รักวัยเรียน หรรษา ปัญหา หรือตัณหา?

รักวัยเรียน หรรษา ปัญหา หรือตัณหา?

รักวัยเรียน หรรษา ปัญหา หรือตัณหา?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

love

ตามปกติแล้ว “ความรัก” สร้างสิ่งดีดีในหัวใจ หากแต่ไปอยู่ผิดที่ ผิดเวลา ผิดคน ความรักอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์ ที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยลิ้มรสความรัก ที่ทั้งสุขและทุกข์ กันมาบ้างแล้ว

เรื่องที่ Sanook! Campus จะชวนให้นึกถึงในช่วงวันแห่งความรักแบบนี้ เป็นเรื่อง รักในโรงเรียน ที่ทุกคนคงมีประสบการณ์ร่วม แต่อาจจะต่างยุค ต่างสมัยไปบ้าง

เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวความรักระหว่างครูกับนักเรียนปรากฎให้เห็นหลายข่าว ความรักในวัยเรียนที่ถูกมองว่าเป็น Puppy Love รักแรกใสใส กลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย!

ไล่มาตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน, ครูฝ่ายปกครอง, ครูทั้งหญิงและชาย, นักเรียนที่อยู่ในวัยที่ฮอร์โมนกำลังพุ่งพล่าน, นักเรียนตัวน้อยที่ยังเป็นแค่เด็กหญิง เด็กชาย ไปจนถึงผู้ปกครอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง  
รุ่นพี่ ลูบคลำ และหอมแก้ม รุ่นน้องในรีสอร์ทใกล้โรงเรียน 
แม่เด็กหญิง ม.2 หลุดปาก “ลูกกูแต่งงานกับ ผอ.แล้ว” 
ยิ่งสืบยิ่งผุด ผอ.โรงเรียนเป็นชู้ ม.2 พบเคยคบศิษย์ ป.6 มาก่อน 
เด็กหญิง ม.1 ถูกครูข่มขืนในห้องปกครอง ขู่แฉรูปโป๊ 
สอบเครียด กรณีเด็กหญิง 8 ขวบ ถูกเพื่อนร่วมห้องชาย 3 คน เอาดินสอแหย่อวัยวะเพศ

การแก้ปัญหาที่เห็นจากรายงานข่าวแบ่งออกเป็นหลายแบบ คือ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน, ดำเนินคดี หรือขอจ่ายเงินกลบเรื่องอื้อฉาว

ซึ่งส่วนมากเป็นการกู้หน้าทางสังคม แก้ปัญหาในระดับผู้ใหญ่ ให้ครอบครัวมีที่ยืน หรือเป็นเรื่องการรับโทษของผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย

แต่ถ้าถามถึงการดูแลจิตใจของเด็กที่ถูกกระทำ หรือบางกรณีเด็กเป็นผู้กระทำ หรือแม้แต่จิตใจของผู้กระทำความผิดนั้น สังคม โรงเรียน และครอบครัวดูเหมือนจะยังไม่ได้พุ่งเป้าไปตรงนั้นนัก

ทั้งที่ตามจริงแล้ว เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และที่ไปละเมิดทางเพศผู้อื่น สมควรได้รับการดูแล และศึกษาสาเหตุที่มาที่ไปของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวมถึงจะได้กำหนดแนวทางแก้ไข และป้องกันปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

น.ส.จิตติมา ภาณุเตชะ จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ให้สัมภาษณ์ Sanook! Campus ว่าหากเด็กๆ ถูกละเมิดทางเพศ สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือ

1. รับฟังก่อนโดยยังไม่ตั้งคำถาม เพราะกว่าที่เด็กจะรวบรวมความกล้ามาบอกได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

2. ให้ความช่วยเหลือในทุกมิติ ทั้งเรื่องความปลอดภัย เรื่องความรู้สึก และทางร่างกายที่ต้องพาไปตรวจ หรือป้องกันการติดเชื้อ HIV หรือป้องกันการตั้งครรภ์

3. ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยระหว่างดำเนินคดี ต้องไม่ให้สื่อละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็ก และครอบครัว เช่น เรื่องถ่ายรูป และไม่ใส่ที่อยู่อาศัย / ใช้นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ สอบถามเด็กถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้ตำรวจใช้ประกอบการดำเนินคดี เพียงครั้งเดียว

test2น.ส.จิตติมา ภาณุเตชะ จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง

นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ เพื่อน และคนใกล้ชิดทั้งหมด ต้องปลอบประโลม ดูแลจิตใจต่อเนื่องในระยะยาว

พร้อมกันนี้ต้องมีแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เริ่มด้วยสอนให้เด็กรู้ว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นค่านิยมที่สังคมไม่ยอมรับ

โดยสามารถสอนได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ให้เด็กรู้จักอวัยวะเพศของตัวเอง และรู้ว่าอวัยวะส่วนไหนของร่างกายคือพื้นที่ส่วนตัว และมีความมั่นใจว่าถ้าใครมาจับตรงนี้ หรือจับตรงไหนที่ทำให้เขารู้สึกไม่ดี เขาสามารถบอกได้ว่าเขาไม่ชอบ และกล้าที่จะบอกผู้ใหญ่ว่ามีคนละเมิดสิทธิในร่างกายของเขา

แต่ในกรณีที่การล่วงละเมิดทางเพศเกิดในเด็กวัยรุ่น ก็จะเป็นพื้นที่สีเทา ซึ่งจะยากกว่าการสอนตั้งแต่อนุบาล

กรณีเด็กโตนั้น น.ส.จิตติมา กล่าวว่า ต้องทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน ให้เขารู้ และแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิด การพูดคุยกับครูแบบไหนสมควร หรือไม่สมควร รวมถึงต้องให้รู้ว่า หากเขามีเพศสัมพันธ์แล้วสิ่งที่อาจจะตามมาคืออะไร ต้องรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย

“ไม่อยากให้สังคมประณามผู้กระทำความผิดจนกลายเป็นการล่าแม่มด อย่างบางกรณีในสังคมออนไลน์ แต่เราควรจะตั้งคำถามที่สร้างสรรค์ ว่าระบบมันเป็นอย่างไร ทำไมถึงทำให้ครูกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ชู้สาวกันได้ หรือควรจะเรียนรู้ไปด้วยกันว่าสาเหตุที่คนคนหนึ่งทำแบบนี้มาจากอะไร” น.ส.จิตติมา กล่าว

แต่แน่นอนว่า ความรักในวัยเรียน เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ที่ห้ามไม่ได้อีกต่อไป เรื่องนี้ผู้ใหญ่เองก็ต้องปรับความเข้าใจให้ทันกับยุคสมัยว่าการห้ามไม่เป็นประโยชน์อีกแล้ว กลับกันควรต้องให้ความรู้

และทางที่ดีต้องให้เด็กรู้ว่า รักที่ดีคือรักที่ไม่ทำร้ายตัวเอง เกื้อกูลกันอย่างเหมาะสมตามวัย ส่วนสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ เด็กต้องรู้เป้าหมายในชีวิตของตัวเองล้วลองดูว่าความรักที่เกิดขึ้น นำพาไปสู่เป้าหมายชีวิตหรือไม่

ซึ่งการที่เด็กจะรู้เป้าหมายในชีวิตตัวเองได้ ต้องเกิดจากการค่อยๆ พูดคุยกับผู้ใหญ่ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่อึดอัด จะทำให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีความสุข

อย่างไรก็ตามนอกจากครอบครัวแล้ว แน่นอนว่าครู เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโรงเรียน

เรื่องนี้ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ Sanook! Campus เรื่องความรักในโรงเรียนว่า รักในวัยเรียนเป็นเรื่องที่ทุกคนคงผ่านกันมาแล้ว ความรักที่สร้างสรรค์ ควรมีข้อตกลงร่วมกัน มีขอบเขต และคอยเป็นกำลังใจให้กันและกัน

test1ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ทั้งเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย ต้องรู้คุณค่าของตัวเอง ส่วนที่สำคัญคือเด็กผู้หญิงต้องรู้ว่าตัวเองมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ชาย และต้องตระหนักถึงปัญหาในระยะยาวหากมีการตั้งท้องในวัยเรียน

“ต้องยอมรับว่าค่านิยมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และผู้ใหญ่มีอำนาจมากกว่าเด็กยังมีอยู่  ทำให้เห็นได้ว่าโครงสร้างของการศึกษา ยังพัฒนา และปรับปรุงไม่ทันกับการเจริญเติบโตของสังคม และเทคโนโลยี” ผศ.อรรถพล กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กยุคนี้เกิดมากับเทคโนโลยี พวกเขามีความรู้ ความเข้าใจ สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้ดี แต่จะใช้อย่างไรให้ถูกต้อง หรือทำอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา?

เรื่องนี้ ผศ.อรรถพล บอกว่า โรงเรียน และครอบครัว ต้องเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน ให้เขารู้ว่าอะไรคือความเสี่ยง และให้รู้เท่าทันเพื่อน / ครู ที่เป็นเพศเดียวกัน และต่างเพศ ทั้งยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็กผู้หญิง ได้รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะต่อรอง และอีกสิ่งคือเมื่อเกิดปัญหาต้องมีการฟื้นฟูไปตลอด ไม่ใช่เก็บปัญหาไว้ใต้พรม

ทั้งนี้เด็กๆ ต้องรู้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เมื่อโพสต์อะไรไป หรือ สนทนากับใครในแชท ต้องรู้ว่าสามารถเกิดอะไรขึ้นก็ได้ และถ้าเกิดบางอย่างขึ้น ต้องรู้ว่าควรรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องแนะนำให้เด็กมีทักษะในการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตามในวันแห่งความรักนี้ กรมสุขภาพจิต ได้สำรวจความสุข และทัศนคติของวัยรุ่นต่อวันวาเลนไทน์ปี 2561 พบว่าวัยรุ่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2 ใน 3 จากทั้งหมด 2,100 คน มีความสุขกับชีวิต ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และเห็นว่าผู้ใหญ่ออกมาตักเตือนเรื่องความรักมากจนเกินไปในช่วงนี้

โดยวัยรุ่นครึ่งหนึ่งการสำรวจอยากมีแฟน และผูกความสุขของตัวเองไว้กับการมีแฟน เพราะเชื่อว่ามีแฟนแล้วจะไม่เหงา ทั้งยังมาคอยเติมเต็มความรู้สึก ทำให้เห็นว่าวัยรุ่นยังเอาความสุขของตนเองไปผูกกับคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัว จึงเป็นปัจจัยเสี่ยง หากผู้ใหญ่ฉวยโอกาสตรงนี้ไปสนองตัณหาของตนเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook