ข้อดีของ “การบริจาคเลือด” ที่ได้มากกว่า “ต่อชีวิตคน”

ข้อดีของ “การบริจาคเลือด” ที่ได้มากกว่า “ต่อชีวิตคน”

ข้อดีของ “การบริจาคเลือด” ที่ได้มากกว่า “ต่อชีวิตคน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนื่องจากสถานการณ์ “เลือดสำรอง” ในประเทศไทยในขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากความจำเป็นต้องใช้เลือดสำรองทั้งการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ ผู้ป่วยผ่าตัด หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจาก COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารเลือดขาดแคลนเลือดแทบทุกหมู่เลือด Tonkit360 จึงอยากจะเชิญชวนทุกคนไปบริจาคเลือด โดยนำเอา “ข้อดีของการบริจาคเลือด” ที่ได้มากกว่าการ “ต่อชีวิตคน” มาเล่าสู่กันฟัง

ข้อดีของการบริจาคเลือด

1. ร่างกายแข็งแรง หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าสุขภาพโดยรวมของผู้บริจาคเลือดดีกว่าคนที่ไม่เคยบริจาคเลือดเลย เลือดที่เสียไปจะไม่เป็นผลเสียต่อร่างกายของเรา แต่ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และร่างกายแข็งแรง

2. ผิวดี หน้าใส ออร่าเปล่งประกาย สาว ๆ หลายคนมีความเชื่อแบบผิดๆ ว่า ถ้าเราไปบริจาคเลือดแล้วต้องอ้วนขึ้น แต่จริง ๆ แล้วการบริจาคเลือดกลับทำให้ผู้บริจาคมีรูปร่างที่ดีขึ้น หุ่นเพรียวขึ้น ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล และยังช่วยให้หน้าใส เปล่งประกายได้อีกด้วย

3. ห่างไกลมะเร็ง ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริจาคเลือดมีแนวโน้มจะอายุยืน ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ มากกว่าผู้ที่ไม่บริจาคเลือด นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งคอหอย

4. การบริจาคเลือดจะทำให้ผู้บริจาคมีจิตใจดี ความรู้สึกที่ดี ความรู้สึกเป็นผู้ให้ ได้ทำทาน ได้ช่วยชีวิตผู้อื่น เรียกได้ว่าเป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่ง เป็นการต่อชีวิตที่ส่งผลให้หลายคนมีชีวิตรอดปลอดภัย

สิทธิการรักษาพยาบาล สำหรับผู้บริจาคเลือด

กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การใช้สิทธิรักษาพยาบาลของผู้บริจาคเลือด เป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2558 แบ่งออกเป็น

  • ผู้บริจาคโลหิต 1 ครั้งขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือค่าห้องและค่าอาหารพิเศษ ตามสิทธิที่สามารถเบิกได้จากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ส่วนที่เกินสิทธิให้เรียกเก็บ 50 เปอร์เซ็นต์
  • ผู้บริจาคโลหิต 18 ครั้งขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือค่าห้องและค่าอาหารพิเศษ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามอัตราที่กำหนดไว้

กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี แบ่งออกเป็น

  • ผู้บริจาคโลหิต 7 ครั้งขึ้นไป เสียค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ไม่รวมค่ายาและเวชภัณฑ์ หากอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร เสียค่าใช้จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ กรณีผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ ไม่ได้รับการยกเว้น
  • ผู้บริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไป ได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ไม่รวมค่ายาและเวชภัณฑ์ หากอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร เสียค่าใช้จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ กรณีผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ ไม่ได้รับการยกเว้น

การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในเวลานอนปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคเลือด
  • สุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะใด ๆ เช่น ยาแก้อักเสบ ซึ่งต้องหยุดยาแล้วอย่างน้อย 7 วัน
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง ภายใน 6 ชั่วโมง ก่อนมาบริจาคเลือด ได้แก่ ข้าวมันไก่  ข้าวขาหมู เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้
  • ควรดื่มน้ำก่อนบริจาคเลือด 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมจากการบริจาคเลือดได้
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคเลือดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคเลือด 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกเลือดได้ดี

การดูแลตัวเองหลังบริจาคเลือด

  • พักรับประทานอาหารว่าง และเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการ และนั่งพักอย่างน้อย 15 นาที ให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน
  • ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
  • หลีกเลี่ยงการขึ้นลงลิฟต์ บันไดเลื่อน อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้
  • ถ้ามีเลือดซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อซ กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคเลือด เพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล
  • หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ ไม่ใช้กำลังแขนที่เจาะบริจาค เช่น ยกของหนัก  เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการบริจาคเลือด
  • ควรพักผ่อนและหลีกเลี่ยง การทำกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาทิ การเดินซื้อของ อยู่ในบริเวณที่แออัดหรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น
  • ผู้บริจาคเลือดที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน
  • หลังจากบริจาคเลือด ให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยเลือดที่บริจาคไป
  • รับประทานธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ดจนหมด เพื่อชดเชยเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคเลือด และป้องกันการขาดธาตุเหล็ก เพื่อให้สามารถบริจาคเลือดได้อย่างสม่ำเสมอ
  • การรับประทานธาตุเหล็กบำรุงเลือด พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง หรือน้ำมะเขือเทศ จะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี ยกเว้นชาเขียว เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook