Nissan IDS รถไฟฟ้าขับได้เอง"2ศูนย์" ตั้งเป้าส่งลงถนนจริงปี2020

Nissan IDS รถไฟฟ้าขับได้เอง"2ศูนย์" ตั้งเป้าส่งลงถนนจริงปี2020

Nissan IDS รถไฟฟ้าขับได้เอง"2ศูนย์" ตั้งเป้าส่งลงถนนจริงปี2020
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มติชนรายวัน
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

     ในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ได้เปิดตัวนวัตกรรมรถยนต์ต้นแบบขับอัจฉริยะอัตโนมัติ ไอดีเอส (IDS) สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง ใช้พลังงานจากไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขนาด 60 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ภายใต้ระบบขับอัตโนมัติ (Autonomous Driving System)


     เทคโนโลยีนี้เป็นการปฏิวัติความสัมพันธ์ระหว่างรถและคนขับ หรือผู้ใช้สำหรับการเดินทางในอนาคต ด้วยการบูรณาการการควบคุมรถที่ทันสมัยและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยผ่านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) เพื่อสร้างสรรค์พาหนะที่สามารถขับขี่ได้ด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่าออโตโนมัส ไดรฟ์วิ่ง (Autonomous Driving) ตั้งแต่ปี 2020 นิสสันมีแผนจะนำเสนอและติดตั้งเทคโนโลยีนี้ให้กับรถยนต์หลายรุ่นให้สามารถขับขี่ได้ด้วยตนเอง

     เบื้องหลังระบบขับขี่อัจฉริยะอัตโนมัติของนิสสัน IDS คือ การสื่อสารร่วมกัน สำหรับระบบขับขี่ด้วยตนเองสามารถเป็นความจริงได้ ต้องไม่เพียงแค่สื่อสารระหว่างรถยนต์และคนขับรถ แต่ยังต้องสื่อสารระหว่างรถยนต์แต่ละคันรวมถึงผู้คนรอบๆ ด้วย

     แนวคิดของการเดินทางร่วมกัน แสดงให้เห็นผ่านการออกแบบภายในแตกต่าง ขึ้นกับว่าผู้ขับจะเลือกโหมดไหนในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการขับอัตโนมัติ หรือจะขับด้วยตนเอง

 

     แม้นิสสัน IDS จะเป็นรถแบบแฮทแบคท์ แต่ด้วยฐานล้อยาวทำให้มีพื้นที่ในห้องโดยสารสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสาร 4 คน และจะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เมื่อเลือกใช้ ระบบขับขี่อัจฉริยะอัตโนมัติ เพราะพวงมาลัยลดระดับลงเปลี่ยนเป็นแผงหน้าปัดและจอแสดงผลขนาดใหญ่แทน การขับขี่ต่างๆ จะควบคุมผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วย การตกแต่งภายในจากวัสดุธรรมชาติ ที่นั่งทั้งสี่ที่นั่งหมุนเข้าด้านในเล็กน้อยให้ความสะดวกในการสนทนาได้ง่ายขึ้น ดังเช่นการผ่อนคลายในห้องนั่งเล่น

     เมื่อผู้ขับเลือกการขับขี่ด้วยตนเอง ห้องโดยสารกว้างขวางจะปรับเปลี่ยนการควบคุมโดยพวงมาลัยจะปรากฏขึ้นพร้อมกับมาตรวัดพร้อมจอแสดงผลต่างๆ แสดงให้เห็นเส้นทางและข้อมูลอื่นๆ ที่ต้องใช้ในระหว่างขับรถ แสงสว่างภายในสวิตช์สีฟ้ากระตุ้นความสามารถในการสร้างสมาธิ ขณะขับขี่อีกด้วย

 

     ไฟภายนอกและการแสดงต่างๆ ถ่ายทอดให้กับคนเดินเท้าและคนอื่นๆ รับรู้รถของสภาพแวดล้อม และสัญญาณต่างๆ จากเส้นด้านข้างของรถตัวอย่างเป็น LED เมื่อคนเดินเท้าหรือปั่นจักรยานในบริเวณใกล้เคียง รถจะส่งข้อความและส่งสัญญาณว่ารถจะทำอะไร เช่น ข้อความ "เชิญท่านก่อน (After You)" เพื่อให้คนเดินเท้าได้ข้ามถนนไปก่อน เป็นต้น

     ความสูงของตัวรถมีขนาด 1,380 มม. ถูกปรับลดเพื่อให้ค่าสัมประสิทธิ์อากาศพลศาสตร์ดีขึ้น (Cd) มิติของฐานล้อช่วยเพิ่มพื้นที่ภายใน ในขณะที่เลือกล้อขนาดใหญ่ แต่ใช้ยางบางขนาด 175 เพื่อลดความต้านทานของอากาศ ล้อออกแบบให้มีลายของโครงสร้างเป็นครีบบาง สร้างลมหมุน (vortex) ขนาดเล็กเสริมการไหลเวียนของอากาศบนพื้นผิวของล้อ

     กระจังหน้ารูปโครงสร้างผลึกน้ำแข็ง ออกแบบตามแนวคิดสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และสะอาด เหมาะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ไร้มลพิษ

 

     รถยนต์ต้นแบบนิสสัน IDS ใช้แบตเตอรี่ความจุสูง 60 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และด้วยรูปทรงที่มีค่าอากาศพลศาสตร์และน้ำหนักลดลง เนื่องจากวัสดุตัวถังทำจากคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบาแต่แข็งแกร่ง ทำให้สามารถขับได้ในระยะทางไกลเพิ่มขึ้น

     นอกจากนี้เทคโนโลยีอื่นๆ ในนิสสัน IDS เช่น การจอดเอง (Piloted Park) ดำเนินการโดยใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต โดยผู้ขับไม่จำเป็นต้องอยู่ในตัวรถ

     ระบบขับขี่อัจฉริยะอัตโนมัติ ยังสามารถศึกษาและตอบสนองต่อลักษณะการขับของผู้ขับขี่ได้ ลองนึกถึงประโยชน์ที่มาจากความสามารถของเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบลักษณะการขับขี่ของคุณและแนะนำสิ่งต่างๆเพื่อหยุดพัก ไม่ว่าจะเป็นการประเมินสภาพการจราจร หรือแจ้งเวลาที่เหมาะแก่การทานอาหารเย็น หรือแม้แต่สรรหาร้านอาหาร ให้ผู้ขับขี่ได้มีตัวเลือกมากขึ้นตามข้อมูลการเดินทางของผู้ขับที่ผ่านมาในทุกๆ สถานการณ์ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและเสริมการควบคุมต่างๆ ให้แก่ผู้ขับนั่นเอง

 

     นิสสันคาดว่าจะสามารถติดตั้งความสามารถของรถยนต์ เช่น เรื่องของข้อมูลบนทางหลวง หรือการนำทางภายในปี 2020 เป็นต้นไป เมื่อถึงเวลานั้น เราคงจะสามารถติดตั้งระบบขับขี่อัจฉริยะอัตโนมัติให้กับรถยนต์รุ่นใหม่ได้

     สำหรับปี 2559 คาดว่านิสสันจะแนะนำระบบขับขี่อัจฉริยะอัตโนมัติ เวอร์ชั่น 1.0 ในรถยนต์รุ่นใหม่ในการช่วยเหลือและสนับสนุนการขับขี่บนถนนที่เป็นแบบเดินรถทางเดียว (one-way) และให้ข้อมูลและความช่วยเหลือด้านการจราจรได้

 

     นิสสันยังคงพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ เมื่อรวมทั้ง 2 เทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน นิสสันจะเข้าใกล้เป้าหมายแห่งการพัฒนารถยนต์ที่เรียกว่า "เป้าหมาย 2 ศูนย์"

     นั่นคือ การปล่อยมลพิษที่เป็นศูนย์ และความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนถนนมีค่าเป็นศูนย์

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook