มช. สานฝันอาชีพครู พร้อมผลักดัน ครูรัก(ษ์)ถิ่น สู่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

มช. สานฝันอาชีพครู พร้อมผลักดัน ครูรัก(ษ์)ถิ่น สู่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

มช. สานฝันอาชีพครู  พร้อมผลักดัน ครูรัก(ษ์)ถิ่น สู่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาการโยกย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาคุณภาพครูรุ่นใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนราว 2,000 แห่ง ในชุมชนพื้นที่ห่างไกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขานรับนโยบายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ได้ดำเนินโครงการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เข้าสู่รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษา ช่วยผลักดันและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท โดยการให้ทุนนักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อจบการศึกษาจะได้บรรจุเป็นครูในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างครูคุณภาพให้เข้าไปจัดการการศึกษาในโรงเรียนชุมชนบ้านเกิดอย่างมีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะศึกษาศาสตร์ สาขาประถมศึกษา เป็น 1 ใน 7 สถาบันที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้คัดเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมผลิตและพัฒนาครูให้เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2564  มีนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 31 คน จากนักเรียนที่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลโรงเรียนเป้าหมาย มีใจรักจะเป็นครูประถมศึกษาแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีผลการเรียนดีตลอด 5 ภาคการศึกษา และคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ซึ่งผู้แทนนักศึกษาได้เข้ารับโอวาทจาก ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งนี้โครงการจะเป็นลักษณะต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 – 2567 จำนวน 5 รุ่น ซึ่งผลจากการดำเนินงานในรุ่นที่ผ่านมา ได้ผลิตครูให้กับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา เป็นนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาประถมศึกษา ได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาชุมชน พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทั้งนี้โครงการได้เน้นการส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ผู้เรียนรักบ้านเกิด ร่วมแก้ไขปัญหา เป็นที่พึ่งของชาวบ้านและชุมชนได้ โดยโครงการได้สนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พัก ค่าครองชีพ ค่าตำราและอุปกรณ์การเรียน จนจบการศึกษา

นายพิเชษฐ์ ชวลิตอมรพงษ์ ตัวแทนนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ผมมีใจรักที่อยากจะเป็นครู แต่ทางบ้านไม่สามารถที่จะส่งเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อสานฝันของตัวเองในการเป็นครู และเพื่ออยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองให้มีศักยภาพ ในด้านของการพัฒนาชุมชน พัฒนาการศึกษา ให้เท่าทันกับชุมชนในเมืองครับ”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนองรับนโยบายทางการศึกษา มุ่งสร้างชุมชนแห่งวิชาชีพครูเพื่อตอบสนองการศึกษาแห่งอนาคต สู่การเป็นบัณฑิตครูที่มีคุณภาพตามเป้าหมาย สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและวิถีโลกในศตวรรษที่ 21  ที่สำคัญคืออยู่บนถิ่นฐานได้อย่างมีความสุขและเกิดความยั่งยืน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook