Coming of age! วันบรรลุนิติภาวะของวัยใส

Coming of age! วันบรรลุนิติภาวะของวัยใส

Coming of age! วันบรรลุนิติภาวะของวัยใส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้ผู้เขียนขอนำความรู้ในเรื่องของ "วันบรรลุนิติภาวะ" ของชาวญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่าเซจินชิกิ (成人式) หรืองาน Coming of age ในภาษาอังกฤษมาฝากกันค่ะ
รู้หรือไม่? วัยรุ่นชาวญี่ปุ่นหลายๆคนตั้งหน้าตั้งตารอวันบรรลุนิติภาวะนี้ เพราะเมื่อชาวญี่ปุ่นมีอายุครบ 20 ปี พวกเขาจะสามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้นั่นเอง!

วันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม



ที่เมืองไทยมีวันเด็กที่จัดขึ้นทุกๆวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม แล้วรู้มั้ยคะว่า วันเซจินชิกิจัดขึ้นเมื่อไหร่?

วันเซจินชิกิ หรือวันบรรลุนิติภาวะจัดขึ้นทุกๆปีในวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม (เช่น วันบรรลุนิติภาวะของปี 2017 คือ วันจันทร์ที่ 9 มกราคมนั่นเอง)

วันบรรลุนิติภาวะนี้ จัดขึ้นให้สำหรับชาวญี่ปุ่นทุกคนที่มีอายุ 20 ปีหรือกำลังจะอายุ 20 ปีภายในเดือนมีนาคมของปีนั้นๆ เช่น ผู้ที่จะฉลองวันบรรลุนิติภาวะของปี 2017 คือ ผู้ที่มีอายุ 20 ปีระหว่างเดือนมกราคมปี 2016 ถึง เดือนมีนาคม 2017 ซึ่งหมายความว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมงานนั้นเป็นเด็กมหาวิทยาลัยนั่นเอง
งานฉลองวันบรรลุนิติภาวะสำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปี



อย่างที่ผู้เขียนได้บอกไปข้างต้นนะคะว่า "วันเซจินชิกิ" หรือ "วันบรรลุนิติภาวะ" นี้จัดขึ้นให้กับผู้ที่มีอายุ 20 ปี
โดยที่จะมีจดหมายเชิญเข้าร่วมงานฉลองส่งมาที่บ้านเกิด (ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน) ซึ่งนอกจากจะส่งให้คนญี่ปุ่นที่อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายแล้ว ชาวต่างชาติที่มีทะเบียนบ้านพักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็จะได้รับเชิญเช่นเดียวกันค่ะ

(ตอนผู้เขียนอายุ 19 ปี กำลังจะ 20 ปี ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานฉลองวันบรรลุนิติภาวะเหมือนกันค่ะ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ไปเข้าร่วม ^^)

โดยผู้ที่ส่งจดหมายเชิญและเป็นผู้จัดงานฉลองวันบรรลุนิติภาวะก็คือ หน่วยงานในเขตที่เราอาศัยอยู่ (เช่น ถ้าที่อยู่ตามทะเบียนบ้านคือ เขตชินจุกุ ผู้ที่เชิญและจัดงานฉลองก็คือสำนักงานเขตชินจูกุนั่นเอง โดยให้ผู้ที่ได้รับเชิญไปเข้าร่วมงานตามสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ในจดหมายเชิญค่ะ ซึ่งสถานที่จัดงานนั้นจะอยู่ใกล้เขตที่เราอาศัย หรือบ้านเกิดตามทะเบียนบ้านค่ะ
กิจกรรมในวันเซจินชิกิ



ในงานฉลองวันบรรลุนิติภาวะที่สาวๆหนุ่มๆได้แต่งตัวสวยๆหล่อๆกันแล้ว พวกเขานิยมทำอะไรกันบ้าง?

แน่นอนว่าก่อนอื่น ทุกคนที่เข้าร่วมงานต้องเข้าร่วมพิธีที่ทางเขตได้จัดไว้ให้ ซึ่งอาจใช้เวลาช่วงเช้าของวันนั้น ส่วนช่วงบ่ายนั้นก็มีกิจกรรมหลายอย่าง ถ้าเป็นสาวๆก็อาจจะชวนกันไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆเพื่อเก็บไว้เป็นระลึก บางคนก็อาจจะไปกับกลุ่มเพื่อนๆ บางคนก็ไปกับครอบครัว ส่วนหนุ่มๆนั้นก็อาจจะไปเลี้ยงสังสรรค์กันตามร้านกินดื่มต่างๆ

นอกจากนี้ การที่หลายๆคนได้มีโอกาสกลับมาที่บ้านเกิดพร้อมหน้าพร้อมตา ทำให้อาจมีการฉลองเลี้ยงรุ่นควบคู่ไปเลยก็มีค่ะ (ประสบการณ์จากเพื่อนรุ่นน้องของผู้เขียนเอง) เรียกได้ว่า กิจกรรมหลังจากนั้นค่อนข้างฟรีสไตล์กันเลยทีเดียวค่ะ

แฟชั่นกิโมโนฤดูหนาว



งานฉลองวันบรรลุนิติภาวะนั้น จัดขึ้นในเดือนมกราคมซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาวของญี่ปุ่น หากใครที่มีโอกาสได้มาเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงนี้ คุณก็จะได้มีโอกาสพบเห็นความน่ารักของสาวๆหนุ่มๆวัยใสชาวญี่ปุ่นมากมายเลยค่ะ

กิโมโน แฟชั่นของสาวๆในฤดูหนาว
เดือนมกราคมเป็นเดือนที่ความหนาวกรีดหัวใจสุดๆ โดยอุณหูภูมิเฉพาะในโตเกียวนั้นอยู่ที่ประมาณต่ำกว่า 10 องศา แม้จะเป็นช่วงเที่ยงวัน ถึงแม้ว่ากิโมโนนั้นจะเป็นเสื้อผ้าที่มีหลายชั้น แต่ก็ไม่สามารถกันหนาวได้เลยค่ะ ถ้าต้องอยู่ข้างนอกนานๆ จึงมีการนำเฟอร์มาสวมทับเพื่อกันความหนาวแทน โดยเฟอร์สีขาวมักจะเป็นที่นิยมสูงสุด เพราะสามารถใส่ได้เข้ากันกับทุกชุดนั่นเอง

ส่วนทรงผมนั้น จากที่ผู้เขียนได้สัมผัสมา ขอบอกเลยว่าแฟชั่นทรงผมของสาวๆนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วนเลยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเกล้าสั้น ประบ่า หรือเกล้าครึ่งหัว ถ้าสาวๆหรือคุณแม่คนไหนทำผมเก่งๆก็ไม่จำเป็นต้องไปร้านเสริมสวย แต่ถ้าใครที่ต้องพึ่งพาร้านเสริมสวยแล้วล่ะก็ ช่วงนี้ต้องจองคิวล่วงหน้ากันนานเลยค่ะ

สำหรับหนุ่มๆนั้นเมื่อเทียบกับสาวๆแล้ว ขอบอกเลยว่าสบายมากๆ เพราะสามารถเลือกใส่ได้ระหว่าง ฮาคามะ (袴 Hakama ชุดแต่งกายตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น) หรือชุดสูทค่ะ ผู้ชายไม่นิยมสวมใส่เฟอร์ แต่หากเป็นสูทอาจมีการสวมโค้ทเพื่อกันความหนาว ส่วนทรงผมก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลเลยค่ะ
งานฉลองวันบรรลุนิติภาวะในวันอาทิตย์



ถีงแม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดให้จัดงานฉลองวันบรรลุนิติภาวะในวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม แต่บางภูมิภาคในประเทศญี่ปุ่นก็เลือกจัดงานฉลองในวันอาทิตย์ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันแทน

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า:
ชาวญี่ปุ่นที่อายุ 20 ปีส่วนใหญ่นั้น เป็นเด็กมหาวิทยาลัย และเด็กนักเรียนบางคนนั้นเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ไกลจากบ้านเกิด (เช่น มหาวิทยาลัยอยู่ในโตเกียว แต่บ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัด) ซึ่งวันจันทร์ที่สองที่จัดงานนั้น ในบางครั้งก็เป็นวันหยุดปิดเทอมฤดูหนาววันสุดท้าย เพื่อไม่ให้เด็กนักเรียนต้องลำบากในการเดินทางกลับมาเรียน บางภูมิภาคในประเทศญี่ปุ่นเลยเลือกใช้วันอาทิตย์จัดงานแทนนั่นเองค่ะ
มาร่วมเฉลิมฉลองความสุขกัน



สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้อ่านทุกคนที่มีโอกาสได้มาญี่ปุ่นในช่วงต้นปีกันว่า อย่าลืมสังเกตวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคมกันนะคะ เพราะว่าทุกคนจะได้มีโอกาสเห็นกิโมโนและฮาคามะสวยๆมากมายเลยล่ะค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook