โปรดใช้วิจารณญาณในการ - Click คลิก

โปรดใช้วิจารณญาณในการ - Click คลิก

โปรดใช้วิจารณญาณในการ - Click คลิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เคยไหม ?...นั่งเช็คอีเมล์ในกล่อง Inbox ทีไร วันดีคืนดี จะมี Forward Mail ส่งต่อขอความช่วยเหลือสารพัดรูปแบบ วนๆ เวียนๆ เข้ามาหา FW: ลูกหาย!!! : ช่วย Forward ต่อด้วยนะคะ.... FW: ต้องการเลือดกรุ๊ป O ด่วน ช่วยชีวิตพี่ชาย.... FW: ช่วย forward ด้วย เด็กจะได้รับเงินบริจาค 11 เซ็นต์ต่อ 1 เมล์ Fw: ช่วยกันส่งต่อ เป็นการทำบุญ 1 ชีวิต หัวข้อขอความช่วยเหลือทำนองนี้ มีให้เห็นกันบ่อยๆ ยิ่งถ้า Forward Mail ไหน มีภาพ หรือข้อความสะเทือนใจ ถ้าไม่ทำอะไรก็รู้สึกตัวเองจะ "ใจดำ" เกินไปหน่อย...ช่วยๆ เขาหน่อย แค่ฟอร์เวิร์ดต่อ ก็ยังดี ทันใดนั้น เมล์ฉบับที่ว่า จะยิ่งถูกส่งต่อ ส่งต่อ และส่งต่อ กันไปเรื่อยๆ แต่สักกี่คนจะรู้ว่าเพียงแค่ "คลิกเดียว" ของคุณ ที่ส่งต่อ Forward Mail ขอความช่วยเหลือออกไป อาจเป็นได้ทั้ง "คุณ" และ "โทษ" จากเรื่องใกล้ตัว ที่หลายคนไม่ทันได้ฉุกคิด.... คลิกเดียว...เป็นเรื่อง ทันทีที่เปิดอ่านอีเมล์ขอความช่วยเหลือฉบับหนึ่ง ว่า มีคุณแม่คนหนึ่ง ตั้งครรภ์เป็นพิษ ต้องการขอรับบริจาคเลือดด่วน! หญิงสาวผู้หวังดี ไม่รอช้า รีบส่งเมล์ถึงเพื่อนๆ ในลิสต์รายชื่อภายในออฟฟิศทันที ใครจะคิดว่า เพียงแค่ "คลิกเดียว" ในวันนั้น จะก่อเรื่องปวดหัว วุ่นวาย ตามมาไม่หยุด เพราะเมล์เจ้ากรรม ยังถูกส่งต่อๆ ไปอย่างไม่ยั้ง แม้เหตุการณ์นี้ จะผ่านไปถึง 2 ปี แล้วก็ตาม "แค่คลิกครั้งเดียวนี่แหละ ส่งถึงคน 40 คนในบริษัท แต่จำขึ้นใจเลยค่ะ...เพราะทุกวันนี้ ยังมีคนโทรศัพท์เข้ามา อีเมล์เข้ามาถามอยู่เรื่อยๆ บางทีงานยุ่งๆ ก็ปวดหัวเหมือนกัน ไม่รู้จะทำยังไง แก้ยังไง ก็แก้ไม่จบ เพราะเมล์ฉบับนั้น ไม่มีใครไปหยุดมันได้" หญิงสาวผู้หวังดี ไม่ประสงค์ออกนาม แต่ยินดี เล่าเรื่องของเธอ ไว้เป็นเคสอุทาหรณ์ ตัวเธอเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ตอนนั้น ด้วยความหวังดี อยากจะช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อนจริงๆ พออ่านเมล์แล้ว เลยส่งต่อให้เพื่อนๆ และคนในบริษัทอีก 40 คน แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทุกครั้งที่คลิกส่งอีเมล์ถึงกันภายในบริษัท จะถูกตั้งค่าไว้อัตโนมัติ ด้านท้ายจะแนบนามบัตรติดโลโก้ของบริษัท พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ตามติดไปกับอีเมล์ด้วย จากที่คิดว่าส่งกันเฉพาะเป็นการภายในให้กับคนในออฟฟิศด้วยกัน แต่ "น้ำใจที่ปลายนิ้ว" ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะมันถูกส่งกระจายออกไปภายนอกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บางคนอ่านแล้วหวังดี ยิ่งเห็นว่า อีเมล์นี้มีต้นทางจากคนในบริษัทที่น่าเชื่อถือ เลยช่วยเอาข้อความไปโพสต์ไว้ตามกระทู้ต่างๆ ตามเว็บประดามีในอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์สายแล้ว สายเล่า กริ๊งกร๊างโทรเข้ามาสอบถามไม่หยุดหย่อน เรื่องวุ่นๆ จึงไม่จบแค่โดนคนในบริษัทต่อว่า จนต้องชี้แจงกันยกใหญ่ เพราะเมล์ที่ถูก Forward ต่อๆ กันไป บางครั้งมีผู้หวังดีอื่นๆ ต่อเติม หรือดัดแปลงข้อความ จนเลยเถิด ยุ่งกันใหญ่ เพี้ยนไปจนถึงขั้นเกิดการเข้าใจผิดว่า คนที่ป่วย คือ ตัวเธอเอง ตอนหลังเพิ่งมารู้ทีหลังว่า ผู้หญิงคนนั้นเขาเสียชีวิตมา 5 ปีได้แล้ว แต่ตอนที่ได้รับเมล์ขอความช่วยเหลือนั้น ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จบแล้วหรือยัง แค่คิดว่าเราอยากจะช่วย เธอ เล่าว่า ทุกวันนี้ อีเมล์ขอความช่วยเหลือลักษณะนี้ ยังมีเข้ามาเรื่อยๆ และเยอะมาก บางเมล์บอกว่า เด็กป่วยเป็นโรคนั้น โรคนี้ ถ้าช่วยคลิก หรือส่งต่อ จะได้รับเงินบริจาคเท่านั้นเท่านี้ ด้วยนิสัยคนไทย จะมีน้ำใจชอบช่วยเหลือกันอยู่แล้ว และส่วนใหญ่คนจะสนใจที่หัวข้อและเนื้อหาที่ส่งมา มากกว่าที่จะย้อนไปดูว่า เมล์นี้ ถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ยอมรับว่า ช่วงแรกๆ เข็ดไปเลย ไม่กล้า Forward Mail ขอความช่วยเหลืออย่างนี้อีก แต่จริงๆ มันเป็นช่องทางหนึ่งที่ดีนะ ที่คนในสังคมช่วยเหลือกันได้ หลังๆ ตัวเองเลยใช้วิธีสกรีนมากขึ้น ถ้าจะ Forward Mail ต่อ จะดูว่าเรื่องนี้ มันจริงมั๊ย และจบไปหรือยัง หรือส่งมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เธอ ให้แง่คิด การส่งต่อขอความช่วยเหลือผ่าน Forward Mail เป็นช่องทางการสื่อสารที่มีอานุภาพสูง...แต่ถ้าจะให้ดีต้องใช้ให้ถูกวิธี และมีวิจารณญาณ "ตราบาป" ไม่เจตนา เดี๋ยวนี้ ช่องทางออนไลน์ เป็นช่องทางหนึ่ง ที่คนในสังคมใช้ช่วยเหลือกันมากขึ้น ทั้ง Forward Mail ประกาศตามหาคนหาย ตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดต่างๆ เช่น เคยมีเคสของเด็กถูกลักพาตัว ที่โพสต์ในเว็บพันทิป ก็มีคนตื่นตัว เข้ามามีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส กันเยอะมาก ธิติมา หมีปาน หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา เล่า 5 ปีของการเปิดตktohome.org ทำหน้าที่ทั้งเฝ้าระวัง และช่วยเหลือติดตามคนหาย ผ่านช่องทางออนไลน์ เธอ พบปัญหาว่า บ่อยครั้งที่การส่งต่อเคสความช่วยเหลือ ผ่าน Forward Mail บางเคสแม้จะตามหาจนพบแล้ว แต่ Forward Mail นั้น ก็จะยังคงถูกส่งต่อไปไม่รู้จบ กรณียิ่งถ้าเป็นเด็กผู้หญิงที่หายออกจากบ้าน พอเมล์ถูกส่งแพร่ไปในระบบ มักจะโดนคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะบุคคลคนใกล้ชิดที่ทราบข่าว จะคิดต่อ หรือมองไปในทางเสียหาย แล้วว่า ทำไมถึงหายออกจากบ้าน ครอบครัวมีปัญหา หรือถูกล่อลวง ไปในทางที่ไม่ดี ซ้ำร้ายกว่านั้น กรณีถ้าเด็กถูกล่อลวง หรือโดนข่มขืน และมีข่าวออกมาภายหลัง นั่นหมายถึง ภาพของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ที่เคยถูกส่ง Forward Mail ไปก่อนหน้านี้ จะมีคนรู้จักไปทั่วเพราะถูกส่งว่อนแล้วในระบบอินเทอร์เน็ต เคยมีเคสหนึ่ง เป็นเด็กผู้ชายติดเกมส์ หนีออกไปจากบ้าน ครอบครัวก็เอารูป และข้อความไปโพสต์ตั้งกระทู้ประกาศตามหา ในเว็บต่างๆ ตอนหลังหาตัวเด็กเจอแล้ว แต่มีเพื่อนของน้องคนนี้ ที่ไปอ่านเจอกระทู้ในอินเทอร์เน็ต แล้วก็เอามาล้อ จนเด็กรู้สึกอาย และไม่อยากไปโรงเรียน บางครั้ง ในบางกรณี จึงเหมือนกับเป็น "ตราบาป" หรือประวัติติดตัว...เพราะเจตนาดีแท้ๆ ในเว็บไซต์ของเรา จะมีฐานข้อมูลผู้สูญหาย และมีเว็บบอร์ดให้คนเข้ามาตั้งกระทู้ และขึ้นรูปภาพ แต่ถ้าเป็นกรณีเด็กผู้หญิง เราพยายามจะไม่เอารูปขึ้น เพราะว่าจะมีผลกระทบเมื่อเด็กกลับมาแล้ว ตอนนี้ เราอยู่ระหว่างพูดคุยกันในทีม ว่ารูปแบบ Forward Mail ที่ดี ควรต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง เป็นไปได้มั๊ย ที่จะมีการจัดระบบขึ้นมา ถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมหาข้อมูลได้ที่ไหน หรือเวลาเด็กหาย ครอบครัวจะส่งเมล์หรือโพสต์ประกาศตามหา แต่เวลาหาเจอแล้ว อาจจะไม่เคยมีการส่งข้อมูลอีกว่า หาเจอแล้วนะ เคสนี้จบแล้ว ธิติมา เล่า บูมเมอแรงของความช่วยเหลือ Forward Mail อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชีวิตในโลกออนไลน์ แต่มุมหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือ ที่คนไม่ค่อยมองถึง คือ ผลข้างเคียง ที่เป็นบูมเมอแรง ส่งกลับไปยังคนที่ได้รับการช่วยเหลือ รุ่งฟ้า เกียรติพจน์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารภาพลักษณ์องค์กรและการสื่อสารการตลาด บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่า เพราะหลายคนมักจะมองเพียงว่า ฉันช่วยแล้ว ฉันให้เงินไปแล้ว คือ ช่วยแล้วก็จบกัน หลังจากนั้นไม่เกี่ยวกับฉันแล้ว ถ้ายังพอจำกันได้ ต้นปี 2550 ภาพยนตร์โฆษณาชุด "ปาติหาน" ของ "ทรู" เรื่องราวของเด็กชายตัวเล็กๆ ที่ ส่งอีเมล์ขอความช่วยเหลือ ใครมีปาติหานบ้างครับ ผมมีเงินเก็บ 80 บาท น้องของผม ไม่สะบายมาก... กระแสที่เกิดขึ้นหลังโฆษณาชุดนั้น ออกอากาศ ฟอร์เวิร์ดเมล์นับไม่ถ้วน รวมถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็ไหลบ่าเข้ามากระทบความรู้สึกของ "คนทำงาน" เข้าอย่างจัง จนต้องลุกขึ้นมาเปิดเว็บไซต์ในชื่อ helplink.net เป็นสื่อกลาง จุดนัดพบของคนให้ และคนรับ ที่เชื่อในพลังของการช่วยเหลือ เว็บน้องใหม่นี้เพิ่งจะเปิดตัวได้ 2 เดือน แต่ระหว่างขลุกตัวอยู่กับเคส Forward Mail ขอความช่วยเหลือสารพัดรูปแบบ ทำให้ทั้งรุ่งฟ้า และทีมงาน มองเห็นอะไรบางอย่าง เป็นแง่มุมที่น่าสนใจใต้ปรากฏการณ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่เคสที่ได้รับ Forward มา เมื่อเราโทรกลับไปเช็คประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเสียชีวิตไปหมดแล้ว ยกตัวอย่างเคสหนึ่ง คุณแม่เขาเสียไปประมาณปีกว่าแล้ว แต่เมล์นั้นก็ยังถูก Forward ในระบบอยู่ และเจ้าตัวเขาต้องคอยรับโทรศัพท์ที่คนโทรเข้ามาจะช่วยเหลือวันละหลายสิบสาย เพื่อที่จะตอบซ้ำๆ ว่า คุณแม่ผมเสียไปแล้ว รุ่งฟ้า เล่าว่า เจอเคสอย่างนี้ค่อนข้างมาก คือ เคสจบไปแล้ว แต่ยังคงได้รับการส่งต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ล่องลอยอยู่ในระบบ กำจัดได้ไม่หมด เพราะไม่รู้ว่ากระจายไปอยู่ที่ไหนบ้าง จึงจุดประกายความคิดที่ว่า น่าจะต้องมีใครสักคน ลุกขึ้นมาจัดระเบียบความช่วยเหลือออนไลน์ ให้คนที่อยากช่วยเหลือ ได้ช่วยอย่างสบายใจ ส่วนคนที่ต้องการขอความช่วยเหลือ ก็มีจุดนัดพบมาเจอกันบน helplink.net ส่วนหนึ่งในเว็บของเรา จะมีพื้นที่แจ้งข่าวว่า เคสไหนที่จบไปแล้ว คุณมาฝากข่าวไว้ได้ Forward Mail ฉบับนั้นๆ มันจะได้หยุดสักที บางครั้งทุกคนตั้งใจดี แต่เมื่อไม่มีการจัดการตรงนี้ กลับยิ่งทำให้คนที่ถูกช่วยเหลือ กลับยิ่งเป็นทุกข์ไปอีก คนที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัว เขาจะหลุดทุกข์ไม่ได้ บางคนอาจจะไม่รับโทรศัพท์ หรือเปลี่ยนเบอร์ใหม่ไปเลย แต่ก็มีบางคน ที่ยังต้องคอยรับโทรศัพท์เพื่อตอบคำถามเดิมๆ อีกหลากหลายปัญหาของการ Forward Mail ที่พบ เช่น ให้รายละเอียดข้อมูลไม่เพียงพอ อยาะช่วยแต่ไม่รู้จะติดต่ออย่างไร และเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ จบไปแล้วหรือยัง บางเคส น่าเสียดายที่การให้ความช่วยเหลืออาจช้าเกินไป ถ้ามีใครสักคนที่มีความพร้อม ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างทันการณ์ตั้งแต่ทีแรก...บางทีปาฏิหาริย์ก็อาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่านี้ จัดระเบียบ "น้ำใจ" ทั้งๆ ที่รู้ว่าการส่ง Forward Mail ขอความช่วยเหลือ อาจจะย้อนกลับมาสร้างภาระกับคนส่ง ในระยะยาว แต่ก็เป็นความหวัง และวิธีที่หลายคนเลือกใช้ เพื่อรอคอยปาฎิหาริย์ ที่เกิดจากความช่วยเหลือของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่คงจะดีกว่านี้ ถ้ามีวิธีที่จะช่วยให้ปาฏิหาริย์แห่งการช่วยเหลือมีโอกาสเป็นจริง เร็วขึ้น ดีขึ้น มีระบบ ระเบียบมากขึ้น โดยไม่เพิ่มภาระกับคนที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นที่ผ่านมา รุ่งฟ้า อธิบายถึงวิธีจัดการ เพื่อสร้างชุมชนออนไลน์ ศูนย์กลางความช่วยเหลือของคนในสังคม ที่ดีไซน์ผ่านหน้าเว็บ helplink.net ไว้อย่างชัดเจน มีทั้งส่วนที่แบ่งตามหมวดหมู่ความช่วยเหลือไว้ตามความเร่งด่วนของแต่ละเคส เช่น เคสช่วยด่วน ที่เกี่ยวกับคนป่วยหนัก คนหาย ภัยธรรมชาติ , เคสช่วยกันให้ชื่นใจ ที่จะเป็นการระดมความช่วยเหลือทั่วไป เช่น ช่วยเด็กด้อยโอกาสที่ต้องผ่าตัดหัวใจ , และเคสช่วยให้กำลังใจ เธอ เล่าว่า เคสที่ขอความช่วยเหลือต่างๆ ผ่านหน้าเว็บไซต์ จะต้องผ่านการสมัคร และสกรีนจาก 14 มูลนิธิพันธมิตร เช่น ศูนย์บริหารโลหิต สภากาชาดไทย มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ สภาสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งอย่างน้อย จะเป็นด่านหนึ่งในการคัดกรอง รวมทั้งรูปแบบการเปิดบัญชี จะต้องจ่ายผ่านมูลนิธิ ไม่ใช้การเปิดบัญชีตรงส่วนตัว บางคน ถ้าความช่วยเหลือหลั่งไหลเข้ามา ถ้ามีปัญหาใช้เงินไม่เป็น จะเกิดปัญหา เช่น โดนญาติหลอก หรือบางคน เคสจบแล้ว แต่ไม่ยอมจบ ยังขอความช่วยเหลือต่ออย่างนี้ก็มี เราเลยพยายามทำหน้าที่เป็นเวที ให้คนเชื่อมั่น ช่วยเหลือได้สบายใจ บริจาค หรือช่วยเหลือได้เต็มที่ แต่ส่วนที่เป็นพื้นที่แสดงความเห็นบนเว็บบอร์ด เราจะเขียนข้อความไว้เลยว่า กรุณาใช้วิจารณญาณในการพิจารณาด้วยตัวเอง เพราะมันอาจจะมีเคสที่มั่วเข้ามาโพสต์บ้าง ซึ่งเราไม่สามารถไปควบคุมได้ นอกจากนี้ ทางทีมงานจะมีการอัปเดตความเคลื่อนไหว ว่าเคสความช่วยเหลือไหนที่จบแล้ว หรือจบแล้วเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงวางระบบสมัครสมาชิก ต้องล็อกอินเข้ามา จึงสามารถดึงเอาเคสจากในเว็บ ไปช่วย Forward ต่อ โดยรูปแบบเนื้อหา จะบอกเพียงข้อมูลเบื้องต้น และสร้างลิงค์ให้เข้ามาดูต่อบนเว็บไซต์ "อยากบอกว่า ในสังคมออนไลน์ คุณสามารถช่วยคนได้อีกหลายร้อยคน เพราะบางครั้งเงินก็ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญ แต่อาจจะเป็นคำพูดดีๆ ให้กำลังใจ ที่คุณมอบให้ เข้ามาโพสต์ นั่นก็เหมือนกับได้ช่วยคนอื่นๆ ไปด้วย" รุ่งฟ้า ว่าอย่างนั้น การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงทำอะไรได้อีกหลายอย่าง มากกว่าแค่การ "คลิก" เดียวจบ และถ้าคิดจะ "คลิก" ก็ควรคลิกอย่างมีวิจารณญาณ

สนับสนุนข้อมูลโดย...

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ โปรดใช้วิจารณญาณในการ - Click คลิก

โปรดใช้วิจารณญาณในการ - Click คลิก
โปรดใช้วิจารณญาณในการ - Click คลิก
โปรดใช้วิจารณญาณในการ - Click คลิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook