“คำมั่นสัญญา” ที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9

“คำมั่นสัญญา” ที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9

“คำมั่นสัญญา” ที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     Sanook! เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านตากับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชกับรถพระที่นั่งคันเก่งโตโยต้า โซลูน่าที่พระองค์ทรงใช้ทรงงานในหลายพื้นที่ ซึ่งรถยนต์หนึ่งคันของพระองค์ท่านนี่ล่ะ ที่เป็นที่มาของโครงการดีๆ ที่ทำให้ชาวนาได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากด้วยระบบจัดการที่ดี

     เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงปี พ.ศ.2540 นั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งหรือปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก จนมีข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ว่าโรงงานผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าจะปิดโรงงานและเลิกจ้างพนักงานกว่า 5,500 คน ซึ่งผู้บริหารระดับสูงในขณะนั้น ได้แถลงข่าวว่าไม่มีการปิดโรงงานและเลิกจ้างพนักงานแต่อย่างใด


 
     แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยพนักงานโตโยต้าเพียงวันถัดมาหลังข่าวออก เลขานุการส่วนพระองค์ก็ได้โทรศัพท์แจ้งถึงพระราชประสงค์ให้สั่งซื้อรถยนต์โตโยต้า โซลูน่า 1 คัน โดยให้พนักงานใช้มือทำก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร พนักงานจะได้มีงานทำนานๆ เมื่อนำรถไปถวายพระองค์ท่านในเดือนธันวาคม 2540 พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 600,000 บาท แต่ทางโตโยต้า ไม่สามารถรับเงินได้

     จึงทรงมีพระราชดำริใหม่ให้นำเงินไปตั้งโรงสีข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาละแวกใกล้เคียง เพราะโตโยต้า มีระบบการบริหารจัดการที่ดี พระองค์ทรงเห็นว่าควรตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้น โดยมีพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2540 ว่า

     “...ข้าวที่โรงสีนี้ เป็นข้าวที่ไปซื้อจากเกษตรกรโดยตรง โดยที่ให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุข เพราะขายข้าวในราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคก็ซื้อได้ในราคาถูก เพราะว่าไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป ตกลงทั้งผู้ผลิต ทั้งผู้บริโภคก็มีความสุข...”


     จึงเกิดเป็นบริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้ก่อตั้งโรงสีข้าวตามแบบอย่างโรงสีจิตรลดา เพื่อช่วยเหลือชาวนาด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกราคาสูง นำมาสีและจำหน่ายในราคาเหมาะสมแก่ผู้บริโภค

     จำหน่ายผลพลอยได้จากการสีข้าวแก่เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ในราคาต่ำกว่าตลาด พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนก่อตั้ง และพระราชทานนาม “บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด” ดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

     นอกจากนี้ยังมีศูนย์นาสาธิตรัชมงคล ศูนย์เรียนรู้เพื่อต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากผลการศึกษาของ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าชาวนาไทยในปัจจุบันประสบปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ และต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยมีผลมาจากการใช้ปัจจัยการผลิต อย่างเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยที่เกินความจำเป็น


 
     จึงต่อยอดการพัฒนาผ่านการจัดตั้งศูนย์นาสาธิตรัชมงคลขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับปรุงกระบวนการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อเผยแพร่ให้กับชาวนาไทยทั่วประเทศ โดยการจัดตั้งศูนย์นาสาธิตรัชมงคลนี้ได้นำนวัตกรรมและความรู้อันเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของโตโยต้ามาใช้

     ซึ่งระบบที่นำมาใช้ ได้แก่ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) วิถีโตโยต้า (Toyota way) และไคเซ็น (Kaizen) เข้ามาช่วยปรับปรุงกระบวนการปลูกข้าว อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้แก่ กรมการข้าว เข้ามาให้คำแนะนำทางวิชาการและสนับสนุนข้อมูลการวิจัยในด้านการปลูกข้าวที่เหมาะสม และบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด สนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว

     สำหรับใครที่อยากเห็นสถานที่จริงของโรงสีรัชมงคลและศูนย์นาสาธิตสามารถติดตามได้ในโฆษณา “คำมั่นสัญญา” ที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดทำขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และแสดงถึงคำมั่นสัญญาที่จะน้อมนำและปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระองค์ที่ได้พระราชทานไว้

 




[Advertorial]

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook