ภาษาคน ภาษาคอมพ์

ภาษาคน ภาษาคอมพ์

ภาษาคน ภาษาคอมพ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ เราพึ่งคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารช่วยในการอ่าน การแปล การฟัง การพูด มากขึ้น คำถามคือโลกวิทยาศาสตร์กำลังช่วยให้เราสื่อสารอย่างสะดวกสบายมากขึ้น หรือ เทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้จะมาทำตัวเป็นมนุษย์สื่อสารแทนเรา

อาจารย์ ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญ ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น “การบูรณาการศาสตร์ทางด้านภาษาและทางเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ที่เรียกว่า ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คือการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ต่างๆ มาศึกษาปรากฏการณ์ทางภาษาธรรมชาติของคนเรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์ และทำหน้าที่ทางสื่อสารด้านภาษาต่างๆ แทนมนุษย์ได้”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Google Translate เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราเรียนรู้และสื่อสารภาษาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการทำงานของเครื่องแปลภาษาไม่ใช่เพียงแค่มีความสามารถด้านภาษาอย่างเดียว แต่บูรณาการทักษะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมที่ทำให้แสดงผลออกมาเป็นภาษาธรรมชาติของมนุษย์ด้วย

“จริงๆ แล้วกำแพงที่แบ่งศาสตร์ระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์เป็นสิ่งลวงตา ทุกๆศาสตร์มีความเกี่ยวเนื่องกัน อย่างศาสตร์ด้านภาษามีการเก็บตัวอย่าง สำรวจ สัมภาษณ์ เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ภาษาถูกนำมาศึกษาให้เป็นระบบระเบียบ โดยการนำความคิดทางวิทยาศาสตร์มารวมกับเนื้อหาของสิ่งที่เราต้องการจะศึกษา” ดร.อรรถพล กล่าว

หลายคนอาจสงสัยว่า ภาษาศาสตร์ แตกต่างกับ วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) อย่างไร ดร.อรรถพล อธิบายว่า Data Science เป็นการนำข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลตัวเลข รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง ไปวิเคราะห์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยครอบคลุมตั้งแต่การเขียนโปรแกรมให้ดึงข้อมูลที่เราต้องการมาเก็บไว้ จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน และแสดงผลการวิเคราะห์ให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยในการตัดสินใจของเรา แต่ข้อมูลบางอย่างเป็นข้อมูลทางภาษา ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์จึงเข้ามามีบทบาทในการหยิบข้อมูลทางภาษามาใช้ในการวิเคราะห์

“การวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษาเป็นการวิเคราะห์หลักภาษา ไวยากรณ์ โครงสร้างประโยค รวมไปถึงการวิเคราะห์ความหมาย แต่อย่างที่รู้กันว่าการแปลภาษาต่างๆ มาสู่ภาษาไทยยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สาขาวิชานี้จึงจะเข้าไปเติมเต็มให้เครื่องแปลภาษาทำงานอย่างสมบูรณ์ และถูกต้องตรงตามความหมายมากขึ้น”

ประโยชน์ของภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์มีหลากหลาย เช่นการพยากรณ์ราคาสินค้า ตามปกติแล้วนักวิเคราะห์จะต้องมานั่งอ่านข่าวปริมาณมาก ดูข่าวจากหลายๆ แหล่งรวมกัน แต่ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เขาจะสามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ดึงข้อมูลมาจากอินเทอร์เน็ตทุกวัน มารวบรวมเป็นข้อมูลภาษา เพื่อใช้พยากรณ์และสรุปราคาสินค้าให้ได้ทันที ด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้คีย์เวิร์ดค้นหา เพราะการพยากรณ์จะวิเคราะห์ความหมาย ตีความให้ด้วย

เนื่องจากเป็นศาสตร์ใหม่ และมีความต้องการของผู้สนใจเรียน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงเปิดสาขาวิชาด้านภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า สาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ บรรจุในหลักสูตรระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรก เริ่มต้นสิงหาคม ปีการศึกษา 2562 นี้ และมีรายวิชาที่น่าสนใจ เช่น การแปลภาษาด้วยเครื่อง การแปลงให้อยู่ในรูปดิจิทัล เป็นต้น

สาขาวิชานี้เป็นความร่วมมือของภาคภาษาศาสตร์กับภาคบรรณารักษ์ ซึ่งภาคบรรณารักษ์เอง มีการเรียนการสอนด้านสารสนเทศ การออกแบบ จัดการ จัดเก็บข้อมูลที่จะดึงมาใช้ และด้านเทคโนโลยีการเขียนโปรแกรมอยู่ นำมารวมกับภาคภาษาศาสตร์ที่สอนระบบและกลไกของภาษา เป็นการบูรณาการศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคข่าวสารข้อมูล โดยมีอาจารย์ ดร.อรรถพล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นผู้มีส่วนบุกเบิกสาขาวิชานี้

ต่อข้อสงสัยที่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่ศักยภาพของมนุษย์หรือไม่  อาจารย์ ดร.อรรถพล กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้มองว่าเทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่จะเข้ามาช่วยย่นระยะเวลา และกำลังของมนุษย์เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่มนุษย์สามารถทำได้ดีกว่าเทคโนโลยี ก็คืองานทางด้านความคิดสร้างสรรค์”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook