จากไร่นาสู่ท้องทะเล: การอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อปกป้องโลกและการทำมาหากินพื้นถิ่น

จากไร่นาสู่ท้องทะเล: การอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อปกป้องโลกและการทำมาหากินพื้นถิ่น

จากไร่นาสู่ท้องทะเล: การอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อปกป้องโลกและการทำมาหากินพื้นถิ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Apple จับมือกับ Applied Environmental Research Foundation เพื่อร่วมกันส่งเสริมการปกป้องและอนุรักษ์ป่าชายเลนในรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย

พียง 90 กว่ากิโลเมตรทางตอนใต้ของเมืองชายฝั่งอันมีชีวิตชีวาอย่างมุมไบ ในรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ก็จะเหมือนสองโลกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จากเมืองอันคึกคักไปด้วยตึกระฟ้า ร้านอาหาร โรงแรม ย่านการค้า และรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งขวักไขว่เคียงข้างไปกับรถยนต์อันทันสมัย ก็จะกลายเป็นถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยต้นปาล์ม แพะ วัวเทียมเกวียน และตลาดกลางแจ้งพร้อมด้วยร้านอาหารเล็กๆ

ในเขต Raigad ของรัฐมหาราษฏระ เมือง Alibaug เป็นเมืองที่เชื่อมต่อเมืองมุมไบกับสาขาของแม่น้ำซึ่งไหลลงสู่ทะเลอาหรับ โดยพื้นที่ชายฝั่งซึ่งเต็มไปด้วยป่าชายเลนขนาด 210 ตารางกิโลเมตรนี้ เป็นหนึ่งในปราการธรรมชาติที่ช่วยปกป้องโลกจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีทั้งการเกิดมรสุมแบบไม่อาจคาดเดาได้ คลื่นที่สูงขึ้น พายุไซโคลน หรือพายุเฮอร์ริเคน และแม้กระทั่งสึนามิ พร้อมกับทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนซึ่งช่วยในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ และเก็บกักเอาไว้ในรูปแบบชีวมวลและการตกตะกอนในชั้นดิน ที่เรียกกันว่าบลูคาร์บอน 

Applied Environmental Research Foundation (AERF) ซึ่งได้รับรางวัลจาก Apple เมื่อปี 2021 กำลังทำการสำรวจพื้นที่โดยมีแผนจะปกป้องอนาคตของพื้นที่ป่าชายเลนเหล่านี้ ด้วยการสร้างอุตสาหกรรมทางเลือกที่ยั่งยืนในชุมชนท้องถิ่นของย่านนี้ เพื่อปลูกฝังและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและความสามารถในการฟื้นคืนสภาพของระบบนิเวศป่าชายเลน โดยข้อตกลงในการอนุรักษ์จะมอบความช่วยเหลือแบบยั่งยืนแก่ชาวบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนกับการอนุรักษ์ผืนดิน และการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจท้องถิ่นไปสู่ระบบที่จะพึ่งพาการรักษาป่าชายเลนให้อยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ 

apple-earth-day-india-mangrov

AERF ยังจะนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโปรเจ็กต์นำร่องเรื่องบลูคาร์บอนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (Conservation International) ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2018 มาใช้ด้วย

"การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการต่อสู้เพื่อชุมชนทั่วโลก ซึ่งทั้งชีวิตและการทำมาหากินถูกคุกคามมากที่สุดจากวิกฤตการณ์นี้ และเป็นที่ซึ่งเรากำลังมุ่งเน้นเข้าไปทำงานด้วย ตั้งแต่โคลัมเบียไปจนถึงเคนยาและฟิลิปินส์" Lisa Jackson รองประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อม นโยบาย และโครงการริเริ่มทางสังคมของ Apple กล่าว "ความร่วมมือใหม่ของเราในประเทศอินเดียเป็นการรักษาความก้าวหน้านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ชุมชนได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อปกป้องผลกระทบอันเลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

Archana Godbole ผู้อำนวยการของ AERF เป็นผู้ที่รักธรรมชาติมาตั้งแต่เยาว์วัย "พืชเป็นตัวแทนของวัยและเวลา" เธอบอก "และต้นไม้ก็เป็นตัวแทนของความอดทน เป็นผู้เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของเวลาอยู่อย่างเงียบๆ ซึ่งยิ่งฉันศึกษาและเข้าใจเรื่องต้นไม้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ฉันรู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้นเท่านั้น ประสบการณ์ที่ซึมซับอยู่ในตัวฉันทำให้ฉันอยากทำงานเพื่ออนุรักษ์และรักษาต้นไม้และผืนป่า" 

apple-earth-day-india-mangrov_1

Godbole ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาทางด้านการเป็นนักอนุกรมวิธานด้านพืช มีความเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ในชุมชนมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดย AERF กำลังทำข้อตกลงด้านการอนุรักษ์กับชุมชนในเขต Raigad ที่ต้องสูญเสียพืชผลและพื้นที่เพาะปลูกที่เคยอุดมสมบูรณ์เนื่องมาจากการรุกล้ำของน้ำเค็ม และการพังทลายของพนังกั้นน้ำซึ่งมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา

"ผู้คนที่นี่และบรรพบุรุษต่างก็เป็นชาวไร่ชาวนา แล้วจู่ๆ มหาสมุทรก็รุกคืบเข้ามาที่หน้าประตูบ้าน" Godbole เล่า "แต่ผู้คนก็ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ของตนเอง ซึ่งตอนนี้เราทุกคนต่างรู้แล้วว่า ป่าชายเลนมีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงมีความสุขมากที่ได้เข้ามายังที่แห่งนี้ และพยายามร่วมมือกับชาวบ้านที่นี่ เพื่อดูว่าป่าชายเลนจะเอื้อประโยชน์แก่พวกเขาได้อย่างไร ซึ่งเราหวังว่าสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับผืนดินและป่าชายเลนจะค่อยๆ ปลูกฝังเข้าไปในจิตใจของทุกคน" 

ด้านล่างคือโฉมหน้าของชาวบ้านเหล่านี้ และเรื่องราวเล็กๆ ของความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเมื่อต้องเจอกับภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศในชุมชนที่เป็นบ้านของผู้คนจำนวนมาก

apple-earth-day-india-mangrov_2

Karanjveera เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ลึกเข้ามาจากชายฝั่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวไร่ชาวนาและชาวประมงรวมถึงครอบครัวของพวกเขา ที่ปกติยังชีพด้วยการจับปูและกุ้งตัวเล็กๆ Namdev Waitaram More เป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้านและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิถีการประมงแบบดั้งเดิม ในวัย 75 ปี เขาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเคียงข้างกับป่าชายเลนมาตลอดทั้งชีวิต และเคารพในคุณสมบัติการปกป้องของป่าที่ทำให้น้ำเค็มไม่รุกล้ำเข้ามาในไร่นาของตนเอง 

ตอนนี้ More และญาติพี่น้องของเขากำลังช่วยกันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านคนอื่นๆ กับ AERF เพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องลุ่มน้ำเค็มและการอนุรักษ์ป่าชายเลนในหมู่บ้าน "ป่าชายเลนทำหน้าที่เหมือนเป็นฟองน้ำ" เขาบอก "ผู้คนที่นี่ต่างก็มีความเชื่อมโยงกับป่าชายเลน ถ้าป่าชายเลนหมดไป พนังกั้นน้ำของเราก็จะหายไป และไร่นาของเราก็จะหมดไปด้วย ทั้งอาหาร พนังกั้นน้ำ และป่าชายเลนของเรา ต่างก็ต้องเชื่อมโยงกัน เราจึงจะมีชีวิตรอด" 

apple-earth-day-india-mangrov_3

Usha และลูกชายของเธอ Tushar Thakur เป็นชาวนาจาก Hashiware หมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำ Amba ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำเค็มท่วมนับตั้งแต่พนังกั้นน้ำในท้องที่แตกไปเมื่อปี 1990 ตอนนี้ที่ดินได้กลายมาเป็นป่าชายเลน แต่เศษซากของอดีตยังคงกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีบ้านร้างหลายหลังโผล่ขึ้นมาจากโคลนตมห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเข้าไปสองสามเมตร โดย Thakur เป็นหนึ่งในชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่เซ็นข้อตกลงการอนุรักษ์ร่วมกับ AERF เพื่อปกป้องป่าชายเลน

ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา ป่าชายเลนได้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของชาวไร่ชาวนาใน Hashiware

"จากการทำงานของเราและความตื่นตัวในเรื่องความสำคัญของป่าชายเลน" Godbole จาก AERF ให้อรรถาธิบาย "และโอกาสในการสร้างกิจกรรมที่ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เราได้มอบความหวังให้กับชุมชนบริเวณชายฝั่งในเขต Raigad"

apple-earth-day-india-mangrov_4

พลังของป่าชายเลนในการปกป้องหมู่บ้านริมชายฝั่งเพิ่งได้แสดงออกมาให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ โดยหลังจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลครั้งใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่ทำให้เกิดสึนามิต่อเนื่องกันหลายครั้ง และส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลตะวันออกของอินเดียในปี 2004 ผู้คนก็เริ่มตระหนักว่า ป่าชายเลนเป็นผู้พิทักษ์ชุมชนอยู่เงียบๆ ด้วยการดูดซับแรงกระแทกจากคลื่นขนาดมหึมา และปกป้องหมู่บ้านที่อยู่ถัดออกมา โดยในช่วงหลายปีก่อน ภูมิภาคนี้ได้พบกับพายุไซโคลนที่รุนแรงบ่อยขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่นพายุ Nisarga ในปี 2020 และพายุ Tauktae ในปี 2021 ครอบครัวของชาวบ้านในเขต Raigad จึงต่างก็กำลังปกป้องป่าชายเลน และในขณะเดียวกันก็เป็นการปกป้องความเป็นอยู่และการทำมาหากินของตนเองด้วย 

ที่หมู่บ้าน Ganesh Patti ชาวไร่ชาวนาตกลงที่จะดูแลรักษาพนังกันน้ำตามจำนวนที่มีอยู่ ซึ่งแยกพื้นที่เพาะปลูกออกจากป่าชายเลนและชายฝั่งแม่น้ำ แต่การดูแลรักษาเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะตามคำบอกเล่าของชาวประมงท้องถิ่น Mangesh Patil ผู้ซึ่งบ้านของเขาในตอนนี้ต้องถูกทิ้งอยู่ท่ามกลางป่าชายเลน คลื่นลมแรงและกระแสน้ำที่สูงขึ้นกำลังนำไปสู่การพังทลายทีละเล็กละน้อยในที่สุด

แต่สำหรับทุกคนในหมู่บ้านที่หายไปนี้ ดูเหมือนว่าทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน 

"ขณะที่เราต่างกำลังหลับอยู่" Patil เล่า "คลื่นสูงก็ถาโถมเข้ามา และจู่ๆ น้ำก็ท่วมเข้ามาจนทำให้ที่นอนของเราเปียกโชกไปด้วยน้ำ และในตอนเช้า เราก็ตระหนักได้ว่าหมู่บ้านของเราถูกน้ำท่วมจนหมดแล้ว"

เมื่อน้ำลดลง ทุกครอบครัวต่างก็ประจักษ์ถึงความสูญเสียของที่ดินและการทำมาหากินของตนเอง ทุกคนต่างรู้ว่าต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ หลังจากโยกย้ายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ผู้คนจำนวนมากรวมทั้ง Patil และน้องชายของเขาก็ตัดสินใจที่จะกลับไปเยี่ยมบ้านเก่าอย่างต่อเนื่อง กลับไปยังวัดฮินดูประจำหมู่บ้าน และหาปลาและจับปูในสายน้ำแบบสมัยวัยเยาว์ 

apple-earth-day-india-mangrov_5

"คนเราควรที่จะเรียนรู้การเอาตัวรอดในทุกสถานการณ์ที่ธรรมชาติมอบให้" Patil บอก "นั่นคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ และตอนนี้ก็มีความเชื่อมโยงระหว่างเรากับป่าชายเลนเหล่านี้ นี่คือบ้านเกิดของเรา เราเคยมีความสุขที่นี่ เราจึงต้องกลับมาที่นี่เสมอ"

นอกเหนือจากการให้ทุนแก่ข้อตกลงการอนุรักษ์กับชาวบ้านในท้องถิ่น Apple ยังได้ให้การสนับสนุนในการซื้อและแจกจ่ายเตาชีวภาพแบบเคลื่อนที่ ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถทำอาหารได้โดยไม่ต้องตัดไม้จากป่าชายเลนมาเป็นเชื้อเพลิง

Bhavik Patil ชาวประมงพื้นถิ่นและผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมการทำมาหากินในป่าชายเลนจากหมู่บ้าน Pen Vashi ได้ช่วย AERF นำทางการพูดคุยในหมู่บ้านทั่วทั้งเขต Raigad โดย Patil ยังจำได้ดีถึงวัยเด็กของตนเองซึ่งเกิดมาในครอบครัวชาวประมง และพ่อแม่ของเขาจะผูกชิงช้าเอาไว้ในป่าชายเลนให้เขาและน้องชายเล่นกัน ขณะที่พ่อแม่ออกไปในแม่น้ำ ทุกวันนี้ นอกเหนือจากการหาปลาและปูแล้ว เขายังเป็นหนึ่งในผู้เจรจาต่อรองกับชาวบ้านในหมู่บ้านของตนเอง รวมถึงหมู่บ้าน Mothe Bhal และ Vithalwadi เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนแบบยั่งยืน โดยเพื่อช่วยเสริมการอนุรักษ์ เขาและคู่หูได้ยังขอให้ชาวบ้านเก็บเฉพาะกิ่งไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงมาเองจากต้นไม้อีกด้วย 

apple-earth-day-india-mangrov_6

สำหรับสมาชิกของ AERF การปกป้องป่าชายเลนเป็นยิ่งกว่าหน้าที่การงาน แต่เป็นสิ่งที่ตัวเองหลงใหล โดยทั้ง Godbole และผู้ร่วมก่อตั้ง Jayant Sarnaik ได้ก่อตั้งองค์กรนี้เมื่อ 27 ปีก่อน และก็ยังคงปฏิบัติภารกิจของตนเองอย่างต่อเนื่อง ในการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านทางการเข้าร่วมของผู้คนที่อยู่ในท้องที่

"การสร้างความสามารถในการฟื้นคืนตัวเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นกระบวนต่อเนื่องสำหรับชุมชนที่อยู่ติดทะเล" Sarnaik จาก AERF บอก "เนื่องจากชุมชนเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่บนชายฝั่งมาเป็นเวลานาน พวกเขาจึงเข้าใจท้องทะเลและความสัมพันธ์ระหว่างทะเลกับสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับพวกเขาแล้วไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่พวกเขาได้พบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาแล้วตลอดช่วง 5 ถึง 10 ปีที่ผ่านมา พายุไซโคลนครั้งล่าสุดได้กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้รู้สึกถึงความสำคัญของป่าชายเลน ในฐานะที่เป็นปราการธรรมชาติอันแข็งแกร่งต่อภัยพิบัติเหล่านั้น และยังปลุกความสนใจในเรื่องสำนึกของชุมชนในวงกว้างเกี่ยวกับป่าชายเลนอีกด้วย" 

เช่นที่ Godbole ได้ให้อรรถาธิบายเอาไว้ อนาคตดูมีความหวังเป็นอย่างยิ่ง "การทำงานร่วมกันระหว่าง Apple และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นโอกาสอันดีในการศึกษาว่าการอนุรักษ์ป่าชายเลนและการสร้างประโยชน์ต่อชุมชนนั้นสามารถอยู่ควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างไร" เธอบอก "ถึงแม้ปัญหาการอนุรักษ์ป่าชายเลนจะมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ในพื้นที่โปรเจ็กต์ของเราที่นี่ ก็ยังมีโอกาสอีกมากมาย การฝึกอบรมทีมคนหนุ่มสาวที่กระตือรือร้นรวมทั้งชุมชนท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องบลูคาร์บอน จะช่วยเราได้อย่างแน่นอนในการสร้างความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าชายเลนในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอันมีชีวิตชีวาที่อยู่ริมชายทะเลอาหรับแห่งนี้"

Apple อุทิศตนในการสนับสนุนความพยายามทั่วโลกในการฟื้นคืนสภาพภูมิอากาศ และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปีที่แล้ว บริษัทได้ให้การสนับสนุนโครงการ Irrecoverable Carbon Finance Lab ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อปกป้องระบบนิเวศอันเปราะบางที่สุดในบางแห่งของโลก รวมทั้งได้มอบเงินทุนในการวิจัยและทำโครงการนำร่องเพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติในประเทศจีนร่วมกับ China Green Carbon Foundation และนอกเหนือจากการบริจาคเงินให้แก่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) สำหรับทุกการซื้อผลิตภัณฑ์ Apple ด้วย Apple Pay ที่ Apple Store, ในแอป Apple Store หรือบน apple.com ในช่วงสัปดาห์วันคุ้มครองโลกแล้ว Apple ยังสนับสนุนโปรแกรม Climate Crowd ของ WWF ซึ่งเน้นไปที่ความสามารถในการฟื้นคืนสภาพภูมิอากาศของชุมชน และส่งเสริมการทำมาหากินแบบยั่งยืนอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook