วิธีลดความอ้วนที่เหมาะสมและไม่เกิด Yo-Yo Effect

วิธีลดความอ้วนที่เหมาะสมและไม่เกิด Yo-Yo Effect

วิธีลดความอ้วนที่เหมาะสมและไม่เกิด Yo-Yo Effect
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิธีลดความอ้วนมีวิธีใดบ้าง? 

ปัจจุบันคนจำนวนมากนิยมลดความอ้วนโดยการใช้ยา และอดอาหาร เพราะเชื่อว่าจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้เร็ว และวิธีการไม่ยุ่งยาก 

ยาลดความอ้วน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาควบคุมพิเศษ และยาอันตรายที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีผลลดความอยากอาหาร ทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ทำให้มีอาการสับสน หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ทรงตัวลำบาก ม่านตาขยาย ปวดศีรษะ อาจมีอาการทางจิต เห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียง ในรายที่รุนแรงพบว่ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือเกิดการชักได้ 

ในระยะยาวร่างกายจะเกิดอาการดื้อยา หากใช้ติดต่อกันนานเกินไป และเมื่อหยุดยา น้ำหนักตัวจะกลับมาเพิ่มขึ้น 

ยาบางชนิดมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ เมื่อกระตุ้นให้ร่างกายขับน้ำออก น้ำหนักตัวจะลดลง แต่ก็มีผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย เพราะสูญเสียน้ำและเกลือแร่บางส่วน เป็นการลดที่ผิดเพราะปัญหาที่สำคัญของความอ้วนอยู่ที่ไขมัน ไม่ใช่น้ำ 

ยาลดความอ้วนหรือผลิตภัณฑ์ที่มีรำข้าวและกากใยอื่นๆ ส่วนใหญ่จะพองตัวเมื่อรับประทานเข้าไป ช่วยให้รู้สึกอิ่ม แต่ไม่เกี่ยวกับการช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน บางครั้งยังพบว่าเป็นต้นเหตุของการอุดตันในระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปแล้วดื่มน้ำตามไม่เพียงพอ 

ส่วนผู้ที่ใช้การอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ไม่ใช่วิธีที่ดีในระยะยาว เนื่องจากการอดอาหารทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลดน้อยลงด้วย เมื่อเลิกอดอาหารและกลับมารับประทานอาหารใหม่ มักพบว่ารับประทานได้มากกว่าเดิม น้ำหนักตัวจึงเพิ่มขึ้นและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนลดด้วยซ้ำไป

 

Yo-Yo Effect คืออะไร ถ้าเกิดแล้วควรทำอย่างไร 

Yo-Yo Effect คือ การเรียกเปรียบเทียบปรากฏการณ์ที่เกิดหลังการลดน้ำหนักกับการเล่นลูกดิ่งโย-โย่ โดยหลังจากการลดจนน้ำหนักลงเพียงไม่นานน้ำหนักก็กลับเพิ่มขึ้นอีก ต้องพยายามลดน้ำหนักลงใหม่ โดยต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการลด ทุกครั้งหลังลดน้ำหนักก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นและมากกว่าเดิม เหมือนกับลูกดิ่งที่เมื่อปล่อยจากมือลงสู่พื้นแล้วก็จะม้วนตัวกลับมาสู่มือของเราอีก ยิ่งปล่อยลูกดิ่งออกไปแรงและไกลเท่าไร ลูกดิ่งก็จะกลับคืนสู่มือเร็วเท่านั้น 

Yo-Yo Effect พบมากในผู้ที่รับประทานยาลดความอ้วน เนื่องจากตัวยาจะไปกดประสาท ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มตลอดเวลา ไม่อยากรับประทานอาหาร เมื่อเลิกรับประทานยาก็จะกลับมารู้สึกอยากรับประทานอาหารเหมือนเดิม และอาจมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงร่างกายมีการปรับตัวให้มีการเผาผลาญอาหารลดลง 

ตัวอย่างเช่น ระหว่างที่รับประทานยาลดความอ้วนนั้น จากเดิมที่ร่างกายเคยรับประทานอาหารวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ แต่พอรับประทานทานยาแล้วไม่หิว ร่างกายอาจถูกจำกัดการรับอาหาร ทำให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายเหลือเพียงวันละ 1,000 กิโลแคลอรี่  อัตราการเผาผลาญของร่างกายก็จะถูกปรับจาก 2,000 กิโลแคลอรี่ ให้เหลือเพียง 1,000 กิโลแคลอรี่ ซึ่งเป็นกลไลการป้องกันการขาดสารอาหารของร่างกายคล้ายการจำศีล เมื่อรับประทานอาหารน้อยลงร่างกายก็เผาผลาญพลังงานน้อยลง 

ดังนั้นหลังจากที่น้ำหนักลดลง เรากลับมารับประทานอาหาร แม้ว่าจะรับประทานน้อยกว่าเดิม โดยรับประทานอาหารเหลือวันละ 1,500 กิโลแคลอรี่ เราก็มีโอกาสที่จะกลับมาอ้วนได้ เพราะร่างกายเราสามารถเผาผลาญได้แค่ 1,000 กิโลแคลอรี่เท่านั้น ที่เหลือค้างอีก 500 กิโลแคลอรี่ก็จะกลับมาสะสมตามร่างกายกลับมาอ้วนเหมือนเดิม การอดอาหารทำให้ผอมลงได้จริง แต่ก็เป็นเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อร่างกายชินกับการอดอาหาร ก็จะปรับตัวกับการได้รับพลังงานน้อย และเริ่มสะสมพลังงานอีกครั้งหนึ่ง (แม้รูปร่างจะผอมลงแล้วก็ตาม)

วิธีหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิด Yo-Yo Effect คือ หยุดการลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร ปรับเปลี่ยนอุปนิสัยในการรับประทานและเปลี่ยนการดำเนินชีวิต การลดความอ้วนที่ไม่เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน และไม่เน้นเผาผลาญพลังงานนั้น โอกาสที่กลับมาอ้วนจะสูงกว่า ดังนั้นควรเริ่มต้นลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี และรับคำแนะนำการลดน้ำหนักที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook