ทำไมใครๆ ก็เป็นโรค "หลอดเลือดหัวใจตีบตัน"
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/he/0/ud/0/1965/istock_000019483250_medium.jpgทำไมใครๆ ก็เป็นโรค "หลอดเลือดหัวใจตีบตัน"

    ทำไมใครๆ ก็เป็นโรค "หลอดเลือดหัวใจตีบตัน"

    2023-07-24T05:30:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

    จากไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ต้องเคร่งเครียดกับการทำงาน เวลาจะออกกำลังกายก็แทบจะไม่มี แถมยังสูบบุหรี่อีก อาหารที่รับประทานส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารประเภทจานด่วน เพราะมันรวดเร็วดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่ประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้โรคต่างๆ ถามหาได้ง่ายขึ้น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันขึ้นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องได้รับยาตลอดชีวิต

    นายแพทย์นาวี ตันจรารักษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท สละเวลามาให้ความรู้เรื่องของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน พร้อมทั้งวิธีป้องกันเพื่อให้ห่างไกลจากโรคหัวใจตีบตันกัน

    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเกิดจากการมีไขมันและหินปูนไปพอกอยู่ภายในหลอดเลือดแดง จนเกิดการอุดตัน หรือเส้นเลือดเกิดการปริแตกขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ โรคประจำตัว (โรคเบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง)น้ำหนักตัว รวมถึงไลฟ์สไตล์ เช่น การรับประทานอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ รวมไปถึงความเครียด และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุ เพศ และเชื้อชาติ

    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง

    โรคหลอดเลือดหัวใจชนิดเฉียบพลัน มีโอกาสทำให้เสียชีวิตสูงถ้าไม่รีบมาพบแพทย์ คนไข้อาจมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอกช่วงกึ่งกลางหน้าอก เป็นถี่ขึ้น รุนแรงมากขึ้นแม้ขณะไม่ได้ออกกำลัง อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อออก หายใจไม่สะดวกร่วมด้วย เมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน อาจทำให้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงว่านานเท่าไหร่ ดังนั้น จะต้องรีบนำคนไข้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หรืออย่างช้าภายในเวลา 6-12 ชั่วโมง หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการครั้งแรก เพื่อทำการเปิดหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ โดยการให้ยาสลายลิ่มเลือด หรือทำบอลลูนขยายหลอดเลือด

    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันชนิดเรื้อรัง จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นๆ หายๆ ซึ่งอาการมักสัมพันธ์กับการออกกำลัง เช่น การเดิน การออกกำลังกาย หรือการขึ้นบันได อาจมีอาการเจ็บแน่นบริเวณกึ่งกลางหน้าอกแต่พอได้นั่งพักอาการก็จะหายไป และบางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวไปหัวไหล่ซ้ายขึ้นไปถึงกรามด้วย หากเกิดอาการเหล่านี้จะต้องรีบมาพบแพทย์

    การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

    ในกรณีที่เป็นไม่มาก การรักษาหลัก คือ การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ร่วมกับการรับประทานยา ซึ่งเมื่อเป็นโรคนี้แล้วต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการพอกตัวของไขมันเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย

    ในกรณีที่มีอาการมาก คือ เส้นเลือดตีบมากทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง คนไข้ต้องได้รับการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน การสวนหัวใจ คือ การฉีดสารทึบรังสีดูช่องทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่า หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ ตัน บ้างหรือไม่ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงเพียงใด ลิ้นหัวใจเปิดปิดได้ดีเพียงใด อีกทั้งยังสามารถวัดความดันภายในหัวใจและส่วนต่างๆ ของหัวใจได้ด้วย สามารถทำได้ 2 วิธีคือ การสวนหัวใจผ่านทางขาหนีบ (Femoral Artery) และสวนหัวใจผ่านทางข้อมือ (Radial Artery) โดยแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับความชำนาญและความถนัดของแพทย์

    เมื่อทำการสวนสีหัวใจดูแล้ว หากพบว่าหลอดเลือดตีบหรือตันตรงไหน ก็จะทำการรักษาโดยการทำบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด การทำบอลลูน คือ การใส่ขดลวดเพื่อถ่างหรือดันไขมันสะสมที่มาขวางทางเดินของหลอดเลือดอยู่ ทำให้หลอดเลือดที่ตีบตันโล่งขึ้น เลือดสามารถไหลผ่านได้สะดวกยิ่งขึ้น

    ส่วนในรายที่มีหลอดเลือดตีบหลายตำแหน่ง มักใช้วิธีการผ่าตัดทำบายพาส โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้ายหรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านในมาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ

    สำหรับบุคคลที่แพทย์สงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ Calcium Score CT ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์จะสามารถนำข้อมูลจากผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาช่วยในการตัดสินใจ เพื่อวางแผนการรักษาแต่เนิ่นๆ ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายไปโดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากโรคหัวใจได้

    กันไว้ดีกว่าแก้

    ถึงแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ จะมีการพัฒนากันอย่างไม่หยุดยั้ง ช่วยให้สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ง่ายและดียิ่งขึ้น แต่การดูแลตัวเองคือสิ่งสำคัญเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้เราห่างจากโรคภัย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรปฏิบัติ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ ควรรับประทานอาหารประเภทปลา หรือเนื้อไก่ไม่ติดหนัง และอาหารที่มีเส้นใยสูง อย่างผักและผลไม้ ควรลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น อาหารประเภททอด และอาหารประเภทเนื้อแดง น้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหารควรใช้น้ำมันรำข้าว

    และสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการรับประทานอาหาร คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ซึ่งเน้นการทำงานของปอดและหัวใจ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที สำหรับพฤติกรรมที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดคือ การสูบบุหรี่ รวมถึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาโอกาสมาตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้ก็จะทำให้คุณห่างไกลจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

     

    ขอขอบคุณ

    ข้อมูล :โรงพยาบาลสมิติเวช