′แสงบำบัด′ ช่วยเยียวยา ′โรคซึมเศร้า′

′แสงบำบัด′ ช่วยเยียวยา ′โรคซึมเศร้า′

′แสงบำบัด′ ช่วยเยียวยา ′โรคซึมเศร้า′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มติชนรายวัน
26 พ.ย.58

การศึกษาวิจัยด้วยการทดลองของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งบริติชโคลัมเบียในนครแวนคูเวอร์ประเทศแคนาดาแสดงให้เห็นว่าวิธีการบำบัดด้วยแสงสว่างจ้าอาจช่วยเยียวยาอาการของโรคซึมเศร้าได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ควบคู่กับการให้ยารักษาอาการซึมเศร้า แต่ย้ำเตือนว่าการใช้วิธีการแสงบำบัดเช่นนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรทำด้วยตัวเอง

นายแพทย์เรย์มอนด์ ดับเบิลยู. แลม เป็นผู้เขียนรายงานการวิจัยใหม่ดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารวิชาการจามา ไซเคียทรี เมื่อเร็วๆ นี้ แจกแจงรายละเอียดการทดลองครั้งนี้ว่า ใช้เวลานาน 8 สัปดาห์ เป็นการศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงรวม 122 คน แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม จำนวนเกือบเท่ากัน เพื่อแยกวิธีการที่ใช้ต่อกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 แบบ

โดยกลุ่มแรกได้รับการบำบัดด้วยแสงภายในห้องที่เปิดไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์สว่าง โดยได้รับคำบอกว่าต้องเปิดไฟสว่างในทันทีที่ตื่นนอนทุกวันเป็นเวลา 30 นาที พร้อมกันนั้นก็ให้รับประทานยาต่อต้านอาการซึมเศร้า ฟลูออกซิทีน (หรือโพรแซค) ไปด้วย

กลุ่มที่ 2 ก็ได้รับการรักษาด้วยแสงบำบัดในแบบเดียวกัน แต่ให้ยาหลอกหรือพลาซีโบ (ยาที่ไม่มีตัวยาออกฤทธิ์ใดๆ) แทนยาต่อต้านอาการซึมเศร้า

กลุ่มที่ 3 ได้รับการบำบัดหลอกๆ ด้วยเครื่องไอออนเจเนอเรเตอร์ (ทำทีว่าเครื่องสร้างไอออนเปิดอยู่ แต่จริงๆ แล้วไม่มีไอออนผลิตออกมาแต่อย่างใด) แต่ได้รับยาต่อต้านอาการซึมเศร้าด้วย

กลุ่มสุดท้ายกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับทั้งการบำบัดหลอกและยาหลอกไปพร้อมๆ กัน

กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดได้รับการตรวจวัดสภาวะความรุนแรงของอาการซึมเศร้าทั้งก่อนหน้าและหลังสิ้นสุดระยะการทดลองด้วยมาตรวัดมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปทางจิตเวชศาสตร์ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการทดลองกลุ่มแรกซึ่งได้รับทั้งยาและแสงบำบัดมีอาการดีขึ้นกว่าเดิม 50 เปอร์เซ็นต์หรือสูงกว่า คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 76 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มทดลองกลุ่มแรกทั้งหมด, กลุ่มที่ 2 ซึ่งได้รับการบำบัดด้วยแสงเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนของผู้ที่อาการดีขึ้นมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งกลุ่ม, กลุ่มที่ 3 ซึ่งได้รับการบำบัดหลอกแต่ได้รับยา อาการดีขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งกลุ่ม และกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดหลอกและยาหลอก มีคนเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างทั้งกลุ่มเท่านั้นที่มีอาการดีขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการติดตามระยะโรคสงบ(รีมิสชั่น) หลังการทดลองด้วยพบว่ากลุ่มแรกที่ได้รับการบำบัดด้วยแสงและยามีผู้ที่เกิดสภาวะรีมิสชั่นสูงถึง 59 เปอร์เซ็นต์ของทั้งกลุ่ม, กลุ่มที่สองที่ได้รับเพียงการบำบัดด้วยแสง มีภาวะรีมิสชั่น 44 เปอร์เซ็นต์, กลุ่มที่ 3 ที่ได้รับเพียงการบำบัดด้วยยา มีผู้ที่เกิดภาวะรีมิสชั่นเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำที่สุด ส่วนกลุ่มที่ 4 ที่ไม่ได้รับการบำบัดใดๆ (แต่ถูกหลอกว่าได้รับการบำบัด) เกิดภาวะรีมิสชั่นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มนี้

นายแพทย์แลมกล่าวเตือนว่า แม้ผลลัพธ์ที่ได้แสดงชัดเจน แต่ยังจำเป็นต้องมีการค้นคว้าวิจัยให้แน่ชัดมากขึ้นกว่านี้ในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้น และไม่ควรพยายามรักษาด้วยแสงบำบัดด้วยตัวเอง

นายแพทย์แลมยอมรับว่า ยังไม่ชัดเจนนักว่าเพราะเหตุใดแสงสว่างมากๆ ถึงมีผลในการบำบัดอาการซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าการบำบัดด้วยแสงให้ผลดีต่อผู้ป่วยเป็นโรคภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล (ซีซั่นแนล เอฟเฟกต์ ดิสออร์เดอร์-เอสเอดี) ซึ่งเป็นโรคซึมเศร้าชนิดหนึ่งที่เกิดตามฤดูกาล เช่น เฉพาะในหน้าหนาวหรือหน้าร้อน เป็นต้น มีทฤษฎีที่เชื่อว่าแสงสว่างเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับนาฬิกาชีวะภายในตัวคนเราที่เรียกว่า "เซอร์การิธึ่ม"

ในขณะที่มีอีกทฤษฎีสำคัญซึ่งชี้ว่า แสงสว่างนั้นส่งผลกระทบต่อระดับของสารเคมีที่ทำหน้าที่ส่งผ่านสัญญาณประสาท หรือนูโรทรานสมิตเตอร์ ในสมองของคนเรา อาทิ เซโรโทนิน, นออะดรีนาลีน และโดพามี ซึ่งปกติเป็นเป้าหมายในการรักษาอาการโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง

ภาพประกอบ istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook