คิดเยอะๆ ก่อนโพสต์ รูป "สวยเซี้ยะ หุ่นเป๊ะ" ลงโซเชียล หากไม่อยากเป็นแบบนี้...

คิดเยอะๆ ก่อนโพสต์ รูป "สวยเซี้ยะ หุ่นเป๊ะ" ลงโซเชียล หากไม่อยากเป็นแบบนี้...

คิดเยอะๆ ก่อนโพสต์ รูป "สวยเซี้ยะ หุ่นเป๊ะ" ลงโซเชียล หากไม่อยากเป็นแบบนี้...
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"รับไม่ได้"

     กับกรณีถูกนำภาพหรือใบหน้าผู้หญิงไปตัดต่อในทางอนาจาร หรือนำไปใช้เพื่อสร้างรายได้ในสถานบันเทิง ล่าสุดนักวอลเลย์บอลหญิงชื่อดัง "หน่อง" ปลื้มจิตร์ ถินขาว ก็ตกเป็นเหยื่อของ "ผู้ประสงค์ร้าย" นำภาพไปตัดต่อในทางอนาจาร หรือ "ปุ๊กลุ๊ก" ฝนทิพย์ วัชรตระกูล ที่ก็ถูกมือดีนำภาพชุดว่ายน้ำไปใช้เป็นป้ายประชาสัมพันธ์ หน้าสถานบันเทิงชื่อดังแห่งหนึ่งย่านชานเมือง

งานนี้ ต่อให้ใครโดนก็ต้อง "โวยลั่น!"

     แต่ใช่ว่าเรื่องเสียๆ หายๆ แบบนี้จะเกิดเฉพาะ "ดารา" หรือ "คนดัง" เท่านั้น!!!

     มันเกิดขึ้นแล้วกับ "คนธรรมดาๆ" ที่ "ขาว สวย หุ่นดี" และชอบ "อัพรูปสวยๆ" ของตัวเองลงโลกโซเชียล!!

     ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ออกมาเผยด้วยความเป็นห่วงว่า นี่คือภัยทางโลกไซเบอร์ของผู้หญิงอีกภัยหนึ่ง

     "ผู้เสียหายที่มาแจ้งกับมูลนิธิส่วนใหญ่เป็นหญิงสาววัยรุ่นหน้าตาดี ขาว สวย หุ่นดี ที่โพสต์รูปตัวเองใส่สายเดี่ยว เกาะอก นุ่งสั้น แต่งตัวเปรี้ยว เซ็กซี่ แต่งหน้าทำผมสวยๆ ลงสื่อโซเชียล

     ผู้หญิงอาจคิดว่ารูปที่โพสต์ไม่โป๊เพราะแต่งตามแฟชั่น แต่ทุกสังคมมีคนที่ไม่หวังดีอยู่ ซึ่งเมื่อเขาเห็นว่า รูปนี้สวย บุคลิกนี้ใช้ได้ ก็นำมาตัดต่อเป็นรูปโป๊เปลือยแล้วนำไปโพสต์ในเว็บขายตัว หรือบางคนไม่ได้ตัดต่อ แต่นำมาใช้ทั้งรูป ตั้งเฟซบุ๊กปลอม ใส่สัดส่วน ราคาขายตัว ระบุละเอียดถึงขั้นว่า ค้างคืน หรือชั่วคราว"

ศรีดา ตันทะอธิพานิช

     แม้เคสที่มาแจ้งกับมูลนิธิจะยังไม่มาก แต่ศรีดาเชื่อว่า "ยังมีอีกเยอะ" แต่ผู้หญิงยังไม่เจอภาพ อย่างข่าวดาราเซเลบที่ดังขึ้นมาเพราะเขาเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าเป็นคนธรรมดามันยากที่จะตามเช็ก มารู้อีกทีอาจผ่านไป 5-10 ปีแล้วก็ได้

     "ขอเตือนให้ระวังตัวให้มากๆ ก่อนโพสต์รูปอะไรลงไปให้คิดดีๆ ก่อน อย่าใช้รูปที่คมชัดมาก ความละเอียดสูง ไฟล์ใหญ่ๆ เพราะมันง่ายต่อการตัดต่อและทำได้เนียน ไม่จำเป็นต้องมีความละเอียดสูงถึง 4-5 ล้านพิกเซล ถ้าเราใช้ขนาดรูปความละเอียดน้อย โอกาสที่จะนำไปตัดต่อเนียนๆ ก็ยากกว่า"

     "ส่วนเรื่องการแต่งตัว จริงๆ เป็นเรื่องที่ป้องกันยาก เพราะบางคนแต่งตัวธรรมดาแต่หน้าสวย ก็ยังถูกนำไปตัดต่อ แต่ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า โดยพยายามอย่าโพสต์รูปแนวเซ็กซี่ๆ เกาะอก นุ่งสั้น เพราะมันง่ายมากที่จะถูกนำไปตัดต่อ"

"สำคัญที่สุด รูปหรือคลิปไหนที่เป็นส่วนตัวมากๆ หรือเป็นรูปที่ไม่อยากให้ใครเห็น อย่าโพสต์ลงไปในสื่อโซเชียล หรือทางที่ดีอย่าถ่ายเลย เพราะถ้าวันหนึ่งมือถือหาย หรือเสีย ต้องไปร้านซ่อมมือถือ โอกาสที่รูปหรือคลิปหลุดมีสูงมาก"

     "หรือแม้แต่รูปที่เราลบทิ้งแล้ว นักเทคโนโลยีสมัยนี้ก็สามารถนำกลับมาได้ และมันมีแล้วที่ร้านมือถือบางร้าน ติดโปรโมชั่นขายมือถือแถมคลิปหลุด ซึ่งเขาได้มาฟรีๆ จากโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของลูกค้าที่มาใช้บริการ"

     "รวมทั้งรูปเด็ก ผู้ปกครองอย่าโพสต์รูปเด็กหรือข้อมูลส่วนตัวลงไปชนิดที่เรียกว่าละเอียดยิบ เช่น ชื่ออะไร เรียนชั้นไหน โรงเรียนอะไร เพราะจะทำให้คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย อาจจะถ่ายรูปหมู่ รูปคู่ และความละเอียดไม่ต้องสูง ไม่ลงข้อมูลใดๆ เลย ซึ่งต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แต่บ้านเรายังไม่ตระหนักถึงภัยและความเสี่ยงที่อาจมาถึงโดยไม่รู้ตัว"

     หากใครถูกขโมยรูปไปใช้ในลักษณะนี้ สามารถเอาผิดได้ อย่ากลัวที่จะเดินเข้าไปแจ้งความ

     "ให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจทั่วประเทศเพื่อดำเนินคดี โดยรวบรวมหลักฐานและนำบัตรประชาชนไปยืนยันว่าเราเป็นผู้เสียหายตัวจริง ไม่ได้ใส่ร้ายใคร เมื่อลงบันทึกแล้วให้นำใบแจ้งความไปเดินเรื่องต่อที่สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) กระทรวงไอซีที

     หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อให้สืบจับ ปิดหรือบล็อกเว็บตามกระบวนการต่อไป"

     นอกจากกระบวนการทางกฎหมาย สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปลูกฝังทัศนคติของคนไทย

     "ถ้าพบเห็นอะไรที่ไม่ดี ไม่ชอบมาพากล ทั้งภาพตัดต่อที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย บทความ ความคิดเห็นต่างๆ ควรแจ้งหรือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ ถ้าช่วยกันทำ ก็เป็นเสียงเรียกร้องของสังคมว่า เราไม่เอาแบบนี้"

     "ง่ายที่สุด อย่าแชร์ต่อ เพราะหลายกรณีพอมีภาพแบบนี้ มักจะเป็นว่าขอดูหน่อย หรือส่งต่อให้เราด้วย หันมาเปลี่ยนเป็นส่งเสียงออกมาว่า ขอร้อง อย่าแชร์ต่อเลย สงสารเขา และหยุดเถอะ ช่วยกันแสดงออกซึ่งคุณธรรมต่อสังคม รับผิดชอบสังคมที่เห็นใจผู้อื่น"

     นอกจากนี้ ผู้จัดการมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ฝากไปถึงรัฐบาลว่า ให้เร่งคลอดกลไกตาม พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งผ่าน สนช.เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเร่งกำหนดงบประมาณกองทุนให้ชัดเจน ให้คนทุกกลุ่มได้เข้าถึง

     เนื่องจากปัญหาเด็กและเยาวชนไทยไม่เท่าทันสื่ออยู่ "ขั้นวิกฤต" แล้ว!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook