ฝุ่น...ภัยร้ายที่แฝงทำลายคอมพิวเตอร์คุณ

ฝุ่น...ภัยร้ายที่แฝงทำลายคอมพิวเตอร์คุณ

ฝุ่น...ภัยร้ายที่แฝงทำลายคอมพิวเตอร์คุณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฝุ่น...ภัยร้ายที่แฝงทำลายคอมพิวเตอร์คุณ

เป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานานและเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจกันโดยทั่วไป ในเรื่องของฝุ่นผงที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ว่ากันว่าหากมีมากก็จะส่งผลเสียต่อคอมพ์โดยตรง แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้นเป็นเช่นไร คงต้องยกเรื่องของพีซีขึ้นมาพูดคุยกัน เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่พีซีจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน รวมถึงไม่ได้พกพาหรือย้ายไปไหนมาไหนบ่อยนัก รวมถึงหลายคนก็แทบจะไม่สนใจที่จะดูแลหรือใส่ใจในเรื่องภายในของเครื่องคอมพ์มากนัก ด้วยเหตุคือกลัวทำเครื่องเสียบ้าง ไม่มีความรู้ไม่มั่นใจหรือบางทีก็ขี้เกียจบ้าง เรื่องของฝุ่นผงกับพีซีจึงกลายเป็นสิ่งคู่กันและหลายคนต้องพบเจอกันมากที่สุด ดังนั้นแล้วต้องมาไล่ดูทีละประเด็นว่า จริงๆ แล้วฝุ่นทำร้ายเครื่องคอมพิวเตอร์ได้จริงมั้ย

หากสังเกตดูดีๆ แล้ว โอกาสที่ฝุ่นผงเล็กน้อย คงไม่อาจทำอะไรอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่มีส่วนไหนที่จะเกิดความเสียหายได้ ยกเว้นในส่วนที่เป็นกลไก อย่างเช่น พัดลมระบายอากาศ หากมีฝุ่นมากจริงๆ ก็อาจจะเกิดผลกระทบต่อส่วนที่เป็นแกนหมุนได้เช่นกัน แต่ในกรณีนี้ต้องมีมากจริงๆ และถูกสะสมเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดเป็นแผงหรือเป็นก้อนฝุ่นที่มีความหนาและแข็งจนพัดลมไม่สามารถหมุนได้หรืออีกส่วนหนึ่งคือ เกาะกับฮีตซิงก์จนผิวสัมผัสไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ถ้าแค่ฝุ่นเล็กๆ น้อยเรียกได้ว่าแทบไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด

สิ่งที่น่ากลัวที่สุด อาจจะไม่ใช่ฝุ่น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เมื่อมีฝุ่นจำนวนมาก มาผนวกกับความชื้น เช่น อยู่ใกล้กับจุดที่มีความชื้น เช่น ตั้งเคสอยู่ข้างหน้าต่างหรือใกล้กับห้องครัว ห้องสันทนาการเป็นต้น ซึ่งสภาพแวดล้อมเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ฝุ่นผงที่มีอยู่ทำงานได้ดียิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะมีโอกาสที่จับตัวเป็นก้อนและทำให้ฝุ่นเปลี่ยนสภาพได้แข็งหรือเหนียวแล้ว ก็ยังสะสมความชื้น ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า สนิม ตามมาอีกด้วย อย่างเช่น ละอองน้ำมันในห้องครัวหรือน้ำจากข้างหน้าต่าง สิ่งเหล่านี้ยิ่งเพิ่มปัญหาได้มากขึ้น ที่สำคัญเมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ยากมาก เพราะลำพังเฉพาะฝุ่นที่หนา ก็กำจัดได้ยากอยู่แล้ว มาเจอกับการเกาะอย่างเหนียวแน่นแบบนี้ไม่มีทางรอดแน่นอน

อาการที่เกิดขึ้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจากฝุ่นนั้นมีให้สังเกตหลายอาการเลยทีเดียว หากมีจำนวนไม่มาก ก็อาจจะไม่ได้แสดงอาการให้เห็นหรืออาจจะมีแค่เสียงพัดลมที่ดังขึ้นกว่าปกติหรือบางทีอาจจะมีแค่พัดลมหมุนบ้างไม่หมุนบ้างตามปริมาณฝุ่นที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดเป็นปัญหาหนัก ก็อาจจะทำให้เครื่องดับเนื่องจากระบบตัดหลังจากที่ผ่านจุดความร้อนสูงตามที่ตั้งเอาไว้ในไบออส นอกจากนี้การเปิดไม่ติดเนื่องจากความเสียหายโดยถาวรของอุปกรณ์บางชิ้นก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดกับอุปกรณ์ชิ้นใดและมีความร้ายแรงมากเพียงใดเท่านั้นเอง

ส่วนไหนที่ต้องเฝ้าระวัง

คงต้องบอกว่าต้องระวังในทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก อย่างฮาร์ดดิสก์หรือขนาดใหญ่อย่างเมนบอร์ดก็ตาม เพราะฝุ่นผงเหล่านี้สามารถเข้าไปถึงได้ทั้งนั้น แต่ที่จะเห็นผลกระทบเร็วที่สุดก็คือ พัดลมระบายอากาศ ไม่ว่าจะเป็น พัดลมเคส, พัดลมซีพียูและพัดลมการ์ดจอ เพราะมีโอกาสที่พัดลมจะหยุดหมุนเมื่อเจอฝุ่นมากๆ ก็เป็นไปได้ ส่วนอุปกรณ์อย่างอื่นยังไม่เกิดความผิดปกติรวดเร็วนัก ยกเว้นว่าจะมีความชื้นเข้ามาผสมโรงด้วย จนทำให้เกิดการลัดวงจรหรือเสียหายต่อแผงวงจรอย่างชัดเจน

แนวทางป้องกัน

ก็คงต้องบอกตรงๆ ว่า ถ้าจะจัดเป็นแนวทางแก้ไขโดยถาวรเลยก็คือ ต้องทำให้ห้องเป็นระบบปิดหรือห้องปรับอากาศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันได้ 100% เพียงแต่ว่ายืดระยะออกไปได้เท่านั้น แต่สิ่งที่พอทำได้ก็คือ

1.เลือกตำแหน่งที่ตั้งของเคสให้ลดความเสี่ยงหรือบริเวณที่มีลมมาปะทะโดยตรง อย่างเช่น หันออกไปทางหน้าต่างหรือใกล้พัดลมระบายอากาศ ที่มีทิศทางลมเข้ามายังเคสโดยตรง เพราะนอกจากจะมีฝุ่นตรงเข้ามาอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเสี่ยงต่อความชื้นที่จะทำให้เกิดสนิมหรือออกไซด์ที่ทำให้เกิดอันตรายต่ออุปกรณ์ได้เช่นเดียวกัน

2.ใส่พัดลมระบายอากาศให้เหมาะสมกับการใช้งาน บางคนกลัวเครื่องจะร้อน เลยติดตั้งพัดลมแบบเต็มพิกัด เรียกว่ามีติดได้กี่ตัว ก็ใส่หมด ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะจะได้มีลมเข้าไปในเคสมากขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ลมที่เข้าไปนั้น ก็จะพาเอาฝุ่นเข้าไปด้วย ยิ่งปริมาณลมมากเท่าใด ฝุ่นก็เยอะตามไปด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าไม่ได้จัดการระบบทิศทางลมให้ดีด้วยแล้ว นอกจากจะไม่ช่วยให้การระบายความร้อนได้ดีขึ้น ยังทำให้เกิดฝุ่นอยู่ภายในเครื่องได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย แน่นอนว่าไม่ได้เป็นผลดีนัก

3.ติดตั้งแผ่นกรองอากาศให้กับพัดลม ที่เป็นทางลมเข้าเคส ซึ่งจะเป็นแผ่นตะแกรงบางๆ และมีรูพรุนช่วยในการกรองฝุ่นผงต่างๆ ไม่ให้ผ่านเข้ามาภายในเคสได้ง่ายๆ ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ตามห้างไอทีทั่วไป แต่จะมีข้อเสียคือ อาจจะลดทอนปริมาณลมเข้าไปในเคสอยู่บ้าง ในกรณีที่แผ่นกรองมีรูถี่มากเกินไป แต่ก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้ฝุ่นเข้าไปสร้างความเสียหาย

4.อย่าเปิดฝาเคสทิ้งไว้โดยไม่จำเป็น หลายคนมักจะเปิดฝาด้านข้างเคสเอาไว้ เพราะคิดว่าช่วยในการระบายความร้อนได้ดีขึ้น แต่ความจริงแล้ว ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากเปิดฝาแล้วจัดระบบพัดลมเข้าออกให้ดี ก็จะช่วยในการระบายความร้อนได้ดีกว่า อีกทั้งการเปิดฝาเคสยังมีความเสี่ยงต่อการที่แมลง สัตว์ ฝุ่นหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ เข้าไปยังอุปกรณ์และเกิดความเสียหายได้อย่างรวดเร็วเลยทีเดียว

ส่วนการแก้ไขที่ง่ายที่สุดก็คือ ในกรณีที่เปิดเจอในปริมาณฝุ่นที่ไม่มากนัก ให้ถอดชิ้นส่วนออกมาทำความสะอาด ด้วยการใช้แปรงปัดฝุ่นขนนุ่มๆ ปัดออกไป โดยไม่ต้องออกแรงมากนัก ในบางชิ้นที่มีซอกเล็กซอกน้อย ก็อาจจะต้องใช้แปรงที่มีขนยาวขึ้นมาใช้ เพื่อซอกซอนไปยังมุมต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนถ้าฝุ่นหนามาก อาจใช้วิธีเช็ดออก ด้วยผ้านุ่มค่อยๆ ปาดออกไปให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงค่อยใช้แปรงปัดตามในภายหลัง แต่บางชิ้น เช่น ฮีตซิงก์ก็อาจจะใช้วิธีล้างด้วยน้ำได้ ยกเว้นซิงก์ที่ไม่สามารถถอดพัดลมออกได้ ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังและทำให้แห้งด้วยความรวดเร็วก่อนจะนำมาใช้งาน

สิ่งที่ต้องระวังคือ การใช้โบเวอร์หรือเครื่องเป่าลมที่จะนำมาเป่าฝุ่นภายในเคส อาจจะส่งผลเสียต่ออุปกรณ์ภายในได้โดยตรง เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่าง เช่น พัดลมหรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กและบาง ลมแรงจากการเป่าจะทำให้พัดลมหมุนอย่างรุนแรงจนใบพัดแตกหรือเสียหายได้โดยถาวรหรือชิ้นส่วนบางชิ้นอาจจะหลุดออกมาได้ ดังนั้นหากเลี่ยงไม่ได้หรือต้องการความรวดเร็วจริงๆ ก็อาจจะต้องใช้กระดาษกาวหรืออย่างอื่นมาปิดอุปกรณ์เหล่านี้เอาไว้ไม่ให้ขยับ รวมถึงปรับรอบการทำงานของพัดลมให้เบาลง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดนั่นเอง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญในการที่จะดูแลไม่ให้ฝุ่นผงมาสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์คอมพ์ภายในเครื่อง ซึ่งผู้ใช้เองก็ต้องหมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาหาทางแก้ในภายหลัง แม้อาจจะไม่ได้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับเรื่องของระบบไฟ แต่การใส่ใจก็จะช่วยลดโอกาสความเสียหายที่อาจจะเกินการเยียวยา เมื่อมาพบในภายหลัง

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook