ความล้มเหลว ของการวัดผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาอังกฤษ

ความล้มเหลว ของการวัดผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาอังกฤษ

ความล้มเหลว ของการวัดผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาอังกฤษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เท่าที่ได้สอนภาษาอังกฤษให้กับคนไทย ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มากว่า 25 ปี ปัญหาโลกแตกที่พบคือคนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษที่เรียนมาในชีวิตประจำวันได้จริงทั้ง 4 ทักษะ คือฟัง พูด อ่าน และเขียน แต่น่าแปลกที่คนเหล่านั้นเรียนภาษาอังกฤษมานานกว่าสิบปี ต่างสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานของการศึกษาไทย แต่ทำไมภาษาจึงใช้การไม่ได้

พูดถึงเกณฑ์มาตรฐาน ขออนุญาตแซวผู้ออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือข้อสอบชั้น ม.ปลาย (ซึ่งได้เคยอ่านผ่าน ๆ ตาเมื่อสามสี่ปีก่อน แต่จำไม่ได้ว่าข้อสอบอะไรค่ะ) แต่ข้อสอบข้อหนึ่งถามว่า

Somchai won a lottery. He shouted, "......"

a. Yuck! b. I don′t mind! c. I hope so! d. Hooray!

คำตอบที่ถูกต้องคือข้อ d. วิเคราะห์ดูแล้วคงเป็นความตั้งใจที่จะวัดว่านักเรียนมีประสบการณ์ทางภาษาเกี่ยวกับการสนทนากับคนทั่วไปมากน้อยแค่ไหน แต่อาจารย์ขา คำตอบที่ถูกต้องที่คนที่ดีใจสุดขีดเมื่อถูกหวยหรือลอตเตอรี่ จะอุทานว่า Hooray ! นั้น มัน "ถูกต้องนะคร้าบ" แต่ฟังดูแหม่ง ๆ นะคะอาจารย์ขา

และตั้งแต่ครูเคทเริ่มใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยกับคนต่างชาติทั่วทุกมุมโลก และดูภาพยนตร์ภาษาอังกฤษมาครึ่งชีวิต ก็ยังไม่เคยได้ยินใครเขาอุทานให้ได้ยินว่า Hooray ! เลยค่ะ จะยังพอมีผ่านหูผ่านตาบ้างก็ในหนังสือนิทานเด็กเท่านั้น ก็เลยชักงงว่าวัตถุประสงค์ของการออกข้อสอบข้อนี้คืออะไร

ที่สำคัญเล่นออกข้อสอบกันแบบนี้ จะให้เด็กนักเรียนไปเก็งข้อสอบกันอย่างไร ครูผู้สอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศซึ่งไม่ใช่ผู้ออกข้อสอบคงจะมึนตึ้บไปตาม ๆ กันเหมือนกัน เพราะไม่รู้จริง ๆ ว่าจะเริ่มสอนกันยังไง และข้อสอบปีไหนจะมามุขไหนกันอีก

ติเพื่อก่อนะคะ เพราะอย่างไรท่านผู้ออกข้อสอบได้พยายามที่จะพัฒนาการเรียนการสอนและการวัดผล เพื่อให้ลูกหลานของเรามีการเรียนรู้อย่างสัมฤทธิผล ข้อสอบแนวใหม่นี้ก็ดีกว่าสมัยก่อนเยอะค่ะ แต่หากไปจ้างฝรั่งเจ้าของภาษามาออกข้อสอบ หรือเอาข้อสอบที่มีอยู่เป็นพันล้านข้อในโลกนี้มาใช้น่าจะเป็นการประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ และรักษามาตรฐานไว้ได้ค่ะ

ในหลักการทำธุรกิจ นักธุรกิจเขาจะตัดสินใจบนวิธีการของพื้นฐาน 3 ประการ คือ 1.กรณีที่มีเงิน มีคน และมีปัญญาที่จะทำ เขาก็จะทำเอง 2.กรณีที่มีแต่เงิน แต่ไม่มีคนทำ หรือไม่มีปัญญาทำเอง เขาจะจ้างคนที่ทำเป็นให้เข้ามาทำแทน และ 3.กรณีที่เงินก็ไม่มี คนก็ไม่มี ปัญญาที่จะทำก็ไม่มี เขาจะยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะทำ แต่จะใช้วิธีการขอร้อง หรือยุให้เพื่อนทำ แถมเจ้าของความคิดก็ยังได้เงินค่าความคิดอีกด้วย

ในกรณีการออกข้อสอบเพื่อวัดผล ผู้บริหารการศึกษาควรจะนำแนวความคิดนี้ไปพิจารณาว่าวิธีใดน่าจะเหมาะสม คุ้มค่ากับเวลาและเงินที่ลงทุนไป มากกว่ามาคิดเพียงแค่ว่าเป็นภารกิจที่ต้องทำ และต้องทำเองเท่านั้น

นอกจากนี้ วิธีการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็มีหลากหลายวิธี ทำไมต้องใช้วิธีการทำข้อสอบ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการที่สะดวกสบายเท่านั้นเอง และเป็นวิธีการที่มีรูปแบบชัดเจนและเสมอภาคกัน ที่สำคัญมีหลักฐานไว้ยืนยันกันเวลามีเรื่อง โรงเรียนต่าง ๆ จึงใช้วิธีการออกข้อสอบแบบปรนัย (เลือกถูกผิด หรือวงกลมข้อที่ถูกต้อง) ที่ตรวจง่าย ไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องความอคติของผู้ตรวจข้อสอบ แต่จะวัดผลสัมฤทธิ์ได้จริงหรือไม่ Who cares?

เพราะฉะนั้น คราวหน้าครูเคทจะมาแนะวิธีการเรียนการสอนแนวใหม่ ๆ ที่ทั่วโลกเขาใช้กัน ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในระดับลึก จนสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำต่อไปในระยะยาว

ไม่ใช่เรียนเพื่อให้สอบผ่านเหมือนที่เป็นอย่างทุกวันนี้

คอลัมน Education Ideas โดย ดร.เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชยโย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook