ต้นเหตุที่แท้จริง “รถตกเขาที่ภูทับเบิก”

ต้นเหตุที่แท้จริง “รถตกเขาที่ภูทับเบิก”

ต้นเหตุที่แท้จริง “รถตกเขาที่ภูทับเบิก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวแบบนี้ หลายคนเริ่มออกเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศไทย และ “ภูทับเบิก” ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตที่หลายคนต้องการขึ้นไปสัมผัสกับบรรยากาศสวยๆ และสูดอากาศบริสุทธิ์เพื่อเติมพลังให้กับชีวิตอีกสักครั้ง…แต่การไปเติมพลังชีวิต อาจทำให้ชีวิตขาดสะบั้นลง เพราะ “อุบัติเหตุ” จากการเดินทาง มันช่างอยู่ใกล้ตัวเราเพียงเสี้ยววินาที เช่นเดียวกับข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นกรณีคลิปรถพุ่งสวนข้ามเลนไปปีนขอบทางแล้วตกลงเขา ที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์

 

pootubberg_crash

     จากเนื้อหาข่าวมีใจความหลักว่า รถเก๋งเสียหลักตกลงไปอยู่ในเหวลึกประมาณ 20 เมตร คนขับได้ขับรถพาครอบครัวเดินทางจาก จ.แพร่ มาเที่ยวที่ภูทับเบิก จนกระทั่งมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้ง ปรากฏว่า ระบบเบรกเกิดใช้งานไม่ได้ ประกอบกับผู้ขับไม่ชำนาญเส้นทาง จึงทำให้รถเกิดเสียหลักแหกโค้ง จนทำให้รถตกลงไปในเหว

     เหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจจะเป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง แต่แท้ที่จริงแล้ว “ระบบเบรก” เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจริงหรือไม่? มาลองวิเคราะห์ตามกันดู ด้วยพื้นฐานของความเป็นจริงของผู้ใช้รถกันบ้าง

     ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับระบบเบรกกันก่อน ซึ่งมันมีหน้าที่ในการชะลอความเร็วและหยุดรถ ตามที่ผู้ขับต้องการ โดยในขณะที่เหยียบลงไปที่แป้นเบรก แรงเหยียบเบรกจะส่งกำลังไปที่แม่ปั้มน้ำมันเบรก เพื่อทำหน้าที่อัดแรงดันน้ำมันเบรกออกไปตามท่อน้ำมันเบรก ผ่านวาล์วแยก ส่งให้น้ำมันเบรกไปถึงตัวเบรก และที่ตัวเบรกจะมีลูกปั้มน้ำมันเบรกอีกเช่นกัน

     เมื่อได้รับแรงดันที่กดลงมา ลูกปั้มน้ำมันเบรกจะดันให้ผ้าเบรกไปบีบเข้ากับชุดจานเบรก เมื่อผ้าเบรกจับกับจานเบรก ล้อรถจะเริ่มหมุนช้าลง และเมื่อเพิ่มน้ำหนักกดแป้นเบรกมากขึ้น แรงดันน้ำมันเบรกก็จะมากขึ้น ส่งผลให้รถชะลอความเร็วลงและมันถูกออกแบบให้มีระบบนิรภัย โดยมีการกระจายแรงดันเบรก 2 วงจร (2 วงจร แบบไขว้ หรือ 2 วงจร แบบหน้า-หลัง) เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบเบรกล้มเหลวลงพร้อมกัน หากเกิดการรั่วของท่อทางไฮดรอลิค (สายเบรกอ่อน เป็นจุดอ่อน รวมทั้งข้อต่อทุกจุด)

     อย่างไรก็ตาม “มันมีขีดจำกัด อาจช่วยให้คุณกดเบรกเต็มแรงได้อีกเพียง 1-2 ครั้ง” หลังจากท่อไฮดรอลิครั่ว ซึ่งมันก็ไม่ได้จะพังพร้อมๆ กัน ส่วนคำว่า “เบรกแตก” พูดง่ายๆ คือ เบรกไม่อยู่ เบรกแล้วรถไม่หยุด ซึ่งมันทำงานไม่เต็มระบบอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง และเป็นบทสรุปที่ง่ายที่สุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้

 

pootubbergRD02

     เส้นทางขึ้นภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ จะเห็นว่ามีเส้นทางที่คดเคี้ยว เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย   แต่!! เมื่อพิจารณาถึงต้นเหตุที่แท้จริงแล้ว การเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้ อาจจะไม่ได้มีความผิดพลาดของระบบเบรกที่ชำรุดไปซะทุกครั้ง เพราะในหลายครั้งเมื่อตรวจสอบแล้ว กลับพบว่าระบบเบรกยังทำงานได้เป็นปกติ ท่อไฮดรอลิกยังคงทำงานได้สมบูรณ์ไม่มีรอยรั่ว ผ้าเบรกยังคงหนา จานเบรกไม่แตก แม่ปั้มเบรกก็ยังปกติ…แล้วอย่างนี้ สาเหตุมันเกิดจากสภาพของรถหรือที่ตัวผู้ขับกันแน่?  

     เมื่อสอบถามความคิดเห็นไปทาง คุณรณกร พรรณรังสี พิธีกรรายการ Speed Talk และ รายการวิทยุ “คุยเรื่องรถ” ได้ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ปัจจุบัน เรามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้นและเราเองมักลืมบางเรื่องที่สำคัญ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสมบูรณ์แบบของระบบเบรก และมักจะถูกละเลย จนกลายเป็นภัยเงียบที่ไม่เคยส่งเสียงโวยวาย

     นั่นก็คือ “น้ำมันเบรค” ที่ จริงๆ แล้วไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม แต่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ กลุ่มโพลีไกลคอล (Propylene Glycol) และไกลคอล อีเทอร์ (Glycol Ethers) มีคุณสมบัติสำคัญคือ ต้องมีจุดเดือดสูง ส่งแรงดันไฮดรอลิคได้แม้จะอยู่ในสภาวะที่ร้อนจัด “ข่าวดี” คือ น้ำมันเบรคจะไม่เดือดกลายเป็นไอได้ง่าย

     แต่ “ข่าวร้าย” คือ ความชื้นจะเป็นตัวทำให้จุดเดือดลดลง เมื่อน้ำมันเบรกเดือด จนกลายเป็นไอ (Vapor lock) จะไม่สามารถส่งแรงเบรกไปหยุดรถได้ (กดแป้นเบรกจะยุบตัวลงจนติดพื้น แต่ไม่เกิดแรงเบรกที่ล้อรถ) และเมื่อดูค่าตัวเลข จุดเดือดน้ำมันเบรก แล้วมันน่ากลัวมาก ตัวอย่าง น้ำมันเบรก DOT3 น้ำมันเบรกใหม่ (จุดเดือดแห้ง) มีจุดเดือดที่อุณหภูมิ 205 องศาเซลเซียส เมื่อผ่านการใช้งานมานานวัน คุณสมบัติในตัวน้ำมันเบรกจะดูดความชื้นมาเก็บไว้กับตัว จนทำให้จุดเดือดลดต่ำลงกว่าปกติ (จุดเดือดเปียก) อยู่ที่ 140 องศาเซลเซียส จุดเดือดลดลงถึง 65 องศาเซลเซียส หรืออาจต่ำกว่านี้

     ซึ่งหากใช้งานทั่วไปในเมือง ใช้ความเร็วไม่สูง ระบบเบรกจะยังคงทำงานได้อย่างปกติ แต่หากต้องขับรถขึ้น-ลงทางชันหรือต้องขับลงทางลงเขาเป็นระยะทางยาวๆ ทำให้ต้องใช้เบรกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และนี่จะกลายเป็นต้นเรื่องให้เกิดอุบัติเหตุอย่างคาดไม่ถึงได้

 

 

pootubbergRD01

     ภาพจาก Map.google เมื่อขับขึ้นไปบนภูทับเบิกจะพบกับเส้นทางที่สวยงาม แต่แฝงไว้ด้วยอันตราย มีโค้งลับตาหลายโค้ง มาจนถึงจุดนี้ น่าจะพอเข้าใจแล้วว่า การป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดนั้นคือ ผู้ใช้รถควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกทุกปีหรือทุกๆ 20,000 กิโลเมตร หรือแล้วแต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังฤดูฝน หรือเมื่ิอถึงระยะที่ตรวจเช็ค จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากระบบเบรกได้

 

pootubbergRD03

     เส้นทางแบบนี้หากใช้ความเร็วที่สูงเกินไป หรือรถยนต์อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม “ความตายจะอยู่ใกล้คุณแบบไม่รู้ตัว”   ส่วนกรณีรถยนต์ที่ขับตกเขาที่ภูทับเบิก แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาว่าเป็นเพราะสาเหตุใด แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว อยากให้ผู้อ่านนึกอยู่เสมอว่า รถยนต์เป็นเพียงยานพาหนะ เค้าไม่สามารถขับเคลื่อนตัวเองเพื่อไปหาช่างซ่อม แต่สามารถประท้วงด้วยการหยุดทำงานได้ดื้อๆ โดยที่ผู้ขับไม่รู้ตัว..

     โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวปีใหม่นี้ เชื่อว่าหลายคนกำลังเตรียมตัวเดินทางพักผ่อน แต่อย่าลืมตรวจเช็ครถยนต์ของท่านให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอย่างสมบูรณ์อยู่เสมอ เพราะข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างไม่คาดฝันได้เช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว “ต้นเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ มักจะอยู่ที่ผู้ขับที่อยู่หลังพวงมาลัยนั่นเอง”    

 

ขอขอบคุณเจ้าของคลิป Ngoh Kritsana Kaew  

เรื่อง : พุทธิ  ผาสุข

เรียบเรียงข้อมูลโดย www.gpinews.com

ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th  

Image Credit: Google Maps

 

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ต้นเหตุที่แท้จริง “รถตกเขาที่ภูทับเบิก”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook