สถานการณ์ "โควิด-19" กับ "วัคซีน" ที่คนทั้งโลกรอคอย

สถานการณ์ "โควิด-19" กับ "วัคซีน" ที่คนทั้งโลกรอคอย

สถานการณ์ "โควิด-19" กับ "วัคซีน" ที่คนทั้งโลกรอคอย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

2020 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่คนทั่วโลกได้รู้จักกับโรคอุบัติใหม่อย่างโรคโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาจนถึงโรคที่มีอาการรุนแรง

ถึงแม้ว่าจะผ่านมาปีกว่าๆ แล้ว แต่สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันก็ยังมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่เริ่มมีการระบาดระลอกสองเกิดขึ้น

เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ มาตรการของการควบคุมโรคนี้ในระหว่างที่เรารอวัคซีนจึงเป็นการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ การเว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ซึ่งหมอแนะนำว่า แม้จะมีวัคซีนแล้ว การรักษาความสะอาดและการล้างมือบ่อยๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำต่อไป

อย่างที่ทราบกันว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลเฉพาะด้านสุขภาพของคนทั่วโลกเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม เช่น หากมีการล็อคดาวน์อีกรอบ ร้านค้าหลายแห่งก็อาจจะมีรายได้ลดลง หนึ่งในทางแก้ไขสถานการณ์นี้คือวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่คนทั่วโลกหวังไว้ว่าจะช่วยยับยั้งการระบาดและลดความรุนแรงของโรคลงได้จนทำให้เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

พญ. ณัฐวรรณ พละวุฑิโฒทัย แผนกอายุรกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสุขุมวิท ให้ข้อมูลถึงเรื่องวัคซีน เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจว่าวัคซีนที่เรากำลังรอคอยกันนั้นมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนหลายชนิด แต่ที่อนุญาตใช้ในมนุษย์ และผ่านการทดลองมี 3 กลุ่ม คือ

    1. mRNA วัคซีน โดยวัคซีนชนิดนี้เป็นการนำ mRNA ที่ถูกห่อหุ้มด้วย Lipid nanoparticle ให้ออกฤทธิ์แบบมุ่งเป้าที่ Spike protein ของไวรัส ผู้รับวัคซีนจะต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม โดยฉีดห่างกัน 21 วัน หรือ 28 วัน วัคซีนชนิดนี้จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง จากการทดลองในอาสาสมัครพบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโรคแบบแสดงอาการสูงถึง 95% เลยทีเดียว แต่ในบางรายอาจพบอาการข้างเคียงหลังฉีด ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อย จึงต้องติดตามผลข้างเคียงระยะยาว นอกจากนี้วัคซีนชนิดนี้ยังสามารถผลิตได้ในจำนวนมากอย่างรวดเร็วอีกด้วย แต่มีข้อจำกัดที่ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิเย็นจัด

    2. ไวรัส vector วัคซีน เป็นการผลิตวัคซีนโดยใช้วิธีการนำสารพันธุกรรม (DNA) ของไวรัสโควิด-19 ฝากเข้าไปใส่ในเวคเตอร์ไวรัสที่ไม่ก่อโรคในคน ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน คือ Adenovirus โดยโปรตีนที่สร้างขึ้นหลังฉีดวัคซีนเข้าไป จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมุ่งเป้าที่ Spike protein ผู้รับวัคซีนจะต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม โดยฉีดห่างกันประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแบบแสดงอาการในอาสาสมัครได้ผลมากกว่า 90% สำหรับการเก็บรักษาสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส

    3. Inactivated Vaccine หรือวัคซีนเชื้อตาย ใช้ไวรัสโควิด-19 ที่เพาะเลี้ยงบน Vero cell มาทำให้หมดฤทธิ์เป็นเชื้อตายแล้วนำไปปรับใส่สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นวิธีการผลิตวัคซีนที่ใช้มาอย่างยาวนาน ผู้รับวัคซีนจะต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 2-4 สัปดาห์ ด้วยความที่วัคซีนชนิดนี้เป็นเชื้อตายทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกาย จึงสามารถให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำได้ จากการทดลองในอาสาสมัครพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ 78%

ปัจจุบันได้มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนแล้วในหลายประเทศ โดยหวังว่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อยับยั้งการแพร่ระบาดและลดความรุนแรงของโรคได้ โดยผู้ที่ควรได้รับวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อยู่สถานพักฟื้นคนชรา กลุ่มต่อมาคือผู้สูงอายุตั้งแต่ 65-75 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีอายุ 16-65 ปี แต่มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง เป็นต้น

ถึงแม้จะเริ่มมีการผลิตวัคซีนออกมาแล้ว เราก็ควรจะต้องติดตามข้อมูลการศึกษาผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดหลังฉีดในวงกว้าง ชนิดของวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงอายุ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เรามีความเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หมอแนะนำว่า การล้างมือบ่อยๆ รักษาความสะอาด และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอก็เป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำกันต่อไป เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook