อยากเริ่มต้นขายของออนไลน์ อะไรบ้างที่สำคัญ

อยากเริ่มต้นขายของออนไลน์ อะไรบ้างที่สำคัญ

อยากเริ่มต้นขายของออนไลน์ อะไรบ้างที่สำคัญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคนี้ “การขายของออนไลน์” กำลังเป็นที่นิยมมาก ทั้งเรื่องโรคระบาดที่เป็นปัจจัยสำคัญให้การขายของออนไลน์เฟื่องฟูขึ้นมาก รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ ๆ ก็เปลี่ยนไป ทำให้การขายของออนไลน์มีมูลค่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลายคนมองเห็นโอกาสในการทำเงินจากการขายของออนไลน์ ตั้งแต่อยากทำเพื่อเป็นอาชีพเสริม หรือแม้กระทั่งคิดจะออกจากงานประจำมาทำเป็นรายได้หลัก หรือเพราะจากผลกระทบโรคระบาด ทำให้หลายคนตกงาน จึงหันมาขายของออนไลน์

ข้อดีของการขายของออนไลน์นั้นมีหลายอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทุนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนสูง เพราะไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ไม่จำเป็นต้องตุนของ ไม่จำเป็นต้องมีลูกจ้างหากทำคนเดียวไหว แต่ข้อเสียที่เป็นอุปสรรคใหญ่ก็คือ เพราะมันกลายเป็นอาชีพที่ใคร ๆ ก็หันมาทำ ทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่ดุเดือด คู่แข่งมีมากมาย หากคุณพลาดแม้แต่นิดเดียว ก็มีโอกาสที่จะไปต่อไม่ได้สูง ดูเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเริ่มอาชีพขายของออนไลน์ จะต้องวางแผนเรื่องอะไรบ้าง

จะขายอะไร

ก่อนจะเริ่มขายของออนไลน์ ได้คิดไว้หรือยังว่าจะขายอะไร ซึ่งการขายของออนไลน์นั้นสามารถ คุณสามารถขายได้ทุกอย่างที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าของนั้นจะแปลกแค่ไหนก็ตาม เพราะอาจจะมีคนที่ตามหาของสิ่งนี้อยู่ก็ได้ มันจะเป็นของหายาก หากคุณมีไอเดียที่สร้างสรรค์ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร ไม่เหมือนใครในตลาด คุณก็จะได้เปรียบตรงที่เป็นเจ้าแรกในตลาดและยังไม่มีคู่แข่ง ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจขายอะไร ต้องดูความต้องการของลูกค้า พฤติกรรมผู้บริโภค การแข่งขันในท้องตลาด ราคา ยอดขาย กำไร และการตลาดประกอบด้วย

หากคุณยังไม่รู้ว่าจะเริ่มขายอะไรดี ลองเลือกจากสินค้าที่คุณชื่นชอบก่อนก็ได้ เช่น เคยเป็นงานอดิเรกของคุณ เป็นงานถนัดของคุณ เป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นสินค้าที่ทำกำไรได้ดี หรือเป็นสินค้าประเภทที่มีคู่แข่งไม่สูงเกินไป เป็นต้น

กำหนดงบลงทุน

จะต้อง “ลงทุนเท่าไร” ในการขายของครั้งนี้ เป็นสิ่งแรกที่ต้องวางแผนให้ดี เพราะจะเป็นตัวกำหนดวงเงินของร้านค้า ซึ่งไม่ใช่แค่ค่าสินค้าที่คุณจะขาย แต่ต้องควรรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าจัดส่ง ค่าแพ็กสินค้า ค่าโฆษณา ค่าแรงงาน เพราะมีผลต่อการทำการตลาด การหาสินค้ามาขาย ควรลงพื้นที่สำรวจสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีตรงกับความต้องการมากที่สุด เลือกซัพพลายเออร์ที่น่าเชื่อถือ ราคาดี และคุณภาพก็ดีตาม การตั้งราคา กำไร-ขาดทุน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องตั้งราคาให้ถูกกว่าคู่แข่งเสมอไป แต่ใช้วิธีขายบริการที่น่าประทับใจให้ลูกค้าควบคู่ไปด้วย
กำหนดกลุ่มเป้าหมายและช่องทางการขายให้เหมาะสม

คุณจะขายอะไรให้ “ใคร” นี่คือคำถามที่คุณต้องตอบ กำหนดกลุ่มเป้าหมายของคุณให้ชัดเจน เพราะมันจะมีผลต่อการวางแผนเรื่องอื่น ๆ เช่น จุดขาย การตั้งราคาขาย การทำการตลาด และเลือกช่องทางการขายให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ ว่าสามารถเข้าถึงได้ดีแค่ไหน ซึ่งทุกวันนี้มีช่องทางขายสินค้าออนไลน์หลากหลายมาก เช่น ขายบนเว็บไซต์ที่เปิดขึ้นเอง หรือขายผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplace เช่น Shopee, Lazada, Zilingo หรือจะขายผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Twitter, Instagram, Line, TikTok หรือ YouTube

ศึกษาการทำการตลาดออนไลน์

จะขายของออนไลน์ คุณก็ต้องให้ความสำคัญกับการทำ “การตลาดออนไลน์” ซึ่งจะเป็นการโปรโมตร้านค้าผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขาย การเข้าถึงลูกค้า และการตลาด ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายและรวดเร็วมาก ๆ หากคุณมีแผนการตลาดดี เช่น ชื่อร้านจำง่าย น่าสนใจ ไม่ซ้ำใคร ค้นหาเจอได้ง่าย จะมีการไลฟ์ขายของด้วยหรือไม่เพื่อเรียกลูกค้าและเพิ่มการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจได้อานิสงส์จากการบอกต่อแบบปากต่อปาก หากมีลูกค้าคนหนึ่งประทับใจ พวกเขาพร้อมชี้เป้าบอกต่อร้านค้าของคุณให้คนอื่นได้ทราบทันที

ศึกษาเรื่องภาษีร้านค้าออนไลน์

ผู้ที่ประกอบอาชีพขายของออนไลน์ ก็ต้อง “ยื่นภาษี” ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ทางเดียว หรือคนที่ขายของออนไลน์เป็นอาชีพเสริม เพราะรายได้จากการขายของออนไลน์ก็เป็นเงินได้ประเภทหนึ่ง ที่จะต้องมีการยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง หากรายได้ถึงเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด ซึ่งคุณควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมายจะดีที่สุด จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง

หากคุณเปิดร้านขายของออนไลน์ โดยไม่ได้มีการเปิดหรือจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท จะถือเป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คุณต้องยื่นภาษี 2 แบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 94 โดยจะต้องยื่นเสียภาษี 2 ช่วงคือ

  • ยื่นภาษีสิ้นปี ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. เป็นการสรุปรายได้รวมทั้งหมดในปีที่ผ่านมา (ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90)
  • ยื่นภาษีกลางปี เดือน ก.ค.-ก.ย. เป็นการสรุปรายได้ในช่วงครึ่งปีภาษีแรก โดยที่ ค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่ง (ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94)

ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า แต่การนึกถึงลูกค้าต้องมาก่อน

หลัก ๆ แล้ว ลูกค้าจะมี 2 ประเภท คือประเภทที่น่ารักและไม่น่ารัก แน่นอนว่าความอดทนของคุณมีจำกัดกับการรับมือลูกค้าที่ไม่น่ารัก คติที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้า จึงไม่ยุติธรรมกับพ่อค้าแม่ค้าที่เจอลูกค้าประเภทนี้ แต่ในฐานะคนค้าขาย อย่าเอาพิมเสนไปแลกเกลือ คุณไม่จำเป็นต้องง้อลูกค้าประเภทนี้ แต่อย่าฆ่าตัวตายด้วยการทำให้ตัวเองเสียความน่าเชื่อถือ ต้องสุภาพและใจเย็นให้มากที่สุด อย่าโต้ตอบด้วยความหยาบคาย พยายามไม่ต้องสนใจ คุณจะเป็นมืออาชีพมากขึ้น แล้วหันมาบริการและรักษาลูกค้าดี ๆ ไว้จะดีกว่า

ศึกษาวิธีบริการให้ประทับใจ

มีรีวิวสินค้าแล้ว ก็มักจะมีคอมเมนต์ที่แสดงความคิดเห็นของลูกค้าต่อร้านค้า ซึ่งถ้าผู้ขายมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ก็จะถูกประเมินคะแนนต่ำ และบอกต่อลูกค้าคนอื่น ๆ ว่าร้านนี้ไม่น่าซื้อขายด้วย ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้าก็จริง และคุณไม่จำเป็นต้องง้อลูกค้าที่ทำตัวไม่น่ารัก แต่ลูกค้าดี ๆ ยังมีอีกมากที่เขาจะอุดหนุนสินค้าคุณหากเขาประทับใจ ในฐานะคนขายของต้องคำนึงถึงการบริการลูกค้าเสมอเพื่อซื้อใจลูกค้า ทุกวันนี้การแข่งขันสูง ถ้าคุณไม่เกรงใจลูกค้า ลูกค้าก็ไม่เลือกคุณ หากเลือกจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าขวางโลก ก็ต้องรับผลที่ตามมาให้ได้ เพราะลูกค้าไม่ชอบการขายของแบบนี้

ฉะนั้น ควรระมัดระวังเรื่องมารยาทในการตอบแชต การควบคุมอารมณ์ ไม่ค้ากำไรเกินควร จัดส่งเร็ว ลูกค้าติดต่อกับผู้ขายได้เร็ว แจ้งรายละเอียดสินค้าให้ชัดเจน โดยเฉพาะ “ราคาขาย” อย่าให้ลูกค้าต้องอินบ็อกซ์ไปถามราคา ซึ่งนี่เป็นการขายของที่ผู้ซื้อไม่ชอบมาก ๆ หลายคนจะข้ามร้านคุณไปทันที ที่สำคัญ มีโทษทางกฎหมายด้วย นอกจากนี้ หากมีบริการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การติดตามและบริการหลังการขาย การช่วยติดตามพัสดุกรณีที่มีปัญหา การอำนวยความสะดวกเรื่องช่องทางชำระเงินของลูกค้า หรือแจ้งข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่ถ้าทำได้มันก็จะดีกับร้านของคุณเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook