5 วิธีลดเสี่ยง “ภูมิแพ้” ที่พบบ่อยในหน้าฝน

5 วิธีลดเสี่ยง “ภูมิแพ้” ที่พบบ่อยในหน้าฝน

5 วิธีลดเสี่ยง “ภูมิแพ้” ที่พบบ่อยในหน้าฝน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงหน้าฝนแบบนี้ ช่วงนี้ใครที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจอาจจะต้องรับมือหนักหน่อย เพราะโรคเหล่านี้จะมาเยือนเราบ่อยในหน้าฝน สาเหตุก็เพราะช่วงฝนตก อากาศจะมีความชื้นสูง และถ้าเจออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน และบางทีก็ต้องเข้าไปอยู่ในห้องที่เปิดแอร์เย็นๆ ก็อาจทำให้มีอาการแพ้ง่ายขึ้น  

พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลนวเวช จะมาให้ความรู้ว่าในช่วงหน้าฝนนี้ เราควรดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กซึ่งเป็นแต่ละที อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้หลับได้นอนกันเลยทีเดียว

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่าโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง

  1.     โรคแพ้อากาศ หรือ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)

เกิดจากเยื่อบุโพรงจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสัตว์ ละอองหญ้า เชื้อรา สารก่อระคายเคือง เช่น ฝุ่น PM2.5 ควันไฟ ธูป บุหรี่ และมลภาวะต่างๆ โดยเฉพาะท่อไอเสีย ซึ่งเด็กๆ มักจะมีอาการคัดจมูก คันจมูก จามบ่อย มีน้ำมูกใสๆ ไอแบบคันคอ มีน้ำมูกไหลลงคอ กระแอมบ่อยๆ บางรายอาจมีอาการคันตาร่วมด้วย แต่จะไม่มีไข้ โดยอาการมักเป็นๆ หายๆ  ตอนเช้าหลังตื่นนอนหรือตอนค่ำก่อนเข้านอน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบตามมาได้

  1.     โรคหอบหืด (Asthma)

เกิดจากหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากกว่าปกติ เช่นเดียวกันกับการแพ้อากาศ ทำให้เกิดอาการหลอดลมหดเกร็งและบวมเนื่องจากการอักเสบ หรือเมื่อโดนฝนติดหวัด ก็อาจกระตุ้นให้หอบหืดกำเริบได้เช่นกัน ซึ่งเด็กๆ มักมีอาการไอเหนื่อย ไอเวลาวิ่งเล่นออกกำลังกาย โดยเฉพาะไอตอนกลางคืน แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกหายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังวี้ดๆ  อาการหอบเหนื่อยอาจเป็นๆ หายๆ และเรื้อรังได้

  1.     โรคหลอดลมฝอยอักเสบ หรือ หลอดลมไว (Bronchiolitis)

โรคนี้มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการอักเสบบริเวณหลอดลมฝอย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะ RSV (Respiratory syncytial virus) และไวรัสอื่นๆ เช่น Influenza  Parainfluenza Adenovirus  Enterovirus และ Humanmetapneumovirus นอกจากนี้ยังเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycoplasma ได้ด้วย ซึ่งเด็กๆ  มักจะมีอาการไข้สูง น้ำมูก ไอ คล้ายไข้หวัดนำมาก่อน 2-3 วัน จากนั้นจะมีอาการไอเหนื่อย หายใจเหนื่อยหอบ เสมหะมากขึ้น และหายใจมีเสียงผิดปกติ มีเสียงวี๊ดได้ ซึ่งเด็กๆ จำเป็นต้องรักษาด้วยการพ่นยาขยายหลอดลม ล้างจมูก ดูดน้ำมูกเสมหะ จนถึงบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

สำหรับในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ที่มีประวัติเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว อาจกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ จนถึงโรคหอบหืดได้

การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้คือวิธีที่ดีที่สุด

เด็กไทยแพ้ไรฝุ่น แมลงสาบ และขนสัตว์ มากที่สุดตามลำดับ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงฝุ่นทั้งนอกบ้านและในบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้พรม การมีตุ๊กตาหรือผ้าขนสัตว์ในบริเวณที่เลี้ยงเด็ก และรักษาความสะอาดของบริเวณบ้าน เด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ แนะนำให้ล้างจมูกเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่มีอาการ

การดูแลสุขภาพในหน้าฝน

  1. ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  2. ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ พยายามหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้นอย่างเฉียบพลัน เมื่ออากาศเย็นลงควรใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจนเกินไป
  3. หากโดนละอองหรือตากฝน ควรรีบอาบน้ำสระผมด้วยน้ำอุ่น เช็ดตัวเช็ดผมให้แห้งโดยไว
  4. กินอาหารมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรงขึ้น
  5. หากเพิ่งเดินผ่านอากาศร้อนจัดๆ  ควรต้องยืนพักในที่ร่มก่อนจะเปลี่ยนเข้าไปในบริเวณห้องแอร์ที่มีอากาศเย็น เพื่อให้ร่างกายและจมูกปรับสภาพ จะช่วยลดอาการกำเริบของภูมิแพ้ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook