นั่งรถขึ้น-ลงเนิน แล้ว “เสียววูบ” ในท้อง เกิดจากอะไร?

นั่งรถขึ้น-ลงเนิน แล้ว “เสียววูบ” ในท้อง เกิดจากอะไร?

นั่งรถขึ้น-ลงเนิน แล้ว “เสียววูบ” ในท้อง เกิดจากอะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยเป็นไหม? เวลาที่ขับรถด้วยความเร็วขึ้นเนิน แล้วเกิดอาการ “เสียววูบ” ในท้องหรือรู้สึก “ใจหวิวๆ” อาการที่ว่าคืออะไรและเกิดจากอะไร

ซึ่งอาการเสียววูบที่เกิดในช่องท้องนั้นเกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติ และการเปลี่ยนแปลงแรงโน้มถ่วงของโลกที่เกิดอย่างกะทันหัน ส่งผลให้กลไกการทรงตัวของร่างกายผิดปกตินั่นเอง

ระบบประสาทอัตโนมัติคืออะไร

ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) หรือระบบประสาทอิสระ เป็นระบบประสาทที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย ระบบประสาทอัตโนมัตินี้จะประกอบด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ระบบประสาทอัตโนมัตินี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System)

นั่นหมายความว่าระบบประสาทอัตโนมัติสามารถทำงานได้เองไม่ต้องอาศัยคำสั่งจากสมอง โดยผ่านเส้นประสาทบริเวณกล้ามเนื้อเรียบทั่วทุกอวัยวะในร่างกาย มีศูนย์กลางอยู่ที่ไขสันหลัง ก้านสมอง และสมองส่วนไฮโปธาลามัส ที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้า ระบบประสาทอัตโนมัตินี้จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

ระบบประสาทซิมพาเธติก (sympathetic) ศูนย์กลางอยู่ที่ไขสันหลัง ประกอบไปด้วยเส้นประสาทที่แตกแขนงออกมาจากไขสันหลังตั้งแต่ช่วงหน้าอกจนถึงเอว เป็นระบบประสาทที่จะทำงานโดยอัตโนมัติในขณะที่ร่างกายอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน กดดัน เคร่งเครียด หรือเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะเตรียมต่อสู้หรือเตรียมหนี ซึ่งเป็นระบบประสาทที่มีผลให้เห็นอย่างเช่นในเวลาที่เกิดไฟไหม้ คนเราสามารถแบกโอ่งหรือยกตู้เย็นหนีออกมาได้ เกิดจากการที่ระบบประสาทซิมพาเตติกไปกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมา เพื่อเพิ่มพลังพิเศษให้กับร่างกาย

ระบบประสาทพาราซิมพาเธติก (parasympathetic nervous system) ศูนย์กลางอยู่ที่ก้านสมอง และสมองส่วนไฮโปทาลามัส ระบบประสาทระบบนี้จะทำงานควบคู่กับระบบซิมพาเธติก ซึ่งจะทำงานหลังจากระบบประสาทซิมพาเธติกทำงานสิ้นสุดลง ระบบประสาทพาราซิมพาเธติกจะช่วยให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยการกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลีนยับยั้งภาวะกดดันของร่างกาย

อาการเกร็งและหวิวในท้องเกิดจากอะไร

อาการเกร็งและหวิวในท้องนี้เกิดจากการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธติก ที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะยืดขยายตัวอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดความรู้สึกเสียวูบในบริเวณแถวกระเพาะปัสสาวะ ร้าวมาถึงท้องน้อย บริเวณสะดือ และที่หลังในช่วงเอว

เนื่องมาจากเวลาที่รถที่แล่นมาด้วยความเร็วแล้วขึ้นเนินสูง จะเป็นภาวะที่รถเปลี่ยนแปลงระดับจากแนวราบขึ้นสู่ที่สูงและลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าแรงโน้มถ่วงของโลกเปลี่ยนอย่างกะทันหัน ซึ่งในทางฟิสิกส์นั้นจะกำหนดให้ค่าแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่ที่ 9.81 เมตรต่อวินาทีกำลังสอง (หรือประมาณ 10 เพื่อให้การคำนวณง่ายขึ้น) ร่างกายของเราจึงมีปฏิกิริยาตอบสนองกับแรงโน้มถ่วงที่เกิดเปลี่ยนแปลงกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว

ในจังหวะที่ร่างกายตอบสนองต่อการเปลี่ยนสภาพแรงโน้มถ่วงอย่างกะทันหัน จะเกี่ยวเนื่องไปที่เส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) เส้นประสาทคู่ที่ 10 ซึ่งอยู่ในระบบประสาทพาราซิมพาเธติค เส้นประสาทส่วนนี้จะเลี้ยงกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะ คือ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน หัวใจ ปอด และต่อมต่าง ๆ บริเวณทางเดินของลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังมีเส้นประสาทรับความรู้สึก คอยรับความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ เหล่านี้

หลังจากนั้นเมื่อรถเปลี่ยนระดับอย่างกะทันหัน มีผลให้แรงโน้มถ่วง ณ ขณะนั้นเปลี่ยนอย่างฉับพลัน ส่งผลให้การส่งตัวของร่างกายสูญเสียสมรรถภาพในการทรงตัวไปชั่วขณะหนึ่งด้วย ณ ขณะที่เราเสียการทรงตัวระบบประสาทซิมพาเธติกจะทำงาน (กระเพาะปัสสาวะขยายตัว) และช่วงที่รถลงเนินมาแล้วระบบประสาทพาราซิมพาเธติกจะทำงานเพื่อให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติ จนกระทั่งร่างกายไม่รู้สึกเสียววูบแล้ว

กลไกในการทรงตัว

การทรงตัว เป็นภาวะที่ร่างกายประคองอยู่ในจุดที่สมดุล ทำให้คนเราสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งการที่ร่างกายคนเราสามารถทรงตัวอยู่ได้ และรับรู้ว่าศีรษะและร่างกายกำลังอยู่ในท่าใด สมองต้องได้รับข้อมูลจากอวัยวะที่รับความรู้สึกที่เกี่ยวกับการทรงตัว 3 ระบบคือ

  • อวัยวะรับรู้ผ่านการมองเห็น
  • อวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน (คนที่น้ำในหูไม่เท่ากันจึงมีปัญหาเรื่องการทรงตัว)
  • อวัยวะรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อและข้อ

เมื่ออวัยวะรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อมีการยืดขยายในช่วงที่รถขึ้นเนิน เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทเวสติบูโล-โคเคลียร์ ซึ่งเป็นเส้นประสาทคู่ที่ 8 เกี่ยวข้องกับการทรงตัวอันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วง เนื่องจากร่างกายตอบสนองอัตโนมัตินั้น ร่างกายจะเสียการทรงตัวในช่วงเสี้ยววินาที ในช่วงขณะนั้น คือช่วงที่เรารู้สึกว่าตัวเราลอยขึ้นจากเบาะรถยนต์จากการที่แรงโน้มถ่วงเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน มีผลในการควบคุมการเคลื่อนไหวดวงตาให้สัมพันธ์กับตำแหน่งของศีรษะเพื่อการทรงตัว ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอาการเสียววูบในท้อง

นี่จึงเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน กระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงาน เพื่อรองรับการสูญเสียการทรงตัว ณ ช่วงขณะหนึ่ง ทำให้เกิดอาการเกร็งและเสียววูบในท้องนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook