เยาวชนไอทียังรอผู้เอื้ออารีสนับสนุน

เยาวชนไอทียังรอผู้เอื้ออารีสนับสนุน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ถ้าคุณยังจำโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยหรือสคูลเน็ตได้ ก็แสดงว่าเด็กไทยของเรายังมีความหวังในการพัฒนาความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเราจำโครงการนี้ไม่ได้ โอกาสที่เด็กๆ จะได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุน ก็ลดน้อยลงไปหากโครงการต่างๆ ที่มุ่งยกระดับความรู้ด้านไอทีให้กับเยาวชนของชาติขาดการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ อนาคตของประเทศเราก็ท่าจะแย่ไม่ต้องไปคิดแข่งกับใครให้เมื่อยหรอกครับ ดังนั้นหากมีโครงการดีๆ ที่ทำเพื่อเยาวชน เราก็น่าจะให้การสนับสนุน อย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ สคูลเน็ตเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2538 ภายใต้การดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค จนกระทั่งมีการปฏิรูประบบราชการ มีการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งทำให้โครงการต่างๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย สคูลเน็ตก็เช่นเดียวกัน มีการเปลี่ยนมือจากเนคเทคไปอยู่ในเครือข่ายเพื่อการศึกษาแห่งชาติหรือ EdNet ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการขยายโอกาสในการเรียนรู้ไปสู่เยาวชนให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น แต่จะทำได้แค่ไหนนั้น อยู่ที่ฝีมือของผู้บริหาร EdNet ล้วนๆ แล้วล่ะครับ แต่ก่อนที่ทางสคูลเน็ตจะถูกรวมเข้ากับ EdNet ทางเนคเทคและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดทำโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ความรู้สำหรับ ห้องสมุดดิจิตอล ขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการสร้างเนื้อหาในเครือข่ายที่มีลักษณะเป็นห้องสมุดเสมือน มีระบบดัชนีเรียกค้นและเครื่องมือช่วยค้นหา ทำให้ครูและนักเรียนสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนหรือใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างบทเรียนอื่นๆได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้นำทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ โครงการห้องสมุดดิจิตอลนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไม่ว่าจะมาจากโรงเรียนเดียวกันหรือต่างโรงเรียนได้รวมกลุ่มกันสร้างผลงานเข้าประกวด แบ่งเป็นกลุ่มละ 2-6 คน จำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยกลุ่มโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ เมื่อทางคณะทำงานส่งจดหมายเชิญไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางเนคเทคก็ต้องทำงานหนักในการคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้ามาให้เหลือ 100 กลุ่มในรอบแรกและคัดให้เหลือไม่เกิน 16 กลุ่มในรอบสุดท้าย ระดับละ 8 กลุ่ม จากนั้นทั้ง 16 กลุ่มจะมานำเสนอผลงานต่อหน้ากรรมการ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหาผู้ชนะเลิศ 3 รางวัลที่เหลือจะเป็นรางวัลชมเชยอีก 5 รางวัล (รายละเอียดโครงการดูได้บนเว็บไซต์ของโครงการฯ) หากใครได้ดูผลงานของเด็กระดับประถมและมัธยมที่ส่งเข้าประกวด ก็อดจะปลื้มใจไม่ได้ที่เด็กๆ เหล่านี้ มีฝีมือและความคิดสร้างสรรค์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี บางกลุ่มมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคไม่แพ้นักศึกษาระดับปริญญาตรีเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทางคณะกรรมการได้เน้นในการประกวดครั้งนี้ก็คือ เนื้อหาและความคิดสร้างสรรค์ ของผลงาน มากกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อฝึกให้เด็กเหล่านี้ "คิดเป็น" ไม่ใช่จะต้องเก่งแต่เทคนิคหรือการนำเสนอเท่านั้น หากพวกเขาได้รับการฝึกฝนด้านกระบวนการทางความคิดอย่างถูกต้อง เขาก็จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรม ไม่ใช่คนที่ทำตามคำสั่งซื้อเท่านั้น หากคุณผู้อ่านสนใจที่จะชมผลงานของเด็กๆ คนเก่งเหล่านี้นอกจากจะเข้าไปดูที่เว็บห้องสมุดดิจิตอลแล้วก็สามารถไปชมการนำเสนอของผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายได้ที่งานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 9.00 - 17.00 น. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ครับ ประเด็นสำคัญคือหลังจากเด็กๆ นำเสนอผลงานผ่านงานมหกรรมฯ ครั้งนี้แล้ว เวทีต่อไปของพวกเขา ใครจะสร้างให้ เพราะโครงการห้องสมุดดิจิตอลก็ปิดโครงการอย่างสมบูรณ์แล้ว หากมีผู้ใจบุญ หรือองค์กรที่เอื้ออารีเห็นความสำคัญของการส่งเสริมด้านไอทีให้เด็กไทย จำนวนมากให้การสนับสนุน ก็เท่ากับช่วยเปิดโอกาสในการเรียนรู้ ลดปัญหาการใช้เวลาว่างอย่างเปล่าประโยชน์ของเด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย เป็นการสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมและประเทศอีกทางหนึ่งโครงการลักษณะนี้จะมีต่อไปหรือไม่ คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาครัฐฝ่ายเดียว ภาคเอกชน ภาคประชาชน น่าจะมีบทบาทในการส่งเสริมเยาวชนไอทีของไทยให้เป็นเด็กอัจฉริยะเช่นกัน ถ้าช่วยกันอย่างนี้ เด็กเราสู้เด็กต่างชาติได้แน่ครับ ขอขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook