โรคจิตสำนึกเสื่อม และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่หายไป

โรคจิตสำนึกเสื่อม และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่หายไป

โรคจิตสำนึกเสื่อม และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่หายไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีเหตุการณ์เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะด้วยกรณีใดก็ตาม ที่การขาด “จิตสำนึก” และขาด “ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม” จากคนเพียงคนเดียว ส่งผลกระทบให้คนอื่นที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกันเขาเดือดร้อนเสียหายไปกันหมด คำถามคือ ในเมื่อเราอยู่ร่วมกันกับคนหมู่มาก คนที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ คนที่เราไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร เหตุใดความเกรงอกเกรงใจหรือให้เกียรติกันจึงไม่มี และเหมาะสมแค่ไหนที่คิดทำอะไร ๆ โดยที่เอาความสะดวกตัวเองเป็นที่ตั้งโดยไม่คิดถึงหัวจิตหัวใจของคนอื่นบ้าง

ทำตัวแบบนี้ “โรคจิตสำนึกเสื่อม” หรือเปล่า

จากข่าวคราวที่ได้ยินหรือพบเห็นแทบทุกวัน หลายคนคงไม่นึกไม่ฝันว่า “สังคมไทยจะมาถึงจุดนี้ได้” ด้วยสังคมบ้านเราจะมีคนที่มีจิตสำนึกบกพร่อง เห็นแก่ตัว ไร้สามัญสำนึก จากการที่ยึดถือตัวเองเป็น “ศูนย์กลางของจักรวาล” มากมายเต็มไปหมด และมีแฝงอยู่ในทุกสังคม คนประเภทที่ฉันจะทำ ฉันไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อน ไม่แยแสว่าใครจะเป็นหรือจะตายกับการกระทำของฉัน นับวันยิ่งมีมากขึ้น คนประเภทนี้เรียกได้ว่า “โรคจิตสำนึกเสื่อม”

เสียหายทั้งเมือง เพราะคนไม่กี่คน

บางครั้งเราอาจตั้งคำถามว่าคนประเภทนี้เขาเติบโตขึ้นมาอย่างไร ได้รับการอบรมสั่งสอนแบบไหนมา ถึงได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ชอบทำแต่เรื่องที่ไม่แคร์ใครบนโลก ไม่ว่าจะทำผิดโดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นเรื่องผิด หรือการ (ลักลอบ) ทำผิดทั้งที่รู้ว่าผิดแต่ก็ยังจะทำ นั้นสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นมากมายขนาดไหน

อย่างกรณีล่าสุด ที่เกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย สาวเชียงใหม่และเชียงรายที่เป็นเพื่อนกัน ลักลอบเข้า ๆ ออก ๆ ประเทศทางพรมแดนตามธรรมชาติโดยไม่ผ่านการกักตัวตามนโยบายรัฐ (แม้แต่จะสำนึกด้วยตัวเองก็ยังไม่มี ไม่คิดจะกักตัวเลย) ทั้งที่รู้ดีว่าขณะนี้คนทั้งโลกกำลังวุ่นวายกับโรคนี้มากแค่ไหน

แย่ที่สุด ที่ทำให้คนเชียงใหม่และเชียงรายโกรธกันหนักมาก คงหนีไม่พ้นการที่เจ้าตัวรู้อยู่ก่อนแล้วว่าตัวเองไม่สบาย แต่ก็ฝืนพาตัวเองไปรอบเมือง เที่ยวกลางคืน เข้าบาร์โฮสต์ กินข้าว ดูหนัง เดินห้าง หน้ากากก็ใส่ ๆ ถอด ๆ การป้องกันหละหลวม ทำตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น ใช้ชีวิตปะปนอยู่กับคนปกติทั่วไป พออาการตัวเองเริ่มไม่ไหวแล้วค่อยไปหาหมอ ซึ่งสุดท้ายก็แจ็กพอต เจอเชื้อ COVID-19 เข้าจนได้

162357

จริง ๆ แล้วกรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรก การเห็นแก่ตัวโดยสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นก็ไม่ได้มีเท่านี้ เช่น เคยมีกรณีจอดรถขวางทางเข้าออกซอย แต่อ้างว่าเป็นถนนสาธารณะ ขายของเต็มทางเท้าจนคนเดินไม่ได้ หรือจอดรถในที่จอดรถคนพิการ พอเขาร้องเรียนก็หาว่าเขาไม่มีน้ำใจ ทั้งที่ความจริงตัวเองไปละเมิดสิทธิและสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเขาก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยออกมาแก้ตัวด้วยการหงายการ์ด “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” สุดท้ายก็กลายเป็นคนดัง มีงานในวงการบันเทิงเข้าก็มีบ้างเหมือนกัน

ความเห็นแก่ตัวที่เมินความสงบสุขของคนอื่นในสังคม

อันที่จริง ตรรกะในการเอาเปรียบคนอื่น ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือตามโอกาสก็เป็นการกระทำที่แย่พอแล้ว แต่สิ่งที่คนเหล่านี้เป็น คือ เป็นพวกที่รู้ตัวเองแหละว่านี่มันผิด แต่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่สนใจว่าใครเดือดร้อน เงียบ ๆ ไว้เดี๋ยวเรื่องก็หาย และบางคนก็ดูจะภาคภูมิใจกับการประจานพฤติกรรมผิด ๆ ของตนเองได้อย่างหน้าไม่อายอีกต่างหาก

แต่ทุกวันนี้ เราจะเห็นมุกใหม่ คือการพยายามพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ทำให้ตนเองเป็นเหยื่อผู้น่าสงสาร ตกเป็นจำเลยสังคม ดึงพวกที่เห็นด้วยมาเป็นพวก รับบทเป็นนางเอกผู้น่าสงสาร ขอความเห็นใจต่าง ๆ นานา และโยนบทตัวอิจฉาใจร้ายไปให้คนที่ตัวเองไปทำให้เขาเดือดร้อนอีก

บางทีจะเห็นแก่ตัวเองก็ไม่มีใครว่า แต่ช่วยมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนนิดจะดีมาก เพราะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่ต่างพ่อต่างแม่ มาจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ความเกรงใจต่อกันเป็นสิ่งที่ควรจะมี หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็น “สามัญสำนึกของการอยู่ร่วมกัน”

อยู่ในสังคมเดียวกันก็ควรมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

สมาชิกที่อยู่ร่วมกันในสังคมจำเป็นต้องมีจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน ก็เพื่อให้สภาพแวดล้อมสังคมนั้น ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข คนทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพเต็มที่แต่ต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ลด ละ เลิก การกระทำลักษณะที่เอาความเห็นแก่ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ที่ทำให้คนทั้งสังคมได้รับผลกระทบไปด้วย

เพราะความจริงแล้ว การที่เราต้องอาศัยอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก สิ่งที่ควรจะทำมากที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการมีเรื่องขัดแย้งหรือสร้างปัญหา หากต้องอยู่ร่วมกันแบบมองหน้ากันไม่ติดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเสียสุขภาพจิตทั้ง 2 ฝ่าย ยิ่งถ้าเจอพวก “มึน ๆ” ด้วยแล้ว ที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่ามันผิด หรือก็รู้ว่ามันผิดแต่ไม่รับผิดชอบอะไร ก็ไม่ต่างกันอยู่ดี

หากถูกเอาผิดตามกฎหมายก็มักจะอ้างว่าทำไมถึงไม่เห็นใจกันบ้างเลย ตรงกันข้ามต้องไม่ลืมว่าตนเองก็ไม่เห็นใจคนอื่น ๆ เขาเหมือนกัน

แล้วอยู่ในสังคมเดียวกันต้องมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมอย่างไร

หัวใจสำคัญในการอยู่กับผู้อื่นในสังคมอย่างสงบสุข บนพื้นฐานของการมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมนั้นง่ายนิดเดียวแค่ “ลดความเห็นแก่ตัวลง แล้วเห็นหัวผู้อื่นให้มากขึ้น” ที่จริงมันสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องหาซื้ออุปกรณ์ ไม่ต้องมีใครช่วย ใช้แค่ “ใจ” ล้วน ๆ ขั้นแรกสุด อาจจะยังไม่ต้องนึกถึงว่าจะทำอะไรให้สังคมได้บ้าง แค่เลิกทำอะไรตามใจฉัน ก็ลดปัญหายุ่งยากไปได้มากแล้ว

ในสังคมที่มีคนอาศัยอยู่รวมกัน เราย่อมสิทธิ เสรีภาพที่เท่าเทียมกัน อยากจะทำอะไรก็ทำได้เต็มที่อยู่แล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน” แต่ปัญหาของสังคมเราก็คือ “คนนั้นยังทำได้ ฉันก็ทำได้เหมือนกัน” ซึ่งก็อยู่ที่จิตสำนึกของตนเองล้วน ๆ อีกเหมือนกัน ในเมื่อไม่รู้จักที่จะถอยห่างออกมาจากความเห็นแก่ตัว สังคมนี้ก็เลยกลายเป็นสังคมที่มีแต่คนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้อยู่ฝ่ายเดียว

หากเราอยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ไม่ได้ และจำเป็นต้องพึ่งหาอาศัยผู้คนรอบข้างในการดำเนินชีวิต ก็ควรเริ่มที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำอะไรก็ให้คิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยถ้าเผลอ (ตั้งใจ) ทำอะไรลงไปแล้วโดนแฉ อย่างน้อยก็รู้จักละอายใจสักนิดว่าที่ตนเองทำเป็นเรื่องผิด หงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ กล่าวขอโทษก็ได้ แต่อย่าลอยหน้าลอยตาแถไปเรื่อยแบบคนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เรื่องจะจบง่ายกว่าเยอะเลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook