เม็ดพลาสติกมีดีกว่าที่คิด….พลิกชีวิตผู้พิการทางขา

เม็ดพลาสติกมีดีกว่าที่คิด….พลิกชีวิตผู้พิการทางขา

เม็ดพลาสติกมีดีกว่าที่คิด….พลิกชีวิตผู้พิการทางขา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

            จากข้อมูลประมวลผลจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพบว่าสถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่รวมทั้งสิ้น 1,606,267 ราย และในจำนวนดังกล่าวพบว่าเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 777,224 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด    

              สำหรับสาเหตุของความพิการมากกว่า 80% มาจาก 3 สาเหตุหลักคือ 1.โรคเรื้อรังที่คนไทยป่วยกันมาก 3 โรค คือเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เกิดของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต  2.อุบัติเหตุจราจรจากการขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เมาแล้วขับ และ 3.จากการที่ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังประจำตัวและจะมีความพิการร่วมด้วย

              จากสถิติจำนวนผู้พิการนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากอุบัติเหตุจราจร ทำให้หลายฝ่ายเป็นที่วิตก ว่าจำนวนผู้พิการของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในอนาคตได้ ซึ่งทุกฝ่ายจำเป็นต้องวางแผนและเร่งป้องกันโดยเฉพาะลดการเกิดอุบัติเหตุและการป่วยเรื้อรัง อย่างไรก็ตามสำหรับคนพิการ  อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตให้ดีขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้พิการทางขาแล้ว “ขาเทียม” จึงเปรียบเสมือนหัวใจของคนกลุ่มนี้เลยทีเดียวแต่ขาเทียมนั้นมีราคาแพงมากทำให้ผู้พิการที่ยากไร้ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึง

                ทั้งนี้การผลิต ”ขาเทียม” นั้น จำเป็นต้องใช้เม็ดพลาสติกเป็นวัตถุดิบที่สำคัญซึ่งก็นับว่า

          บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร ได้เข้ามาสานต่อเจตนารมณ์ของมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วยการบริจาคเม็ดพลาสติกที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ นำไปเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตขาเทียมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 และยังมี โครงการ “ซ่อม เสริม เติม สุข” ซึ่งเป็นโครงการจิตอาสา  เป็นการออกหน่วยเคลื่อนที่ไปในพื้นที่ต่างๆ  ทั่วประเทศ

           พลตำรวจเอก อดุลย์  แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การดำเนินงานในโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศล ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือที่เกิดจากหน่วยต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยรวมกับ จังหวัดระยอง  มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน )  เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติในวโรกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นโครงการ ที่มุ่งเน้นยกระดับชีวิตของผู้พิการให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ เหมือนบุคคลทั่วไปในสังคม และยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามขีดความสามารถของผู้พิการ

            “ แนวทางการผลิตขาเทียมในครั้งนี้ นับเป็นโครงการฯ ที่สำคัญ จากการคิดค้น และพัฒนากระบวนการผลิตที่ทันสมัย ตรงตามหลักวิทยาการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยนำวัตถุดิบในประเทศมาผลิตเป็นอุปกรณ์ขาเทียม โดยไม่มีการคิดมูลค่า หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทำขาเทียมให้กับผู้พิการ” พลตำรวจเอก อดุลย์  กล่าว

            ด้าน นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC  กล่าวว่า โครงการออกหน่วยทำขาเทียมนี้ เป็นหนึ่งในโครงการ CSR ที่ IRPC ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ดีขึ้น และสามารถมีความสุขในสังคมได้เท่ากับผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ทั่วไป  โดยบริษัทดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ในการบริจาคเม็ดพลาสติกจากนวัตกรรมการผลิตของ IRPC ที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ จำนวนปีละ 20-25 ตัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตขาเทียม  และยังได้นำผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ “ออกหน่วยทำขาเทียม” เพื่อให้การช่วยเหลือผู้พิการ   ทุกเชื้อชาติศาสนา ให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ปกติดังเดิม  ด้วยการบริการทำขาเทียม ซ่อมแซมขาเทียมที่ชำรุด โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้ผู้ที่ใช้ขาเทียมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถประกอบอาชีพได้

                รวมทั้งยังมีการส่งมอบแผ่นพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกของ IRPC ให้กับโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่มีการทำขาเทียมตามแบบของมูลนิธิขาเทียมฯ และโรงงานทำขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนที่มูลนิธิขาเทียมฯ จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ กว่า 69 โรง และยังส่งวัตถุดิบพลาสติกแผ่นดังกล่าวไปเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนกับนักเรียนชั้นปวส. สาขากายอุปกรณ์ ของวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ การเรียนการสอนหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการของมูลนิธิขาเทียมฯ นักกายภาพบำบัด แพทย์ และนักศึกษาโครงการฝึกอบรมนานาชาติ

             สำหรับเม็ดพลาสติกที่ IRPC นำมาบริจาคเพื่อทำขาเทียมในครั้งนี้ ได้แก่ โพลีโพรพิลีน บล็อกโคโพลีเมอร์ (PP Block) ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ เป็นนวัตกรรมเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติทนแรงกระแทกสูง สามารถขึ้นรูปได้ง่าย โดยเฉพาะที่อุณหภูมิต่ำแต่ยังมีความคงรูปของชิ้นงานได้ดี  ซึ่งมีความเหมาะสมในการนำไปผลิตเป็นขาเทียม และยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กล่องแบตเตอร์รี่ ลังอุตสาหกรรมและถังสี

                 IRPC  สนับสนุนเม็ดพลาสติกทำขาเทียมตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2558  ซึ่งพบว่าได้นำไปผลิต  ขาเทียมทั้งสิ้น 6,694 ขา ให้กับผู้พิการจำนวน 5,040 คน และในปี 2559 ซึ่งก้าวสู่ปีที่ 6  ได้มีการบริจาคเม็ดพลาสติกให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ ไปแล้วจำนวน 25  ตัน   และระหว่างวันที่ 9 – 15 กรกฎาคม นี้  บริษัทฯได้ร่วมกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและจังหวัดระยอง  ออกหน่วยเพื่อทำขาเทียมพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559   โดยได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก อดุลย์  แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน  ณ สมาคมสโมสรไออาร์พีซี สปอร์ตคอมเพล็กซ์ จ.ระยองโดยมีผู้พิการลงทะเบียนรับบริการ 220 ราย จำนวนขาเทียม 227ขา

            การออกหน่วยครั้งนี้  ไม่เพียงแต่ทำขาเทียมเท่านั้น ภายในงานยังมีการจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการระดับ 1  โดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดระยอง ซึ่งช่างเหล่านี้บางคนเป็นผู้พิการที่มาทำงานเพื่อสังคม เมื่อผ่านการทดสอบก็จะสามารถบรรจุเข้าเป็นข้าราชการได้ตามวุฒินอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ  อาทิเช่น นิทรรศการด้านนวัตกรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม การอบรมคนพิการและญาติเรื่องกายภาพบำบัดการดูแลขาเทียม โดยมูลนิธิขาเทียมฯ การอบรมอาชีพให้แก่คนพิการและญาติ โดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น

            การดำเนินงานของ IRPC ที่ร่วมมือกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนับเป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับคนพิการทางขาได้กลับมาก้าวเดินได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง แต่กระนั้นผู้พิการทางขาซึ่งด้อยโอกาสยังคงมีจำนวนอีกไม่น้อยที่รอความหวังในการมีขาเทียมอยู่ …. ร่วมกันลดอุบัติเหตุป้องกันที่ต้นเหตุของการพิการคุณเองก็ทำได้

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook