สกีรีสอร์ทในสหรัฐฯ ตั้งเป้าผลิตหิมะแบบประหยัดน้ำ-สู้วิกฤตภัยแล้ง

สกีรีสอร์ทในสหรัฐฯ ตั้งเป้าผลิตหิมะแบบประหยัดน้ำ-สู้วิกฤตภัยแล้ง

สกีรีสอร์ทในสหรัฐฯ ตั้งเป้าผลิตหิมะแบบประหยัดน้ำ-สู้วิกฤตภัยแล้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปริมาณหิมะในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 20% ในศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้หิมะที่มนุษย์สร้างขึ้นกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นในแต่ละปี สำหรับการเปิดสกีรีสอร์ทและเติมเชื้อเพลิงให้กับเศรษฐกิจเมืองสกีในขณะที่กำลังก้าวเข้าสู่อนาคตที่ไม่มีความแน่นอน

ผลกระทบจากภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมสกีต้องลงทุนหลายล้านดอลลาร์ไปกับระบบการผลิตหิมะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางคำถามที่ว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการใช้พลังงานและน้ำอย่างชาญฉลาดหรือไม่

ออเดน เชนเลอร์ (Auden Schendler) รองประธานอาวุโสฝ่ายความยั่งยืน ของ Aspen Skiing Company ในรัฐโคโลราโดกล่าวว่า ถ้าเลือกได้ ก็ไม่ต้องการไม่ต้องการที่จะผลิตหิมะ เนื่องจากผลกระทบต่างๆ มากมาย แต่เศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจของเมืองสกีทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินธุรกิจของสกีรีสอร์ท ดังนั้น การสร้างหิมะจึงเป็นสิ่งเลวร้ายที่จำเป็นต้องทำ

ทั้งนี้ การสร้างหิมะมีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ แต่วิธีการนี้ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้นในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ หลังจากเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วงปลายทศวรรษ 1970 โดยข้อมูลของสมาคมสกีรีสอร์ทแห่งชาติในโคโลราโดระบุว่า ราว 87% ของรีสอร์ทบนเทือกเขาสูง 337 แห่งของสหรัฐฯ ล้วนแต่ผลิตหิมะเอง

รีสอร์ทหลายๆ แห่งสูบน้ำจากลำธารหรืออ่างเก็บน้ำในบริเวณใกล้เคียง และโดยทั่วไปแล้วจะใช้ลมอัดและไฟฟ้าเพื่อเป่าหิมะให้เป็นกองบนทางลาดเมื่ออากาศเย็น กองหิมะเหล่านั้นจะกระจายไปยังชั้นฐานที่ช่วยให้รีสอร์ทสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นฤดูหนาวจนถึงตลอดฤดูใบไม้ผลิ

เควิน ไรน์ (Kevin Rein) วิศวกรของรัฐและผู้อำนวยการกองทรัพยากรน้ำโคโลราโดกล่าวว่า การวิเคราะห์สกีรีสอร์ทส่วนใหญ่ในโคโลราโดพบว่า การผลิตหิมะนี้ ต้องใช้น้ำปีละประมาณ 1,500 ล้านแกลลอน (6,800 ล้านลิตร) ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอที่จะเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกได้ประมาณ 2,200 สระเลยทีเดียว

ปริมาณน้ำดังกล่าวฟังแล้วอาจจะดูเหมือนมาก แต่ ไรน์ กล่าวว่าการผลิตหิมะมีสัดส่วนน้อยกว่าหนึ่งในสิบของ 1% ของการใช้น้ำในรัฐ โดยการเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 85% ยิ่งไปกว่านั้น น้ำประมาณ 80% ที่ใช้ในการผลิตหิมะจะกลับคืนสู่แหล่งต้นน้ำเมื่อหิมะละลายในฤดูใบไม้ผลิ

ไรน์กล่าวอีกว่า การผลิตหิมะได้รับการยอมรับจากศาลว่า เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับรัฐโคโลราโด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในโคโลราโดอีกด้วย

แต่แพทริค เบลมอนท์ (Patrick Belmont) ศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ลุ่มน้ำแห่งมหาวิทยาลัย Utah State กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ มีการใช้พลังงานจำนวนมากในระหว่างการทำหิมะ และน้ำจำนวนมากจะสูญเสียไปจากการระเหยและการระเหิด ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทีมีน้ำไม่เพียงพอ ทำให้น้ำทุกหยดจึงมีความสำคัญยิ่ง

เบลมอนท์ ซึ่งเป็นนักเล่นสกีตัวยงที่เพิ่งเผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการผลิตหิมะและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในวงกว้าง กังวลว่า หิมะที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งมีความหนาแน่นมากกว่าและละลายช้ากว่าของจริงอาจส่งผลต่อกระแสน้ำไหลได้

ทั้งนี้ มีปลาจำนวนมากที่วางไข่หรือทำกิจกรรมอื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับกระแสน้ำที่ไหลขึ้นหรือลง ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสัญญาณธรรมชาติดังกล่าวสำหรับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม เชนเลอร์ จาก Aspen Skiing Company กล่าวว่า บรรดาสกีรีสอร์ทมีความก้าวหน้าอย่างมากในการผลิตหิมะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

รีสอร์ทหลายๆ แห่งยังได้ลงทุนอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อยกระดับการผลิตหิมะ โดยบางแห่งมีการขุดบ่อกักเก็บน้ำในฤดูใบไม้ผลิเมื่อมีน้ำในปริมาณมาก ในขณะที่บางแห่งก็มองหาการใช้น้ำเสียที่นำกลับมาใช้ใหม่

บริษัท เวล รีสอร์ท (Vail Resorts) ในรัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นเจ้าของสกีรีสอร์ท 37 แห่งในสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย เพิ่งประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 3.6 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการสนับสนุนความยั่งยืนในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการผลิตหิมะแบบประหยัดพลังงาน เช่น การอัพเกรดปืนฉีดหิมะมากกว่า 400 กระบอกทั่วทั้งรีสอร์ทเพื่อปล่อยหิมะให้ได้มากขึ้นโดยใช้พลังงานน้อยลงในเวลาที่น้อยลง

นอกจากการใช้น้ำอย่างประหยัดแล้ว ในพื้นที่เล่นสกียังมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในการใช้ปืนฉีดหิมะ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในรีสอร์ท

โครงการ "Climate Challenge" ที่มีอายุนับสิบปีของสมาคมสกีแห่งชาติ สนับสนุนให้รีสอร์ทต่างๆ จัดทำรายการบัญชีและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนสนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook