“สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ใช้โซเชียลไม่จำเป็นต้องหยาบคาย
โซเชียลมีเดีย ถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมากในชีวิตประจำวันของผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าโซเชียลมีทั้งข้อดี อันได้แก่ เอาไว้ใช้เพื่อติดต่อสื่อสาร ศึกษาหาความรู้ และติดตามความเคลื่อนไหวในสังคม ส่วนข้อเสียก็คือเมื่อเป็นสื่อที่รวดเร็ว มักจะไม่ได้ถูกคัดกรองข้อมูลมาก่อน จนบางครั้งก่อให้เกิดความเข้าใจผิด กระทั่งนำมาสู่ความขัดแย้งได้ ปัจจุบันโลกโซเชียลในสังคมไทย ยังมีอีกสิ่งที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว นั่นก็คือ ความหยาบคายบนโซเชียลมีเดีย
ความหยาบคาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมด้านลบของมนุษย์ อันประกอบด้วย ความหลงตัวเอง ความไร้เมตตา และการเห็นคนอื่นเป็นเหยื่อ ส่วนปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ผู้คนกล้าใช้คำหยาบบนโลกโซเชียลอย่างเปิดเผย ก็คือ การขาดการเผชิญหน้า ปราศจากการสบตากัน ทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีความละอาย และความเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งสามารถระบายความรู้สึกได้ด้วยถ้อยคำที่ออกแนวรุนแรง หยาบคาย ผู้คนจึงแสดงอารมณ์แง่ลบออกมาได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ความหยาบคายบนโซเชียลมีเดีย ยังนับเป็นหนึ่งในพฤติกรรม SMSCF ด้วย ย่อมาจากคำว่า Social Media Self-Control Failure เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ ที่ใช้อธิบายกลุ่มพฤติกรรมทั้งหลาย ที่เบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมหรือเป้าหมายที่ควรจะเป็น อันมีสาเหตุมาจากการติดการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น มัวแต่ติดความบันเทิงจนลืมทำงาน ลืมเรียนหนังสือ รวมถึงลืมวิธีการสื่อสารแบบที่ถูกที่ควร
ผลที่ตามมาจากการใช้คำหยาบบนโลกโซเชียล เป็นเหมือนสารพิษที่ทำลายระบบประสาท ส่งผลต่อสมองไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเครียด ความจำ สมาธิ การตัดสินใจ ความหยาบคายจึงกระทบวิธีคิด การกระทำ และความรู้สึกของคน ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงจนกลายเป็นการด่าทอ เสียดสีกันผ่านตัวหนังสือ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า cyberbullying
cyberbullying คือ “การกลั่นแกล้งกันผ่านโลกไซเบอร์” โดยมีทั้งการใส่ร้ายป้ายสี การส่งต่อข้อมูลลับ หรือการใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อว่าผู้อื่น เพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหาย รู้สึกอับอาย รู้สึกเจ็บปวด และได้รับผลกระทบทางจิตใจ โดยสาเหตุของการเกิด cyberbullying เกือบทั้งหมด มักเริ่มก่อตัวจากความขัดแย้ง ความเห็นต่าง หรือมีข้อพิพาทกันระหว่างคน 2 คน จนลุกลามเป็นชนวนของการรังแกกันต่อในโลกออนไลน์
ดังนั้นเมื่อเห็นเหตุและผลที่ตามมาของการใช้คำหยาบบนโลกโซเชียลแล้ว ก็อย่าทำให้คำหยาบกลายเป็นเรื่องปกติหรือเรื่องธรรมดาไป ไม่ใช่ว่าคนหยาบคือคนไม่ดี แต่การเป็นคนไม่หยาบย่อมดูสุภาพและน่าสนทนาด้วยมากกว่า อย่างไรก็ดีจงจำให้ขึ้นใจตามสุภาษิตโบราณที่ว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” การใช้โซเชียลก็ไม่จำเป็นต้องหยาบคายด้วยเช่นกัน