพาเนล เสริมอย่าง SPB Mobile Shell, Facebook Panel และ Dashwire Panel ที่เป็นบริการรับฝากข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต เหล่านี้สามารถโหลดเพิ่มเติมได้ ข้อเสียของพาเนลนั้นเมื่อกดปุ่มแล้วจะใช้เวลานิดหน่อยในการเรียกโปรแกรมขึ้นมาใช้งาน รวมไปถึงไม่สามารถ สับเปลี่ยนไปมาระหว่างพาเนลปกติ กับ พาเนลมีเดียได้ เพราะถ้าสับแล้วจะเหมือนการปิดโปรแกรมเล่นเพลงไปเลยนั่นเอง หลังจากเรียนรู้ถึงอินเตอร์เฟสการใช้งานของ Xeperia X1 ไปแล้ว มาดูในส่วนของการใช้งานกล้องกันบ้าง เมื่อกดใช้งานผ่านชอตคีย์ด้านขวาของเครื่อง จะพบกับโปรแกรมกล้องในแนวนอน โดยจะมีหน้าตาเรียบง่ายต่อการใช้งานมากๆ จากด้านซ้ายบนจะบอกถึงจำนวนรูปที่สามารถถ่ายได้ ความละเอียดของรูป และ หน่วยความจำที่ใช้ ส่วนทางด้านขวาจะเป็นแถบคำสั่ง ไล่จากบนลงมาคือ ย้อนกลับสำหรับปิดโปรแกรมกล้อง โหมดดูรูป โหมดถ่ายภาพนิ่ง และ โหมดวิดีโอ อยู่ตรงกลาง ซึ่งในการเลือกโหมดสามารถใช้ Optical Joystick ในการเปลี่ยนได้เช่นเดียวกับการสัมผัสหน้าจอ ส่วนล่างสุดจะเป็นปุ่มตั้งค่า ส่วนตรงกลางล่างจะมีบอกสถานะต่างๆที่เปิดใช้งาน เช่น รูปแบบของฉาก จุดโฟกัส ไฟแฟลช ฯลฯ ในส่วนของโหมดตั้งค่าเบื้องต้น จะมี Scenes ให้เลือกทั้งหมด 6 แบบ ด้วยกันคือ Auto, Portrait. Lanscape, Twilight, Sports และ Document ถัดมาจะมีให้เลือกจุดโฟกัส 4 แบบด้วยกันคือ Touch, Auto, Macro และ Infinite ต่อมาคือการเปิด - ปิด แฟลช และ รูปแบบการถ่ายภาพ ธรรมดา หรือ ต่อเนื่อง ถ้ากดปุ่มลูกศรลงทางขวามือจะเข้าสู่การตั้งค่าโดยละเอียด แบ่งออกเป็น General ที่ใช้เลือกว่าจะใช้กล้องด้านหลัง หรือ กล้องด้านหน้า ตั้งเวลาถ่าย โชว์รูปที่ถ่าย เลือกหน่วยความจำที่ใช้ เริ่มนับภาพใหม่ และ รีเซ็ตค่าทั้งหมด โดยกล้องด้านหน้าจะมีความละเอียดระดับ QVGA เท่านั้น Photo จะมีให้ปรับ White balance, Effect, ความละเอียดของรูปตั้งแต่ 3MP / 2MP / 1MP / VGA / QVGA, คุณภาพของรูป Fine/Normal/Economy, ภาพแบบไวด์สกรีน, เสียงชัตเตอร์, วันทีและเวลา, ตั้ง Scene ปกติ , ตั้งโหมดถ่ายรูปปกติ และ ตั้งโฟกัสปกติ Video จะสามรถตั้ง White balance, Effect, ความละเอียดของวิดีโอ VGA / QVGA, ภาพแบบไวด์สกรีน, เปิดไมค์, ตั้ง Scene ปกติ , ตั้งโหมดถ่ายรูปปกติ และ ตั้งโฟกัสปกติ จุดเด่นของกล้องรุ่นนี้คงอยู่ที่ สามารถเลือกจุดโฟกัสด้วยการสัมผัสบนหน้าจอ ทำให้สามารถถ่ายรูปได้หลากหลายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ออโต้โฟกัสเสมอไป แต่ปัญหาคงอยู่ที่เวลาถ่ายภาพใช้เวลาในการโฟกัสนานกว่าปกติ ทำให้ผู้ถ่ายต้องมือนิ่งๆ นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานกล้องหน้าในการถ่ายภาพได้ด้วย ส่วนภาพทีได้ออกมาถือว่ามีคุณภาพตามสไตล์ของโซนี่ อีริคสัน แน่นอน จากนั้นมาทำความรู้จักกับ Media Xperiance Panel หรือโปรแกรมควบคุมมัลติมีเดียภายในเครื่องกัน ในหน้าจอหลักของพาเนลนี้จะประกอบไปด้วย โปรแกรมดูรูป, เล่นเพลง, เล่นวิดีโอ, เล่นเกม และ รายชื่อผู้ติดต่อ เมื่อเข้ามาภายในโปรแกรมเล่นเพลง จะแบ่งประเภทตามหลักทั่วๆไป แต่น่าเสียดายที่ไม่รองรับภาษาไทย ซึ่งการทำงานคล้ายกับโปรแกรมเล่นเพลงทั่วๆไป ส่วนหน้าจอการเล่นวิดีโอ จะมีแถบคำสั่งในการควบคุมแทน และรายชื่อผู้ติดต่อจะแสดงผลคล้ายกับรายชื่อเพลงคือ ชื่อของแต่ละบุคคลพร้อมเบอร์โทรศัพท์สามารถใช้คำสั่งโทรออกได้จากในพาเนลนี้อีกด้วย ในเรื่องของเสียงเพลง แม้ว่าจะมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร พร้อมกับหูฟังแบบ In-Ears แต่เสียงที่ขับออกมาฟังแล้วจะลอยๆ ไม่มีเสียงเบสดังออกมาแม้แต่น้อย ช่วงเสียงกว้างพอใช้ ซึ่งถ้านำไปเทียบกับโทรศัพท์ในตระกูลวอล์กแมนโฟนอื่นๆ ของโซนี่ อีริคสัน ถือได้ว่าน่าผิดหวัง สำหรับหน้าจอโทรศัพท์เมื่อกดปุ่มโทรออก หรือเข้าเมนู Phone จะปรากฏปุ่มตัวเลขขนาดใหญ่สามารถใช้นิ้วกดได้โดยไม่ต้องพึ่งปากกาสไตลัส รูปแบบการใช้งานจะคล้ายคลึงกับโปรแกรมโทรศัพท์ของเอชทีซี ในหน้าจอขณะโทรฯ จะมีปุ่มเรียกการใช้งานต่างๆตั้งแต่ เปิดลำโพง ปิดเสียง สมุดบันทึก รายชื่อผู้ติดต่อ ปุ่มตัวเลข และ ปุ่มวางสายขนาดใหญ่ แน่นอนว่าเจ้า Xeperia X1 นั้นรองรับระบบวิดีโอคอลด้วยแต่ ผู้เขียนยังไม่สามารถทดลองใช้ให้ชมได้เนื่องจากไม่ได้ใช้เครือข่ายของเอไอเอส (ในปีหน้าคาดว่าจะมีการทดลองใช้ระบบ 3G ในกรุงเทพฯ ให้ชมแน่นอน) Program And Setting สำหรับโปรแกรมที่มากับตัวเครื่อง มีตามมาตรฐานทั่วไป จะมีเพิ่มเข้ามาคือพวก Dashwire กับ Handango InHand ที่เป็นบริการเสริมซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการใช้งาน ส่วนโปรแกรมสำหรับภาษาไทยอย่าง ThaiWinCE ที่ใส่เพิ่มมาให้แล้วยังเพิ่ม CN HalfScreen Keyboard ที่เป็นคีย์บอร์ดภาษาไทย ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติมาให้ใช้งานกันด้วย จากในรูปด้านซ้ายจะเป็น CN HalfScreen Keyboard ส่วนทางด้านขวาคือ เลย์เอาท์ภาษาไทยบนคีย์บอร์ดของ Xeperia X1 ที่สามารถกดเปลี่ยนภาษาโดยปุ่ม Fn (ปุ่มสีเหลี่ยมสีฟ้า) + Q การใช้งานคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษ ถือว่าใช้งานได้ง่าย แต่เมื่อใช้งานภาษาไทยจำเป็นต้องใช้งานให้เคยชินเพราะ ปุ่มคีย์บอร์ดแถวบนทั้งหมดจะต้องใช้ควบคู่กับปุ่ม Fn ซึ่งคิดว่าถ้าใช้งานสักระยะเวลาหนึ่ง จะสามารถใช้ได้อย่างคล่องตัว แน่นอนว่าเบราว์เซอร์อย่าง โอเปร่า ยังคงได้รับความนิยมในพีดีเอโฟนอยู่เช่นเดิม การแสดงผลบนหน้าจอขนาด 480 x 800 ให้ผลดีเกินคาด สามารถอ่านเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น แม้จะยังเทียบกับเน็ตบุ๊กไม่ได้ แต่ก็แลกมากับความสะดวกสบายในการพกพา เกมที่แถมมากับตัวเครื่องนอกจาก Solitaire กับ Bubble Breaker แล้วทางโซนี่ อีริคสัน ยังได้ใส่ Bejeweled 2 และ Sudoku มาให้ด้วย การใช้งานถือว่าลื่นไหลดี อาจจะมีกระตุกบ้างเวลาที่ได้คอมโบเยอะๆ แต่ไม่ถึงกับเสียอารมณ์ ถือว่าใช้เล่นฆ่าเวลาได้ดีเลยทีเดียว สำหรับระบบนำทางอย่าง GPS ใช้ชิปเซ็ตจาก Qualcomm เช่นเดียวกับเครื่อง HTC หลายๆรุ่นในปัจจุบัน เนื่องจากผลิตจากโรงงานเดียวกัน โปรแกรมอย่าง QuickGPS ที่เห็นในเอชทีซี จึงมีให้เห็นใน Xeperia X1 ด้วย การทดลองใช้งานผ่านกูเกิลแม็ป ใช้เวลาค้นหาสัญญาณไม่เกิน 1 นาที หลังจากใช้โปรแกรม QuickGPS ในการช่วยระบุพิกัด จุดเสียสำหรับ Xeperia X1 ในด้าน GPS จะอยู่ที่ไม่มีโปรแกรมใช้งานมาให้ด้วย เหมือนกับที่เอชทีซีที่แถมแผนที่จาก Garmin XT ให้ ดังนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องหาโปรแกรมนำทางมาติดตั้งเพื่อใช้งานเอง ทีนี้มาดูกันในส่วนของการตั้งค่าต่างๆของเครื่องบ้าง ในหน้าจอการตั้งค่าจะเห็นโปรแกรมที่แตกต่างจากมาตรฐานพีดีเอโฟนทั่วไปอยู่ 3 จุดคือ Ilumination, Optical Joystick และ Spb Mobile Shell การตั้งค่าของ Optical Joystick จะสามารถเลือกเปิด - ปิดการใช้งาน ตั้งให้ปุ่มนี้สามารถประยุกต์ใช้งานในโปรแกรมต่างๆ รวมไปถึงปรับระดับความเร็วในการรับสัมผัส ส่วน Ilumination จะเป็นไฟแสดงสถานะต่างๆของเครื่อง ยกตัวอย่างเช่นเวลาชาร์จแบต ไฟจะเป็นสีแดง เวลามีสายเข้าจะเป็นไฟสีเขียว เมื่อเรียกใช้งาน X Panel จะเป็นไฟสีรุ่ง ส่วน Spb Mobile Shell จะมีหลังจากลงพาเนล Spb เพิ่มเข้าไป ใช้ในการกำหนดค่าต่างๆของหน้าจอ Spb ในส่วนของการเชื่อมต่อ เริ่มตั้งแต่ Comm Manager ที่สามารถเลือกเปิด-ปิดการใช้งานการเชื่อมต่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ บลูทูธ ไวไฟ และ Data Connection (GPRS/EDGE) สำหรับการเชื่อมต่อผ่านยูเอสบี สามารถเลือกให้ทำงานในโหมด ActiveSync ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านโปรแกรม Outlook หรือ Disk Drive สำหรับการโอนถ่ายข้อมูลลงในหน่วยความจำภายนอก สำหรับรายละเอียดต่างๆของเครื่องที่แสดงผลใน About และ Device Information จะพบว่าเครื่องรุ่นนี้ใช้ Windows Mobile 6.1 Professional ซีพียู Qualcomm 7200A ความเร็ว 528MHz Ram ขนาด 256MB Rom ขนาด 512 MB บลูทูธ 2.0/EDR เวอร์ชันของ ROM ที่ใช้จะเป็น 1.02.931.3 Design of Sony Ericsson Xeperia X1 ในเรื่องของดีไซน์ ด้วยความที่ตัวเครื่องถูกผลิตออกมาจากโรงงานเอชทีซี ทำให้สื่อในต่างประเทศนำไปเปรียบเทียบกับ HTC Touch Pro ที่มีคีย์บอร์ดแบบ QWERTY แต่ความจริงแล้วการดีไซน์ทั้งหมดของเครื่องรุ่นนี้ทางโซนี่ อีริคสันเป็นผู้ออกแบบเอง ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการดีไซน์ที่มีคุณภาพเป็นอย่างดี ตัวเครื่องมีขนาด 110.5 x 52.6 x 17 มิลลิเมตร น้ำหนัก 158 กรัม อาจจะหนาและหนักไปนิดสำหรับมือถือในปัจจุบัน แต่ก็แลกมาด้วยคีย์บอร์ดแบบ QWERTY ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน และวัสดุที่แข็งแรง ตัวเครื่องจะมีให้เลือกด้วยกัน 2 สี คือ สีดำ และ สีเงิน ซึ่งเครื่องที่ทางทีมงานได้มาทดสอบนั้นจะเป็นเครื่องสีดำ จุดเด่นแรกที่เห็นได้คือหน้าจอ WVGA ความละเอียด 480 x 800 พิกเซล ขนาด 3 นิ้ว ทำให้ตัวเครื่องดูยาวกว่าปกติ สังเกตทางด้านบนของหน้าจอ จะพบกับช่องสนทนา และกล้องวิดีโอคอลอยู่ทางด้านซ้าย ส่วนทางด้านขวาจะเป็นเซนเซอร์วัดระดับแสง ด้านล่างของหน้าจอจะพบกับปุ่มควบคุม โดยตรงกลางจะเป็นที่อยู่ของ Optical Joystick ฝั่งซ้าย จะมีซอฟต์คีย์ปุ่มแรก ปุ่มโทรออก และ X panel ส่วนทางฝั่งขวาจะมี ซอฟต์คีย์ปุ่มที่สอง ปุ่มวางสาย และปุ่มตกลง การดีไซน์ในส่วนของซ้ายละขวาจะมีลักษณะคล้ายตัว 'X' ตามชื่อของรุ่น ในการใช้งานจะพบบว่าปุ่มมีขนาดเล็กและติดกันทำให้ใช้งานไม่ค่อยสะดวกเท่าที่ควร เมื่อสไลด์หน้าจอไปทางขวา จะพบกับคีย์บอร์ด QWERTY แบบ 4 แถว โดยปุ่มแต่ละปุ่มจะมีการเว้นช่องไฟ เพื่อให้กดได้สะดวกมากขึ้น แม้จะไม่มีการสกรีนคีย์บอร์ดเป็นภาษาไทย แต่สามารถใช้งานคีย์บอร์ดภาษาไทยได้จากการกดปุ่ม Fn + Q ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น หลังจากทำการสไลด์หน้าจอออกมาจะสังเกตได้ว่าหน้าจอจะมีการเอียงขึ้นเล็กน้อย รับกับสายตา ทางด้านซ้ายจะมีเพียงช่องเสียบมินิยูเอสบี อยู่บริเวณด้านบน และ มีช่องลำโพงอยู่บริเวณด้านล่างตรงส่วนที่ลึกลงไป ทางด้านขวาจะมีปุ่มปรับระดับเสียงอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างจะเป็นปุ่มลัดในการเรียกใช้งานกล้อง ด้านบนจะมีปุ่มเปิด - ปิดเครื่อง ช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร และ ที่เก็บปากกาสไตลัสซ่อนอยู่ ส่วนด้านล่างจะมีเพียงช่องร้อยสายโทรศัพท์เท่านั้น ด้านหลัง จะมีสัญลักษณ์และตัวอักษรของโซนี่ อีริคสันอยู่ รวมไปถึงชื่อตระกูล Xperia และ รุ่น X1 อยู่บนฝาปิดแบตเตอรี่ ทางด้านบนจะมีกล้องความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล และไฟแฟลชอยู่ การเปิดฝาหลังทำได้โดยการใช้เล็บจิกลงไประหว่างช่องของตัวเครื่องและฝาหลังทั้ง 2 ฝั่ง เมื่อเปิดขึ้นมาจะพบกับแบตฯ Li-Polymer ขนาด 1500mAh ถือว่าขนาดใหญ่กว่าพีดีเอโฟนหลายๆรุ่นในปัจจุบัน เมื่อถอดแบตออกจะพบช่องใส่ซิมการ์ดอยู่บริเวณด้านล่าง ส่วนช่องใส่ไมโครเอสดี จะอยู่บริเวณด้านข้าง สามารถถอดใส่ได้โดยไม่ต้องถอดแบตเตอรี่ ส่วนปุ่ม Reset ต้องสังเกตบริเวณขอบของด้านหลังเครื่องแถวๆที่เก็บปากกาสไตลัสจะมีรูอยู่ จำเป็นต้องดึงปากกาสไตลัสออกมาก่อนถึงจะเห็นปุ่ม Reset บทสรุป ในเรื่องของดีไซน์ต้องถือว่าโซนี่ อีริคสันทำออกมาได้ดี วัสดุที่ใช้ดูแข็งแรงทนทาน แต่เนื่องจากมีสไลด์คีย์บอร์ดด้วยทำให้ส่วนของหน้าจอดูหลวมๆ การใช้งานด้วยมือข้างเดียวสามารถทำได้อย่างสบายๆ เนื่องจากตัวเครื่องมีลักษณะแคบแต่ยาว นอกจากนี้ยังน่าเสียดายที่ไม่มีระบบ Accelerometer มาช่วยในการหมุนหน้าจอ แต่ใช้การตรวจจับจากการสไลด์คีย์บอร์ดแทน สำหรับหน้าจอ X Panel ถ้าไม่นับความสามารถทางด้านมัลติมีเดียแล้วถือว่าอยู่ในระดับธรรมดาๆ เพราะการเรียกใช้งานจะมีลักษณะหน่วงๆ ไม่ทันใจ ทำให้เครื่องดูช้า ซึ่งถ้าไม่นับในส่วนดังกล่าว โดยรวมแล้วเครื่องตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี จาก Ram ขนาด 256 MB ทำให้สามารถใช้งานหลายๆโปรแกรมพร้อมกันได้ การใช้งานด้านโทรศัพท์ถือว่าทำได้ดี ตัวเลขปุ่มกดใหญ่ ทำให้ใช้งานได้ง่าย เสียงสนทนาชัดเจน ส่วนเรื่องของการเชื่อมต่อไม่ว่าจะเป็นบลูทูธ ไวไฟ จีพีเอส เท่าที่ทดลองใช้ไม่มีอาการงอแงให้เห็น ทำงานได้อย่างราบลื่น ในส่วนของช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร อาจจะเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนหูฟังมาใช้งาน รวมไปถึงช่วยให้สามารถใช้งานวิทยุเอฟเอ็มได้ แต่เสียงที่ขับออกมาจากเครื่องยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรเสียงที่ได้ออกมาจึงไร้มิติ มีแค่เสียงแหลมทุ้มไร้เสียงเบส ด้านการใช้งานดูภาพยนต์ความละเอียดสูงยังไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่นัก ทดลองจากไฟล์ความละเอียด 720 x 480 ผ่านโปรแกรมอย่าง Core Player ยังมีอาการกระตุกและหน่วงให้เห็น ส่วนไฟล์ภาพยนตร์สำหรับเครื่องเล่นพกพาขนาดปกติยังทำงานได้ดี เรื่องของกล้องภาพที่ได้จากการถ่ายถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเลยทีเดียว จากการที่สามารถกำหนดจุดโฟกัสได้จากการจิ้มหน้าจอ แต่จะแลกมากับการประมวลผลที่ใช้เวลานานขึ้นในการจับโฟกัส ส่วนการถ่ายวิดีโออยู่ที่ขนาด VGA ที่ 30 เฟรมต่อวินาที ด้านของเวลาการใช้งาน จากการทดลองใช้งานทั่วๆไป ฟังเพลงวันละประมาณ 2 ชั่วโมง เล่นอินเทอร์เน็ต 1 ชั่วโมง ใช้งานโทรศัพท์ประมาณ 1 ชั่วโมง จะอยู่ได้ประมาณ 2 วัน แต่ถ้าใช้งานเครื่องหนักๆ อย่างฟังเพลงตลอดเวลาจะอยู่ได้ประมาณ 10 ชั่วโมง ถือได้ว่า Xperia X1 เป็นพีดีเอโฟนอีก 1 รุ่นที่มาพร้อมกับความสามารถต่างๆอย่างครบครันทีเดียว สำหรับราคาเปิดตัวที่ 29,900 บาท ถือว่าแพงเอาเรื่อง ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้งานคีย์บอร์ด ลองมองหารุ่นที่ประสิทธิภาพเท่ากันในราคา 2 หมื่นนิดๆ ยังมีอยู่ในตลาดหลายรุ่น แต่ถ้าต้องการใช้งานคีย์บอร์ด พร้อมกับหน้าจอขนาด 3 นิ้ว เครื่องรุ่นนี้จะสามารถตอบโจทย์ของคุณได้เป็นอย่างดี ขอชม - หน้าจอ WVGA ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 480 x 800 - การเชื่อมต่อที่ครบครัน 3G ไวไฟ บลูทูธ จีพีเอส - ช่องเสียบหูฟัง ขนาด 3.5 มม. - กล้องความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลชและระบบออโต้โฟกัส ขอติ - การทำงานของ X Panel ที่มีอาการหน่วงขณะใช้งาน - โหมดกล้องประมวลผลได้ค่อนข้างช้า - คีย์บอร์ด QWERTY แบบ 4 แถว ทำให้ใช้งานภาษาไทยได้ยาก (ถ้าใช้งานภาษาอังกฤษอย่างเดียวถือว่าดี) รีวิวโดย: http://www.manager.co.th/

สนับสนุนข้อมูลโดย...

อัลบั้มภาพ 37 ภาพ

อัลบั้มภาพ 37 ภาพ ของ รีวิว Sony Ericsson Xeperia X1 พีดีเอโฟนสไตล์โซนี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook