ค่ายอนามัยชุมชน สานพลัง 6 ศาสตร์สร้างสุขให้ชุมชน

ค่ายอนามัยชุมชน สานพลัง 6 ศาสตร์สร้างสุขให้ชุมชน

ค่ายอนามัยชุมชน สานพลัง 6 ศาสตร์สร้างสุขให้ชุมชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพนัก ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 2 ชั่วโมง แต่แม้จะใกล้เมืองหลวง ที่นี่ก็ยังมีพื้นที่ที่ผู้คนยังห่างไกลจากการบริการสาธารณสุข จึงเหมาะสำหรับการจัดค่ายอนามัยชุมชน เมื่อ 8-10 มีนาคมที่ผ่านมา

ในช่วงการออกค่ายอนามัยชุมชน 3 วัน ที่โรงเรียนบ้านหนองประโยชน์ ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา นิสิตจาก 6 คณะด้านสาธารณสุขของจุฬาฯ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและให้บริการชาวบ้านและชุมชนตั้งแต่การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยเบื้องต้น การให้บริการอุดฟัน ขูดหินปูน การให้ความรู้ทางด้านกายภาพบำบัด การดูแลผู้ป่วยติดเตียง วิธีการกินยาที่ถูกต้อง การให้บริการฉีดวัคซีนและทำหมันหมาแมว ฯลฯ เรียกได้ว่ายกทั้งโรงพยาบาลคนและสัตว์มาไว้ในชุมชนเลยทีเดียว

11_1

“ชาวบ้านมารอรับบริการกันตั้งแต่เช้าเป็นจำนวนมาก เมื่อได้รับการบริการรักษาให้คำแนะนำจากเราแล้ว ทุกคนมีรอยยิ้มแห่งความสุขเกิดขึ้นบนใบหน้า บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าขอบคุณมากๆ ที่เห็นความสำคัญกับคนที่อยู่ห่างไกลบริการสาธารณสุขอย่างพวกเขาอยากให้มีค่ายในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ” อ.นพ.เพชร อลิสานันท์ อาจารย์ที่ปรึกษาค่ายอนามัยชุมชน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ค่ายอนามัยชุมชนจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 แล้ว เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ กับสโมสรนิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และสโมสรนักศึกษาพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1(1)_1

“การจัดค่ายที่ผ่านมา นิสิตแต่ละคณะ แต่ละชมรมก็จะทำกิจกรรมของตนไป ต่างคนต่างทำ ไม่ได้ประสานความร่วมมือกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตการทำงานไม่ว่าวิชาชีพใด หากจะให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยคนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพมาร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” อ.นพ.เพชร กล่าว

การออกค่ายในแต่ละปีจะมีการสำรวจพื้นที่ในการออกค่ายก่อนซึ่งเกณฑ์เบื้องต้นที่สำคัญคือ ชุมชนนั้นต้องเป็นพื้นที่ๆ ห่างไกลบริการสาธารณสุข ใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 4 ชั่วโมง และชุมชนต้องมีวัดหรือโรงเรียนมีขนาดใหญ่พอ ที่จะจัดตั้งหน่วยให้บริการกับผู้เข้ารับการบริการทางสาธารณสุขได้ รวมถึงใช้เป็นที่พักของชาวค่ายกว่า 200 – 300 ชีวิต

2(1)_1

อ.นพ.เพชร เล่ากระบวนการเรียนรู้และให้บริการชุมชนในพื้นที่ว่า วันแรกเป็นการเตรียมสถานที่ วางแผนการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน ส่วนวันที่ 2 เป็นกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ โดยนิสิตจะแบ่งกลุ่มกันประมาณ 5 – 6 คน เดินไปตามบ้านเพื่อพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน เรียนรู้ดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในชุมชนขณะนั้นด้วย อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลตัวเองเมื่อมีการเจ็บป่วย

6_1

วันสุดท้ายจะเป็นการออกหน่วยให้บริการ นิสิตจะแบ่งการทำงานตามศาสตร์ที่เรียนมา โดยคณะแพทยศาสตร์ ให้การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยเบื้องต้นให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เน้นการให้ความรู้เชิงป้องกัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก็จะประสานส่งต่อให้สถานพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาต่อไป คณะทันตแพทยศาสตร์ ให้บริการอุดฟัน ขูดหินปูน แนะนำการแปรงฟันที่ถูกวิธี การดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง คณะสัตวแพทยศาสตร์ ให้บริการฉีดวัคซีน ทำหมันหมาแมว ให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อในสัตว์ แนะนำการดูแลสุขภาพสัตว์ คณะเภสัชศาสตร์ ให้บริการจ่ายยา แนะนำการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม คณะสหเวชศาสตร์ ให้บริการตรวจทางพยาธิวิทยา ให้ความรู้ทางด้านกายภาพบำบัด สอนการบริหารยืด เหยียดแก้อาการปวดเมื่อยจากการทำงาน ส่วนคณะพยาบาลศาสตร์ แนะนำวิธีการดูแลคนไข้ การสระผมในเด็กที่มีปัญหาจากเหา การดูแลผู้ป่วยติดเตียง วิธีการกินยาที่ถูกต้อง เป็นต้น

“การประสานความร่วมมือกันทั้ง 6 ศาสตร์ ทำให้ค่ายอนามัยชุมชนให้บริการทางสาธารณสุขได้ครบวงจร ครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากนี้ ความร่วมมือ ของผู้นำชุมชนและคนในชุมชนก็มีส่วนช่วยให้ค่ายนี้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่ารอยยิ้มความสุขของชาวบ้านเป็นความประทับใจที่น่าจะเป็นแรงผลักดันให้นิสิตพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อไปประกอบวิชาชีพตอบแทนรับใช้สังคมให้ดีที่สุดตามปณิธานของมหาวิทยาลัย” อ.นพ.เพชร กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook