วิเคราะห์ทิศทาง เมื่อ Apple หันมาทำผลิตภัณฑ์ราคาถูกลง ดึงผู้ใช้เข้าระบบนิเวศน์ตัวเองมากขึ้น!
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2013 หรือราว 7 ปีที่แล้ว Tim Cook, CEO ของ Apple เคยให้สัมภาษณ์กับทาง Bloomberg ไว้ว่า “เราไม่เคยคิดที่จะทำสินค้าราคาถูกออกมา เป้าหมายของ Apple คือการสมาร์ตโฟนที่มอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และเราได้หาวิธีที่จะทำให้ราคานั้นถูกลงได้” ซึ่งจริง ๆ แล้วแนวคิดของ Tim Cook สะท้อนความเป็น Apple ตั้งแต่สมัย Steve Jobs ยังอยู่ด้วยโครงสร้างสำคัญ 4 อย่าง ได้แก่
- ไม่เน้นสินค้าจำนวนเยอะ
- เน้นผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์
- ให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าส่วนแบ่งตลาด
- สร้างจุดเด่นให้ผู้ใช้งานหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของ Apple
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน Apple จะมีคู่แข่งมากมาย แต่บริษัทก็พยายามเพิ่มความต้องการของตลาดในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่าน ความแตกต่าง ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของ Apple มีเอกลักษณ์และดึงดูดผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
วิศัยทัศน์ของ Jobs คือการสร้างผลิตภัณฑ์ชั้นยอดพร้อมราคาระดับพรีเมียมเสมอ ถึงแม้ว่าสินค้าที่ถูกที่สุดของ Apple จะไม่ถูกมากนัก แต่ประกอบกับการออกแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มั่นใจได้ว่าผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีเยี่ยม
แต่ถึงอย่างนั้น นักวิเคราะห์มองว่าปัจจุบัน Apple กำลังประสบปัญหาเรื่องการสร้าง “แรงบันดาลใจ” ที่ไม่เหมือนเดิม และเนื่องจากคู่แข่งอย่าง Android กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มราคาถูก รวมถึงเทคโนโลยีที่อยู่ในจุดอิ่มตัวมาสักพัก ทำให้ Apple เสี่ยงที่จะกลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มไฮเอนด์เท่านั้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาราคาของสมาร์ตโฟนโดยเฉพาะค่ายมือถือจีนสามารถทำสมาร์ตโฟนราคาถูกออกมาได้พร้อมสเปกและเทคโนโลยีที่ไม่แพ้ตลาดกลุ่มไฮเอนด์ในราคาที่ถูกกว่าก็ทำให้สมาร์ตโฟนจีนสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม และเป็นการขยายแบรนด์ที่รวดเร็วอีกด้วย
ยอดขายสมาร์ตโฟนของ Apple ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2019 หายไปถึง 15% ส่วนหนึ่งมาจากผู้ใช้งานเองก็เลือกใช้งานสมาร์ตโฟนเครื่องเก่านานขึ้นกว่าเดิม ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ และประเด็นที่สำคัญคือสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างไปจากรุ่นเก่าจนสร้างความอยากได้อยากมีให้กับผู้ใช้งานมากมายเท่าไหร่นัก ถึงแม้นักวิเคราะห์จะมองว่า Apple อยู่ในจุดที่ค่อนข้างน่ากังวลว่า iPhone จะสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดคืนมาได้อย่างไรในขณะที่ปัจจุบันนั้นมีคู่แข่งเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถึงอย่างนั้นบริษัทก็ยังสามารถสร้างยอดขายได้อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะ iPhone 11 ซีรีส์ที่ช่วยบริษัทเอาไว้ได้
จนในช่วงปีนี้ Apple ได้เปิดตัว iPhone SE ที่มาพร้อมกับชิปประมวลผลตัวแรงอย่าง Apple A13 Bionic ในราคาเพียง $399 หรือที่ 14,900 บาทไทย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ที่สำคัญของ Apple มีการแบ่งสัดส่วนของสินค้าที่ชัดเจน สำหรับใครที่ต้องารสมาร์ตโฟนแบบไฮเอนด์ก็ไป iPhone 11 Pro ระดับกลางมา iPhone 11 และระดับเริ่มต้น (เรียกว่าเริ่มต้นแล้วแหละ) ก็มา iPhone SE แทน และจากเหตุผลข้างต้นคือไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเปลี่ยน iPhone ราคา $1,000 ทุกปี
เมื่อคืนนี้เอง (16 กันยายน 2020) Apple ก็ได้เปิดตัว iPad รุ่นที่ 8 มาพร้อมชิป Apple A12 ตัวแรงตัวเดียวกับ iPhone XS และ iPad Air รุ่นที่ 4 พร้อมชิป Apple A14 รุ่นใหม่ใส่มาให้ก่อนเปิดตัว iPhone 12 เสียอีก แถมราคาก็จับต้องได้ง่ายขึ้น ครอบคลุมทุกระดับการใช้งาน โครงสร้างนี้คล้าย ๆ กับ iPhone คือ iPad (8th) เป็นรุ่นเริ่มต้สำหรับใครที่สนใจอยากใช้ iPad, iPad Air เป็นแท็บเล็ตระดับกลาง และ iPad Pro คือแท็บเล็ตระดับไฮเอนด์ และแม้แต่ Apple ก็ยังมีทุกช่วงราคาเช่นเดียวกัน เริ่มด้วย Apple Watch S3, Apple Watch SE และ Apple Watch Series 6
iPhone เป็นสินค้าหลักที่ทำให้คุณเสียเงินต่ออีกหลายชิ้น
จากยอดขายของ iPhone ที่ลดลงอาจไปสะกิดอะไรบางอย่างในผู้บริหารระดับสูงว่าจะพึ่ง iPhone อย่างเดียวก็คงไม่ได้แล้ว และนั่นเองทำให้เราเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของ Apple ในกลุ่มบริการอย่าง Apple Card, Apple News Plus, Apple TV Plus และ Apple Arcade หรือแม้แต่อุปกรณ์เสริมอย่าง Apple Watch และ AirPods ที่สร้างรายได้ให้ Apple มากมายมหาศาลเลยทีเดียว สร้างรายได้ให้ Apple ได้มากถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
Ecosystem นี่สิของโหด
ถ้าใครใช้สินค้าของ Apple จะทราบดีว่าจุดแข็งของ Apple จริง ๆ คือระบบนิเวศน์ของสินค้า ที่เข้ามาแล้วจะออกก็ออกได้ยาก ต้องทิ้งกันหมด อย่างที่กล่าวข้างต้นคือ iPhone คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเสียเงินต่ออีกหลายอย่าง การทำงานที่ไร้รอยต่อ รวดเร็วอย่าง AirDrop การส่งไฟล์ระหว่างอุปกรณ์ หรือ SideCar ที่ใช้งานได้ระหว่าง iPad และ Mac หากต้องการใช้งานทั้งหมดให้ได้เต็มประสิทธิภาพที่สุดก็ต้องใช้ของ Apple เท่านั้น หรือหากอยากใช้ Apple Watch ก็ต้องซื้อ iPhone เท่านั้น เพราะต่อกับ Android ไม่ได้ หรือหากจะทำสมาร์ตโฮมก็ต้องมี Apple TV หรือ HomePod สำหรับเป็นตัวกลาง เรียกว่า Apple ทำของทุกอย่างออกมาพร้อมแล้ว
เมื่อจบกับฮาร์ดแวร์ไปแล้ว ก็ยังมีซอฟต์แวร์รอให้เสียเงินอีก อย่าง Apple Music, Apple TV+ และบริการล่าสุดอย่าง Apple One ที่รวมเอาบริการทุกอย่างรวมเป็นบริการเดียว เรียกว่าเก็บเรียบหมดจด จน Spotify ถึงกับแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมากว่า Apple กำลังผูกขาดตลาดอยู่
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Apple ถึงตัดสินใจเปิดตัว iPhone SE เพราะถือว่าเป็น iPhone ที่มีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ขอแค่มีคนใช้งาน iPhone ก็ทำให้ผู้ใช้งานมีโอกาสเข้าถึงบริการต่าง ๆ และสินค้าฮาร์ดแวร์กลุ่มอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างตัวผู้เขียนเองกว่าจะรู้ตัวก็มี iPhone, iPad และ Mac รวมถึงบริการบางอย่างเรียบร้อยแล้ว น่ากลัวจริง ๆ (กลัวเงินในกระเป๋าหมดนี่แหละ)
อ้างอิง MarketRealist, Business Insider
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ