วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5

วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5

วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และถือเป็นวันเลิกทาศ และวันหยุดราชกาลของไทย 

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5

  1. การเลิกทาส

    พระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ก็คือ “การเลิกทาส”

    สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น ประเทศไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมือง ของประเทศ เพราะเหตุว่าลูกทาสในเรือนเบี้ยได้มีสืบต่อกันเรื่อยมาไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นทาสกันตลอดชีวิต พ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อ ๆ กันเรื่อยไป

    กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในเวลานั้น ตีราคาลูกทาสในเรือนเบี้ย ชาย 14 ตำลึง หญิง 12 ตำลึง แล้วไม่มีการลด ต้องเป็นทาสไปจนกระทั่ง ชายอายุ 40 หญิงอายุ 30 จึงมีการลดบ้าง คำนวณการลดนี้ อายุทาสถึง 100 ปี ก็ยังมีค่าตัวอยู่ คือชาย 1 ตำลึง หญิง 3 บาท แปลว่า ผู้ที่เกิดในเรือนเบี้ย ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้ว ก็ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต

    ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงปีที่ พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จึงมีบัญญัติว่า ลูกทาสซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2411 ให้มีสิทธิได้ลดค่าตัวทุกปี โดยกำหนดว่า เมื่อแรกเกิด ชายมีค่าตัว 8 ตำลึง หญิงมีค่าตัว 7 ตำลึง เมื่อลดค่าตัวไปทุกปีแล้ว พอครบอายุ 21 ปีก็ให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง

    ข้าทาสและไพร่ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหลุดพ้นจากระบบดั้งเดิม
    ได้กลายเป็นราษฎรสยามและต่างมีโอกาสประกอบ อาชีพหลากหลาย

    พอถึงปี 2448 ก็ได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124” (พ.ศ.2448) เลิกเรื่องลูกทาส ในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่เป็นทาสอีกต่อไป การซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด
  2. การปฏิรูประเบียบบริหารราชการ

    การบริหารแผ่นดินในต้นรัตนโกสินทร์นั้น คงดำเนินตามแบบที่ได้ทำมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผิดแต่ว่ามีกรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นบ้าง แต่หลักของการบริหารนั้น คงมีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหม ว่าการฝ่ายทหาร สมุหนายก ว่าการพลเรือน ซึ่งแบ่งออกเป็นกรมเมืองหรือกรมนครบาล กรมวัง กรมคลัง และกรมนา

    ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติด้วยพระองค์เองเมื่อ พ.ศ.2416 นั้น เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จต่างประเทศดูแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรป นำมาใช้ในสิงคโปร์ ชวา และอินเดียแล้ว ทรงพระราชปรารภว่า สมควรจะได้วางระเบียบราชการ บริหารส่วนกลางเสียใหม่ตามแบบอย่างอารยประเทศ โดยจัดจำแนกราชการเป็นกรมกองต่าง ๆ มีหน้าที่เป็นหมวดเหล่า ไม่ก้าวก่ายกัน ดังนั้นใน พ.ศ.2418 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แยกกระทรวงพระคลังออกจากกรมท่า หรือต่างประเทศ และตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ทำหน้าที่เก็บรายได้ของแผ่นดินทุกแผนกขึ้นเป็นครั้ง แรก

    ต่อจากนั้น ก็ได้ทรงปรับปรุงหน้าที่ของกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรวมกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายเวลานั้นเข้าเป็นกระทรวง กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพอเหมาะสม

    กระทรวงซึ่งมีอยู่ในตอนแรก ๆ เริ่มแถลงราชสมบัตินั้นเพียง 6 กระทรวง คือ
    1. กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ
    2. กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ และการทหารบก ทหารเรือ
    3. กระทรวงนครบาล มีหน้าที่บังคับบัญชาการรักษาพระนคร คือปกครองมณฑลกรุงเทพ ฯ
    4. กระทรวงวัง มีหน้าที่บังคับบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง
    5. กระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดการอันเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ และการพระคลัง
    6. กระทรวงเกษตราธิการ มีหน้าที่จัดการไร่นา

    เพื่อให้เหมาะสมกับสมัย จึงได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ของกระทรวงบางกระทรวง และเพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง คือ
    1. กระทรวงการต่างประเทศ แบ่งหน้าที่มาจากกระทรวงการคลังเก่า มีหน้าที่ตั้งราชทูตไปประจำสำนักต่างประเทศ เนื่องจากเวลานั้นชาวยุโรปได้ตั้งกงสุลเข้ามาประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ บ้างแล้ว สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นเสนาบดีกระทรวงนี้เป็นพระองค์แรก และใช้พระราชวังสราญรมย์เป็นสำนักงาน เริ่มระเบียบร่างเขียนและเก็บจดหมายราชการ ตลอดจนมีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาทำงานตามเวลา ซึ่งนับเป็นแบบแผนให้กระทรวงอื่น ๆ ทำตามต่อมา
    2. กระทรวงยุติธรรม แต่ก่อนการพิจารณาพิพากษาคดีไม่ได้รวมอยู่ในกรมเดียวกัน และไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน เป็นเหตุให้วิธีพิจารณาพิพากษาไม่เหมือนกัน ต่างกระทรวงต่างตัดสิน จึงโปรด ฯ ให้รวมผู้พิพากษา ตั้งเป็นกระทรวงยุติธรรมขึ้น
    3. กระทรวงโยธาธิการ รวบรวมการโยธาจากกระทรวงต่าง ๆ มาไว้ที่เดียวกัน และให้กรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมรถไฟรวมอยู่ในกระทรวงนี้ด้วย
    4. กระทรวงธรรมการ แยกกรมธรรมการและสังฆการีจากกระทรวงมหาดไทย เอามารวมกับกรมศึกษาธิการ ตั้งขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการมีหน้าที่ตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ฝึกหัดบุคคล ให้เป็นครู สอนวิชาตามวิธีของชาวยุโรป เรียบเรียงตำราเรียน และตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วราชอาณาจักร

      ทั้งนี้ได้ทรงเริ่มจัดการตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ.2431 จัดให้มีเสนาบดีสภา มีสมาชิกเป็นหัวหน้ากระทรวง 10 นาย และหัวหน้ากรมยุทธนาธิการ กับกรมราชเลขาธิการ ซึ่งมีฐานะเท่ากระทรวงก็ได้เข้านั่งในสภาด้วย รวมเป็น 12 นาย พระองค์ทรงเป็นประธานมา 3 ปีเศษ

      แต่เดิมเสนาบดีมีฐานะต่าง ๆ กัน แบ่งเป็น 3 คือ เสนาบดีมหาดไทยกับกลาโหมมีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี เสนาบดีนครบาล พระคลังและเกษตราธิการ มีฐานะเป็นจตุสดมภ์ เสนาบดีการต่างประเทศ ยุติธรรม ธรรมการและโยธาธิการ เรียกกันว่า เสนาบดีตำแหน่งใหม่ ครั้นเมื่อมีประกาศ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 จึงเรียกเสนาบดีเหมือนกันหมด ไม่เรียกอัครเสนาบดีและจตุสดมภ์อีกต่อไป
  3. การศึกษา

    ในรัชกาลที่ 5 นี้ได้โปรดให้ขยายการศึกษาขึ้นเป็นอันมากใน พ.ศ.2414 ได้โปรดให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วมีหมายประกาศชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้ส่งบุตรหลานเข้า เรียน โรงเรียนภาษาไทยนี้ โปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมาตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง ให้นายยอช แปตเตอร์สัน เป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนทั้งสองนี้ขึ้นอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก

    ต่อมาโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นและจัดตั้งขึ้นตามวัดต่างๆ ตามประเพณีนิยมของราษฎร โรงเรียนหลวงนี้ได้จัดตั้งขึ้นที่ “วัดมหรรณพาราม” เป็นแห่งแรก แล้วจึงแพร่หลายออกไปตามหัวเมืองทั่ว ๆ ไป โปรดให้ตั้งกรมศึกษาธิการ ขึ้นในปี พ.ศ.2428 และจัดให้มีการสอบไล่ครั้งแรกใน พ.ศ.2431 ต่อมาในปี พ.ศ.2433 ได้มีการปฏิวัติแบบเรียน โดยให้เลิกสอนตามแบบเรียน 6 กลุ่ม มีมูลบทบรรพกิจเป็นต้น ของพระยาศรีสุนทรโวหาร มาใช้แบบเรียนเร็วของกรมพระยาดำรงราชานุภาพแทน ในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น จัดการศึกษาและการศาสนาขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2435 การศึกษาก็เจริญก้าวหน้าสืบมาโดยลำดับ
  4. การศาล

    แต่เดิมมากรมต่าง ๆ ต่างมีศาลของตนเองสำหรับพิจารณาคดี ที่คนในกรมของตนเกิดกรณีพิพาทกันขึ้น แต่ศาลนี้ก็เป็นไปอย่างยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ ใน พ.ศ.2434 จึงได้ตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เพื่อรวบรวมศาลต่าง ๆ ให้มาขึ้นอยู่ในกระทรวงเดียวกัน นอกจากนั้นในการพิจารณาสอบสวนคดี ก็ใช้วิธีจารีตนครบาล คือ ทำทารุณต่อผู้ต้องหา เพื่อให้รับสารภาพ เช่น บีบขมับ ตอกเล็บ เฆี่ยนหลัง และทรมานแบบอื่น ๆ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ต้องหาทนไม่ไหว ก็จำต้องสารภาพ จึงได้ตราพระราชบัญญัติขึ้น ใช้วิธีพิจารณาหลักฐานจากพยานบุคคลหรือเอกสาร ส่วนการสอบสวนแบบจารีตนครบาลนั้นให้ยกเลิก

    ได้จัดตั้งศาลโปริสภาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435 ต่อมาได้จัดตั้งศาลมณฑลขึ้น โดยตั้งที่มณฑลอยุธยาเป็นมณฑลแรก และขยายต่อไปครบทุกมณฑล
  5. การคมนาคม

    ได้โปรดให้สร้างถนนและสะพานขึ้นเป็นอันมาก ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมือง ถนนที่ทรงสร้างใหม่ คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีหนึ่ง ๆ ทรงสละพระราชทรัพย์สร้างสะพานขึ้น ซึ่งมีคำว่า “เฉลิม” นำหน้า เช่น สะพานเฉลิมศรี สะพานเฉลิมสวรรค์ สะพานอื่น ๆ ที่สำคัญทรงสร้างขึ้น เช่น สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานเทวกรมรังรักษ์ โปรดให้ขุดคลองต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางคมนาคม และส่งเสริมการเพาะปลูก

    ใน พ.ศ.2433 โปรดให้สร้างทางรถไฟตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ถึงจังหวัดนครราชสีมา ทรงเปิดทางตอนแรกตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ถึงอยุธยาก่อน ใน พ.ศ.2439 สายต่อ ๆ ไปที่โปรดให้สร้างขึ้นในภายหลังคือ สายเพชรบุรี สายฉะเชิงเทรา สายเหนือเปิดใช้ถึงชุมทางบ้านดารา จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้สัมปทานเดินรถรางและรถไฟในกรุงเทพ ฯ สมุทรปราการ กับรถไฟในแขวงพระพุทธบาท ตลอดจนจัดการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพ ฯ กับสมุทรสงคราม

    การไปรษณีย์ โปรดให้เริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.2424 รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2412 โทรเลขสายแรกที่สุด คือ ระหว่างจังหวัดพระนครกับจังหวัดสมุทรปราการ
  6. การสุขาภิบาล

    ในส่วนการบำรุงความสุขของพลเมืองนั้น ได้ทรงตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดูแลจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่ง เช่น ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลโรคจิต และโรงเลี้ยงเด็ก นอกจากนี้ได้ส่งแพทย์ออกเที่ยวปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษและป้องกันอหิวาตกโรค โดยไม่คิดมูลค่า ใน พ.ศ.2436 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี จัดสร้าง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “สภากาชาดไทย” ต่อมาสภาได้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น แต่ยังไม่ทันเสร็จ มาเสร็จในรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” ใน พ.ศ.2457

    ใน พ.ศ.2446 ได้ทรงจ้างช่างฝรั่งเศสเป็นนายช่างสุขาภิบาล จัดหาน้ำสะอาดให้ชาวพระนครบริโภค แต่การนี้มาสำเร็จในรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า “การประปา” อนึ่งในปีเดียวกันนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง “โอสถสภา” ขึ้น จัดทำยาตำราหลวงส่งไปจำหน่ายตามหัวเมืองในราคาถูก
  7. การสงครามและการเสียดินแดน

    ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะได้ทรงเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการประเทศในลักษณะที่เรียกกันว่า “พลิกแผ่นดิน” หรือ “ปฏิวัติ” ก็ตาม แต่ในด้านการเกี่ยวข้องกับชาวตะวันตกซึ่งได้ยื่นมือเข้ามาต้องการดินแดนของ เรา ตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ นั้น ได้ทำให้เราต้องเสียดินแดนต่าง ๆ ไปในรัชกาลนี้อย่างมากมายและเป็นการเสียจนครั้งสุดท้าย ซึ่งการเสียแต่ละครั้งนั้น หากจะนำมากล่าวโดยยืดยาวก็เกินความจำเป็น ฉะนั้นจึงจะนำมากล่าวเฉพาะดินแดนที่เราเสียไปเท่านั้น ดินแดนที่เราเสียไปเพราะถูกข่มเหงรังแกจากฝรั่งเศส มีหลายคราวด้วยกัน คือ
    • พ.ศ.2431 เสียแคว้นสิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหก คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 87,000 ตารางกิโลเมตร
    • พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดจนถึงเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำโขง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 143,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งยังต้องเสียเงินค่าปรับเป็นเงิน 2 ล้านฟรังค์ (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในเวลานั้นประมาณ 1 ล้านบาท) และต้องถอนทหารจากชายแดนทั้งหมดและฝรั่งยึดจันทบุรีไว้เป็นการชำระหนี้
    • ในปี พ.ศ.2447 ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามหลวงพระบาง และตรงข้ามปากเซให้แก่ฝรั่งเศสอีก คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 12,500 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้เนื่องจากฝรั่งเศสไม่ยอมถอนทหารจากจันทบุรี เมื่อเสียดินแดนนี้แล้วฝรั่งเศสก็ถอนทหารออกจากจันทบุรี แต่ไปยึดเมืองตราดไว้อีก โดยหาเหตุผลอันใดมิได้
    • เพื่อที่จะให้ฝรั่งเศสไปจากเมืองตราด ไทยต้องเสียสละ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ซึ่งไทยได้มาอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ พ.ศ.2352 ให้แก่ฝรั่งเศส โดยสัญญาลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2449 ฝรั่งเศสยอมคืนเมืองด่านซ้าย เมืองตราด และเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดให้แก่ไทย รวมดินแดนที่เสียไปครั้งนี้เป็นเนื้อที่ประมาณ 51,000 ตารางกิโลเมตร

      แต่การเสียดินแดนคราวสุดท้ายนี้ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมให้ศาลไทยมีสิทธิที่จะชำระคดีใด ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชาวฝรั่งเศส และคนในบังคับฝรั่งเศสได้หาไปขึ้นศาลกงสุลเช่นแต่ก่อนไม่

      ส่วนทางด้านอังกฤษนั้น ปรากฏว่าเขตแดนระหว่างมลายู ซึ่งเป็นของอังกฤษกับไทยยังหาปักปันกันโดยควรไม่ตลอดมาถึงปี พ.ศ.2441 ประเทศไทยได้เปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย ใน พ.ศ.2454 อังกฤษจึงยอมตกลงให้ชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับอังกฤษมาขึ้นศาลไทยและยอมให้ไทยกู้เงินจากอังกฤษทางรัฐบาล สหรัฐมลายู เพื่อนำมาใช้สร้างทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ เพื่อตอบแทนประโยชน์ที่อังกฤษเอื้อเฟื้อ ทางฝ่ายไทยยอมยกรัฐกลันตัน ตรังกานูและไทยบุรี ให้แก่สหรัฐมลายูของอังกฤษ
  8. การเสด็จประพาส

    การเสด็จประพาสเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอันหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ระหว่างที่ยังมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นก็ได้เสด็จประพาสชวา และอินเดีย เพื่อดูแบบอย่างการปกครองที่ชาวยุโรป นำมาใช้ในเมืองขึ้น เพื่อนำมาแก้ไขดัดแปลงใช้ในประเทศของเราบ้าง และการก็เป็นไปสมดังที่พระองค์ได้ทรงคาดการณ์ไว้ เพราะได้นำเอาวิธีการปกครองในดินแดนนั้น ๆ มาใช้ปรับปรุงระเบียบการบริหารอันเก่าแก่ล้าสมัยของเรา ซึ่งใช้กันมาตั้ง 400 ปีเศษแล้ว

    เมื่อได้เกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2440 ครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ.2450 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสด้วย

    ในการเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2440 ได้มีกระแสพระราชปรารภมีข้อความตอนหนึ่งว่า พระองค์ได้เสด็จไปนอกพระราชอาณาเขตหลายครั้งคือ เสด็จประพาสอินเดีย พม่ารามัญ ชวาและแหลมมลายู หลายครั้ง ได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผนขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้นมาปรับปรุงใน ประเทศให้เจริญขึ้นแล้วหลายอย่าง แม้เมืองเหล่านั้นเป็นเพียงแต่เมืองขึ้นของมหาประเทศในทวีปยุโรป ถ้าได้เสด็จถึงมหาประเทศเหล่านั้นเองประโยชน์ย่อมจะมีขึ้นอีกหลายเท่า ทั้งจะได้ทรงวิสาสะคุ้นเคยกับพระมหากษัตริย์ และรัฐบาลของประเทศน้อยใหญ่ใน ยุโรปด้วย เป็นทางส่งเสริมทางไมตรีให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงได้ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินในวันที่ 7 เมษายน ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) มีกำหนดเวลาประมาณ 9 เดือน

    การเสด็จประพาสต่างประเทศ ในขณะที่เสวยราชสมบัติระยะไกลเป็นเวลาเช่นนั้น นับเป็นครั้งแรกจึงได้ทรงออกพระราชกำหนด ตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินรักษาพระนคร ซึ่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินครั้งแรกนี้ ได้แก่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ (ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชเทวี) ซึ่งครั้งนั้นทรงเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร (พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) กับทรงตั้งที่ปรึกษาล้วนแต่เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอชั้นผู้ใหญ่ 4 พระองค์ คือพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ 1 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุ-รังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช 1 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ 1 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 1 กับมีข้าราชการชาวต่างประเทศ ซึ่งจ้างมารับราชการในประเทศไทยครั้งนั้น คือ โรลังยัคมินส์ ชาวเบลเยี่ยม ซึ่งได้บรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาอภัยราชา ร่วมด้วยอีก 1 ท่าน

    ในการเสด็จประพาสครั้งแรกนี้ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตลอดระยะทาง พระราชหัตถเลขานี้ต่อมาได้รวมเป็นหนังสือเล่มชื่อ พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ให้ความรู้เกี่ยวแก่สถานที่ต่าง ๆ ที่เสด็จไปอย่างมากมาย

    ส่วนการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จกลับแล้ว จึงทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    ส่วนภายในประเทศ ก็ทรงถือว่าการเสด็จประพาสในที่ต่าง ๆ เป็นเหตุให้รู้สารทุกข์สุขดิบของราษฎรเป็นอย่างดี พระองค์จึงได้ทรงปลอมแปลงพระองค์ไปกับเจ้านายและข้าราชการ ไปโดยเรือมาดแจวไปตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ แวะเยี่ยมเยียนตามบ้านราษฎร ซึ่งเรียกกันว่า “ประพาสต้น” ประพาสต้นนี้ได้เสด็จ 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ.2447 ครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ.2449 อีกครั้งหนึ่ง
  9. การศาสนา

    ในด้านศาสนานั้นพระองค์มิได้ทรงละเลย ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกโดยแท้จริงในด้านพระพุทธศาสนานั้น นอกจากจะทรงบรรพชาเป็นสามเณรและทรงอุปสมบทด้วยแล้ว ยังให้ความอุปถัมภ์สงฆ์ 2 นิกาย ดังเช่น สมเด็จพระราชบิดา ในปี พ.ศ.2445 ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ เป็นการวางระเบียบสงฆ์มณฑลให้เป็นระเบียบทั่วราชอาณาจักร ให้กระทรวงธรรมการมีหน้าที่ควบคุมการศาสนา ทรงอาราธนาพระราชาคณะให้สังคายนาพระไตรปิฎก แล้วพิมพ์เป็นอักษรไทยชุดละ 39 เล่ม จำนวน 1,000 ชุด แจกไปตามพระอารามต่าง ๆ ถึงต่างประเทศด้วย ใน พ.ศ.2442 ทรงปฏิสังขรณ์วัดเบญจมบพิตร แล้วจำลองพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลกมาประดิษฐานไว้ในวัดนี้ ทรงปฏิสังขรณ์วัดหลายวัด สร้างพระอารามหลายพระอาราม เช่น วัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ (บางปะอิน) เป็นต้น

    ส่วนศาสนาอื่น ก็ทรงให้ความอุปถัมภ์ตามสมควร เช่น สละพระราชทรัพย์สร้างสุเหร่าแขก พระราชทานเงินแก่คณะมิชชันนารี และพระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์ที่ริมถนนสาธร
  10. การวรรณคดี

    ในด้านวรรณคดีนั้น ในรัชกาลนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมราวกับปฏิวัติ คือ ประชาชนหันมานิยมการประพันธ์แบบร้อยแก้ว ส่วนคำประพันธ์แบบโคลงฉันท์กาพย์กลอนนั้น เสื่อมความนิยมลงไป หนังสือต่าง ๆ ก็ได้รับการเผยแพร่ยิ่งกว่าสมัยก่อน เพราะเนื่องจากมีโรงพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง ๆ ได้จำนวนมาก ไม่ต้องคัดลอกเหมือนสมัยก่อน ๆ

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงเป็นนักประพันธ์ ซึ่งมีความชำนาญทั้งทางร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น ไกลบ้าน ลิลิตนิทราชาคริต เงาะป่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นต้น พระราชนิพนธ์เล่มหลังนี้ ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดความเรียงประเภทคำอธิบาย

ขอบคุณข้อมูลโดย :
พระราชสุทธิญาณมงคล
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook