เตือนภัย!! ระวัง ถูกฉกความลับผ่าน "อินสตาแกรม"
เตือนภัย!! ระวัง ถูกฉกความลับผ่าน "อินสตาแกรม"
อินสตาแกรม - พักนี้มีผู้นำเอาบริการโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกกันว่า สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไปใช้ในทางร้ายๆ กันเยอะ ล่าสุด เทรนด์ไมโคร ผู้ให้บริการด้านการรักษาความปลอดภัยออนไลน์ ออกมาเตือนบรรดาผู้ใช้อินสตาแกรม ที่ต้องการคน "ฟอลโลว์" เยอะๆ เป็นพิเศษว่าให้ระวัง จะพาตัวไปหาความยุ่งยากถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวเอาได้
คาร์ลา อาเกรกาโด นักวิเคราะห์ภัยคุกคามของเทรนด์ ไมโคร บอกว่า วิธีการใหม่ของคนร้ายที่ใช้ผ่านอินสตาแกรมหนนี้นั้นดูร้ายแรงกว่าที่ผ่านมา เพราะเจาะจงเล่นงานคนที่อยากได้ "ฟอลโลเออร์" เยอะๆ เรียกเอาเงินเป็นการตอบแทน และเพราะว่าโลโก้ของอินสตาแกรมนั้น ใครๆ ก็สามารถนำไปใช้กันได้อย่างเสรี ทุกคนถึงไม่ระแวงกันว่า เป็นเรื่องแปลกปลอมหรือไม่
คาร์ลาบอกว่า คนที่อยากได้คนติดตาม อินสตาแกรมของตัวเองเยอะๆ เมื่อหลงคลิกเข้าไป จะถูกนำไปสู่เว็บไซต์ที่กำหนดให้กรอกทั้ง ยูสเซอร์เนม, อีเมล์, หมายเลขโทรศัพท์ แล้วก็ข้อมูลในการชำระเงิน ภาษาที่ใช้เป็นภาษารัสเซีย ไม่มีภาษาอังกฤษสักคำ ทำให้ผู้ใช้ยิ่งงงๆ เข้าไปใหญ่ แต่ก็ดูไม่น่าเคลือบแคลงสงสัยอะไร กรอกข้อมูลทั้งหมดเข้าไป ก็จะได้รับแมสเสจตอบมาว่า จะได้รับการติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วทุกอย่างก็จบลงตรงนั้น
ข้อมูลของเราจะถูกนำไปใช้อย่างไรหลังจากนั้น ไม่มีใครรู้ แต่ไม่ใช่ทางที่ดีแน่ๆ
ผมเอาเรื่องนี้มาเล่า เพื่อที่จะบอกว่า การใช้บริการเครือข่ายสังคมนั้น มันสนุกตรงที่เราได้มีเครือข่าย ได้เจออะไรใหม่ๆ ได้แบ่งปันอะไรต่อมิอะไรกัน แต่ตรงที่เดียวกันที่เครือข่ายสังคมทำให้สนุก ก็มีอันตรายแฝงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน
บริการเครือข่ายสังคมแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก เรื่อยไปจนถึงทวิตเตอร์ หรือลิงก์อินใดๆ ก็ตามที ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า เรากำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นการส่วนตัวระหว่างเรากับคนที่เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่ด้วย
แต่ในความเป็นจริงนั้นทั้งสองฝ่ายเหมือนกำลังพูดอยู่ในที่สาธารณะกับผู้คนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหนึ่งหรือหลายๆ คนในจำนวนนั้น อาจมีเจตนาไม่ดีครับ
มีคำแนะนำบางอย่างที่คงไม่ช่วยให้ปลอดภัยโดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยก็ลดทอนลงได้ในระดับหนึ่ง หากจำไว้ให้ขึ้นใจทุกครั้งที่ใช้งานโซเชียลมีเดีย อย่างแรกสุดก็คือ ทำความเข้าใจเรื่องการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของแต่ละอย่างให้ดี ปรึกษาเพื่อนๆ ในกลุ่มของเรานั่นแหละดีครับ จะได้ตั้งค่าอะไรต่อมิอะไรให้เหมือนกัน ให้มากเข้าไว้เป็นดีที่สุด
ถัดมาเป็นข้อห้ามที่เขาเตือนกันมานานนักหนาแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจทำกันนัก นั่นคือ การประกาศว่า เราจะไปพักผ่อนที่ไหน ยาวนานแค่ไหน หรือการไปไหนนานๆ ผ่านเครือข่ายสังคมทั้งหลาย ไม่ควรทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะครอบครัวเล็กๆ ที่ยกโขยงกันไปทั้งบ้าน ไม่มีคนอยู่เฝ้าเลยนั่นแหละดีนัก เอาไว้กลับมาค่อยโพสต์ก็คงไม่มีใครว่าหรอกครับ
อย่างที่สาม ก็คือ อย่ารับใครเป็นเพื่อนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า รับแค่คนที่รู้จักกัน หรือคนที่มีคนที่เรารู้จักแนะนำมาเป็นดีที่สุด ถ้าไม่แน่ใจก็ถามก่อนได้ครับ ไม่น่าจะเสียมารยาทแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ต่อไปก็คือควรระมัดระวัง อย่าใส่ข้อมูลอะไรที่เป็นการบ่งบอกถึงความเป็นตัวคุณลงไปในสื่อสังคมออนไลน์มากมายนัก หลายคนชอบคำอวยพรวันเกิด ก็พอได้อยู่ แต่อย่าใส่ไปพร้อมกับชื่อเสียงเรียงนาม บ้านเลขที่ เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เลยครับ ยกเว้นจะมีวัตถุประสงค์จำเป็นบางประการ
สุดท้ายก็คือเรื่องของ "ลิงก์" ที่แชร์กันไปแชร์กันมานั่นแหละครับ เป็นที่มาของมัลแวร์
จำพวกสปายแวร์ หรือไวรัสดีนัก อย่าคลิกเปิดลิงก์ดูถ้าหากไม่แน่ใจหรือไม่ได้มาจากคนที่รู้จักกัน โดยเฉพาะลิงก์ที่ใส่มามั่วๆ อย่างเช่น บอกว่าเป็น สตาตัส อัพเดต ที่มาในรูปของ ธิน ยูอาร์แอล (ที่อยู่อีเมล์แบบย่อ) นั่นแหละตัวดี
ถ้าไม่แน่ใจให้ดูคนส่งต่อมาก่อนเป็นลำดับแรก ถามไถ่กันก่อนก็ได้ว่าเป็นอะไร จะได้ช่วยกันระมัดระวังตัวครับ
ที่มา : นสพ.มติชน
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th