เช็กความพร้อมปรับโหมดสู่ยุค 4จี 4 ค่ายมือถือ "สตรอง!"..ปฏิวัติโทรคมฯ

เช็กความพร้อมปรับโหมดสู่ยุค 4จี 4 ค่ายมือถือ "สตรอง!"..ปฏิวัติโทรคมฯ

เช็กความพร้อมปรับโหมดสู่ยุค 4จี 4 ค่ายมือถือ "สตรอง!"..ปฏิวัติโทรคมฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

       หากย้อนกลับเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ในช่วงปลายปี 2558 คงไม่มีใครคาดคิดว่าการประมูล 4จี คลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ของประเทศไทย จะแข่งขันราคากันดุเดือด ดันราคาประมูลพุ่งหักปากกาเซียน ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2 ใบอนุญาตมีราคา 80,778 ล้านบาท คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2 ใบอนุญาตพุ่งปรี๊ดที่ 151,952 ล้านบาท

       บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทั้ง 2 คลื่น บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส คว้าคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์มา 1 ใบอนุญาต และน้องใหม่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้คลื่น 900 มา 1 ใบอนุญาต ขณะที่ดีแทค หรือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เบอร์ 2 ตลาดโทรคมนาคมเมืองไทยกลับไม่ได้เลย

       ผลการประมูลมีความน่าสนใจอย่าง มาก รายใหญ่สุดของตลาดอย่างเอไอเอส ได้แค่คลื่นเดียว ดีแทคที่ไม่ได้เลยอาจสุ่มเสี่ยงต่อวิกฤตคลื่นเมื่อหมดสัญญาสัมปทานในปี 2561 ส่วนทรูที่คว้า 2 ใบอนุญาตใน 2 คลื่น ก็ไม่แน่ว่าจะได้เปรียบ เพราะต้องแลกกับต้นทุนการประมูลที่สูงลิ่วกว่า 100,000 ล้านบาท และแจส จะไล่กวดรุ่นเก๋าทั้ง 3 รายทันหรือไม่

       สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกได้ อย่างเดียวว่า การทำตลาดหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปแน่นอน รวมถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย ดูเหมือนจะก้าวไปอีกระดับ

- ดาต้าจ่อพุ่งขึ้น 600%

       ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในยุคหลังการมาของ 4จี จะเป็นอย่างไรนั้น พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้ความเห็นว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี จาก 3จี สู่ 4จี และ แอลทีอี แอดวานซ์ (เทคโนโลยีการหลอมรวมคลื่นความถี่มากกว่า 2 ย่านความถี่ เพื่อให้บริการ ซึ่งมีศักยภาพเหนือกว่า 4จี) ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือ ถือในทุกพื้นที่มีความสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นเพียงนิ้วสัมผัส

       พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวว่า ข้อมูลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ระบุว่าในอีก 5 ปี ปริมาณการใช้งานด้านบริการข้อมูล (ดาต้า) จะเพิ่มขึ้น 600% จากปัจจุบัน ปัจจัยจากการใช้งานแอพพลิเคชั่นในกลุ่ม "โอเวอร์เดอะท็อป หรือโอทีที (แอพพลิเคชั่นที่กินปริมาณการใช้งานดาต้าสูงๆ)" มากขึ้น เช่น ไลน์, เฟซบุ๊ก หรือ ยูทูบ เป็นต้น

       "อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากนี้ไป เชื่อได้ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใดมีคลื่นมาก จะคงความได้เปรียบ รวมทั้งหากใครพัฒนาบริการไปสู่ แอลทีอี แอดวานซ์ ได้ก่อน ก็จะยิ่งคงความได้เปรียบเช่นกัน เพราะผมฟันธงได้เลยว่าจากนี้ไปอีกราว 3 ปี ปริมาณการใช้ดาต้าของคนไทยจะพุ่งสูงขึ้นอีกแบบก้าวกระโดด สังเกตได้จากทุกวันนี้ก็อันดับต้นๆ ของเอเชียแล้ว"

- นับถอยหลังการมาของ 5จี

       พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวด้วยว่า ภารกิจของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม จากนี้ไปจะแบ่งการทำงานเป็น 2 เฟส โดยเฟส 1 ปี 2559-2560 ได้แก่ การมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ทั้งในเรื่องของคุณภาพ และราคาค่าใช้บริการให้อยู่ตามกรอบ รวมทั้ง การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มากขึ้น ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล เป็นต้น

       เฟส 2 ปี2561-2563 ได้แก่ การจัดประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายหลังสัญญาสัมปทานที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ทำไว้กับดีแทคสิ้นสุดลง เตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 และ 700 เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้งเตรียมพร้อมในการบริหารคลื่นความถี่ในยุค 5จี ตามแผนคลื่นความถี่ของไอทียู ในปี 2563

- เอไอเอสชู 3 กลยุทธ์รั้งเบอร์1ต่อ

       ด้านค่ายมือถือต่างๆ เริ่มที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสเตรียมให้บริการ 4จี คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมนี้ ด้วย 3 กลยุทธ์หลักคือ

1.การมีโครงข่ายให้บริการที่ดี มีความเร็วการใช้งานได้เร็วที่สุด

2.มีแอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองกับการใช้งาน 4จี

3.มีทั้งสินค้าและการให้บริการที่ดีที่สุด และแม้การแข่งขันจากนี้ที่เชื่อว่าจะรุนแรงขึ้น

       แต่เอไอเอสจะยังคงเป็นผู้นำต่อไป "แม้เอไอเอส มีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 4จี เพียง 15 เมกะเฮิรตซ์ แต่ขอให้มั่นใจได้ในเรื่องของคุณภาพและการให้บริการ เพราะถ้าให้เปรียบก็เสมือน เอไอเอสมีที่ดินน้อย แต่แทนที่จะสร้างทาวน์โฮมเหมือนที่ใครก็สร้างได้ แต่เอไอเอสจะใช้เทคนิค ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างตึกสร้างคอนโดสูงๆ เพื่อให้บริการ" นายสมชัยกล่าว

- ดีแทคจะสู้แบบที่ไม่เคยเห็น

       นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า คลื่นความถี่ที่ถูกนำไปจัดประมูล ทั้ง 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ยังไม่ใช่คลื่นความถี่ที่ออกไปจากดีแทค จึงยังเหลือคลื่นมากพอที่จะให้บริการได้ตั้งแต่ระบบ 2จี 3จี และ 4จี แนวทางการสู้ของ ดีแทค ต่อจากนี้ไป คือการเก็บเงินที่ใช้ประมูลแต่ไม่ชนะ มาทำประโยชน์ด้านการลงทุนโครงข่าย และปรับปรุงบริการที่ดีให้แก่ลูกค้าทั้งคุณภาพและราคา ดีแทค ยังมีความมั่นใจว่ายังสามารถรักษาตำแหน่งเบอร์ 2 ในตลาดได้ต่อไป

       "ผู้ชนะประมูล 4จี ถ้าคิดว่าชนะประมูลแล้วจะชนะดีแทคด้วย ถือว่าคิดผิด เพราะจากนี้ไปจะได้เห็นดีแทคสู้ชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน" นายลาร์สกล่าว

- ทรูเล็งเปิดแอลทีอีแอดวานซ์รายแรก

       นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า การชนะประมูล 4จี ทั้ง 2 ใบอนุญาต ถือเป็นโอกาสดีที่กลุ่มทรูจะได้ครองความเป็นผู้นำด้านอินเตอร์เน็ตความเร็ว สูง (บรอดแบนด์) ไร้สาย ที่มีคลื่นความถี่ที่หลากหลาย และมีความกว้างของคลื่นถึง 55 เมกะเฮิรตซ์ ประกอบด้วย 850, 900, 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ครอบคลุมการให้บริการลูกค้าได้ตั้งแต่ระบบ 2จี 3จี และ 4จี และเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ให้บริการด้วยเทคโนโลยี "แอลทีอีแอดวานซ์" ที่เร็วกว่า 3จี ปัจจุบันกว่า 7 เท่า ที่เตรียมเปิดให้บริการเร็วๆ นี้

       "ต่อจากนี้ไปใครจะมีความได้เปรียบ ขึ้นอยู่กับว่าใครมีสินค้าและบริการที่ดีกว่า ซึ่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สินค้าก็คือโครงข่ายหรือคลื่นความถี่ ฉะนั้นการลงทุนเรื่องของคลื่นความถี่จึงถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด มากกว่าการเน้นการทำตลาด" นายศุภชัย กล่าว

- แจส เจาะกลุ่มเฮฟวีดาต้า

       นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า แม้จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการรายที่ 4 ในตลาด แต่ที่ผ่านมาธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตประจำที่ "3บีบี" ก็เป็นผู้นำลำดับ จึงนับเป็นก้าวแรกของ แจส ไม่ถึงกับศูนย์ เพราะสามารถต่อยอดจากลูกค้า 3บีบี ที่มีกว่า 1 ล้านคน โดยในกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิพิเศษแน่นอน

       นี่คือความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ฉายภาพพอให้เห็นการมาของ 4จี ที่นอกจากจะเป็นก้าวย่างสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโตอีกขั้น ยังได้เห็นการแข่งขันในตลาดลุกเป็นไฟ..แน่นอน

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook