แนะฉลาดใช้ "สมาร์ทโฟน" ไม่เปลืองเงิน-ลดเสี่ยงภัยไซเบอร์
แนะฉลาดใช้ "สมาร์ทโฟน" ไม่เปลืองเงิน-ลดเสี่ยงภัยไซเบอร์
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของผู้คนในสังคม ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาให้มือถือธรรมดาฉลาดขึ้น กลายเป็น "สมาร์ทโฟน" ความสามารถของอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่รับสาย-โทร.เข้าโทร.ออก แต่เป็นช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโซเชียลเน็ตเวิร์ก แม้แต่เป็นธนาคารเคลื่อนที่ ขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการอย่างค่ายมือถือต่าง ๆ ก็สรรหาบริการใหม่ ๆ มากระตุ้นความต้องการใช้งานของผู้บริโภคด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากขึ้น
ผู้บริโภคยุคนี้จึงจำเป็นต้องรู้เท่าทัน ทั้งความฉลาดของอุปกรณ์ และสารพัดเงื่อนไขของโอเปอเรเตอร์
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumer International) จัดเสวนาในหัวข้อ "การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัล" ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้
"อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์" นักวิชาการจาก Siam Intelligence Units กล่าวว่า ในอดีตบริการเสริมของโทรศัพท์มือถือคือการส่ง SMS, MMS, การดาวน์โหลดริงโทน และคอนเทนต์ต่าง ๆ แต่เมื่อโมบายอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการกลุ่มนี้ได้ฟรี ๆ บรรดาโอเปอเรเตอร์จึงต้องหาลูกเล่นใหม่ ๆ มาทดแทน อาทิ การออกแพ็กเกจดาต้าแบบ Unlimited ที่มาพร้อม Limited Speed เช่น ให้บริการดาต้าที่ความเร็วสูงสุด 3 GB ถ้าใช้เกินเงื่อนไข (Fair Usage Policy) ความเร็วจะลดลงเหลือ 128 Kbps
ส่วนบรรดาแพ็กเกจการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ในราคา 15 บาทต่อวัน ถ้าอ่านเงื่อนไขการให้บริการแบบละเอียดจะพบว่า ราคานี้ต้องใช้งานผ่าน url คือ www.facebook.com เท่านั้น ถ้าไปใช้เฟซบุ๊กผ่านแอปพลิเคชั่นต้องจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตคิดเป็นนาทีด้วย หรือแพ็กเกจให้เล่นเกม Cookie Run ฟรีโดยไม่ต้องสมัครแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต แต่มีเงื่อนไขว่าบริการฟรีนี้ไม่รวมการส่ง Notification ต่าง ๆ ที่ผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ ฉะนั้น ถ้าผู้เล่นส่ง Notification ให้เพื่อนจะโดนคิดค่าบริการเป็นนาทีทันที
ขณะที่การซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น หนังสือ โดยใช้บัตรเครดิตจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่นก็มีความเสี่ยงที่จะโดนแฮกข้อมูล รวมไปถึงความปลอดภัยในการส่งข้อความผ่านแอปต่าง ๆ
ด้าน "ชยุตม์ สิงห์ธงธำรงกุล" ผู้เชี่ยวชาญจาก ACIS Professional Center กล่าวว่าโมบายแพลตฟอร์มเป็นที่นิยมมากขึ้น บรรดาอาชญากรจึงพัฒนามัลแวร์ขึ้นมาโจมตี ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในระบบอย่างภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ คือ Euro Grabber ที่แฮกเกอร์ใช้แพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือขโมยข้อมูลและรหัสผ่านของผู้บริโภคแล้วนำไปขโมยเงินในบัญชีของธนาคารในยุโรปช่วงก่อนนี้ ซึ่งทางธนาคารไม่ยอมชดใช้ความเสียหายให้ และโยนว่าเป็นความผิดของผู้บริโภคเองที่ใช้แพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ ทั้งการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ จาก "Play Store" มาใช้งาน
"กูเกิลไม่ได้สกรีนการออกแพลตฟอร์มต่าง ๆ จนมีการส่งแอปปลอมเข้าไปใน Play Store ทำให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของคนที่โหลดแอปปลอมไปใช้ได้ รวมถึงการดักจับ SMS ที่ทางธนาคารจะส่งรหัส OTP (One Time Password) ไปให้เจ้าของบัญชี เป็นการเจาะผ่านระบบรักษาความปลอดภัยแบบ 2 ชั้นของธนาคารไปได้ และแม้ใน App Store ก็มีการฟิชชิ่ง Apple ID ด้วย"
ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็มีกรณีนี้เหมือนกัน นักพัฒนา Line เองก็รู้ถึงปัญหานี้และพยายามปิดช่องโหว่มาตลอด เช่นเดียวกับการใช้ Free Wi-Fi ก็มีความเสี่ยง บรรดาอีเมล์หรือการจ่ายเงินออนไลน์พวกแฮกเกอร์ก็สามารถเข้าไปเจาะข้อมูลได้หมด ติดตามผู้บริโภคได้ทั่วโลกโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว
วิธีป้องกันตัวของผู้บริโภคคือ ต้องสร้างพาสเวิร์ดที่รัดกุม ไม่ใช้พวกวันเดือนปีเกิด ตัวเลขเรียง ๆ กัน และหมั่นเปลี่ยนรหัสบ่อย ๆ ที่สำคัญคือต้องปิดฟีเจอร์เชื่อมต่ออัตโนมัติ เพื่อไม่ให้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบหรือแน่ใจว่าเป็น AccessPoint ที่ปลอดภัย เพราะปัจจุบันแฮกเกอร์ได้มีการสร้าง AccessPointปลอมเพื่อคอยดักข้อมูลของผู้ที่ใช้ Wi-Fi ในที่สาธารณะด้วย
และแม้ว่าภัยจากการใช้โทรศัพท์มือถือจะซับซ้อนขึ้นตามความสมาร์ทของโทรศัพท์แล้ว แต่ปัญหาดั้งเดิมสุดคลาสสิกก็ยังคงอยู่
"ประชาชาติธุรกิจ" ค้นข้อมูลจากกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม "กสทช." พบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 นี้ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึง 281 เรื่อง แยกเป็นปัญหามาตรฐานการให้บริการ อาทิ อินเทอร์เน็ตช้าเกินไป สายหลุด 108 เรื่อง การคิดค่าบริการผิดพลาด 53 เรื่อง ปัญหาการยกเลิกบริการ 45 เรื่อง ปัญหาจากบริการเสริม 24 เรื่อง ที่เหลือเป็นประเด็นอื่น ๆ อาทิ การให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง การกำหนดระยะเวลาใช้บริการ ฯลฯ
"ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า เกือบทุกปัญหาไม่ว่าจะเป็นบิลช็อก ค่าโทร.เกิน หรือข้อความกวนใจ ล้วนมีสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้บริโภคได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวงเงินค่าใช้บริการ คิดว่าถ้าใช้เกินแล้วค่ายมือถือจะตัดบริการให้เอง รวมถึงความไม่รู้วิธีการเปิด-ปิดการใช้งานบนอุปกรณ์
อย่างกรณีปัญหาบิลช็อกจากการนำโทรศัพท์ไปใช้งานในต่างประเทศ กสทช.ได้เปิดแคมเปญ "ปิดเน็ตก่อนไปนอก" ให้ผู้บริโภค "กด *106# แล้วโทร.ออก" เพื่อปิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ และได้พยายามกำชับผู้ประกอบการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค
"เมื่อ มี.ค. กสทช.ได้คุยกับค่ายมือถือขอให้จำกัดวงเงินค่าบริการโรมมิ่ง แต่ทางเอไอเอสกับดีแทคแจ้งว่าทำไม่ได้ เพราะต้องเปลี่ยนโปรโตคอลในระบบซึ่งมีต้นทุนสูง ขณะที่ทรูได้รับประเด็นนี้ไปพิจารณา"
ส่วนปัญหาการสมัครบริการเสริมโดยไม่ตั้งใจหรือถูกเก็บเงินจาก SMS ขยะทั้งหลาย กสทช.เพิ่งร่วมกับโอเปอเรเตอร์เปิดบริการ "กด *137 ยกเลิก SMS กวนใจ" รวมถึงกำลังศึกษาปัญหาด้านคุณภาพบริการอื่น ๆ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กสทช.เรื่องมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง ขณะเดียวกัน ยังติดตามเรื่องการคิดค่าบริการสูงเกินกว่านาทีละ 99 สตางค์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย
ด้าน "สารี อ๋องสมหวัง" ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ การรับเรื่องร้องเรียนที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้บริโภคเองไม่มีความรู้ด้านสิทธิ์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ประกอบการก็เลือกที่จะฟ้องศาลเพื่อเพิกถอนประกาศของ กสทช.มากกว่าจะปฏิบัติตาม