7 ทิปส์พาลูกท่องโลก

7 ทิปส์พาลูกท่องโลก

7 ทิปส์พาลูกท่องโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เข้าใกล้เทศกาลวันแม่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคนคงถือเอาช่วงเวลาดีๆ นี้ จัดทริปพาลูกน้อยไปเที่ยวเป็นครั้งแรก แต่การท่องเที่ยวด้วยตัวเองหรือไปเป็นคู่แบบสามีภรรยา ก็ไม่เหมือนการกระเตงสมาชิกตัวน้อยร่วมขบวนไปด้วย

ก่อนจะสะพายกระเป๋าหอบลูกน้อยตะลอนโลกกว้าง มี 7 เคล็ดลับดีๆ จากส่วนหนึ่งของหนังสือ “เลี้ยงลูกรอบโลก” สำนักพิมพ์ PleaseHealth ภายใต้การดูแลของ หมอผิง-ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล โดย พลอย มัลลิกะมาส คุณแม่นักเดินทาง และ ภญ.หรรษา มหามงคล คุณแม่แอดมินเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ มาฝาก เพื่อเตรียมความพร้อม... “เอาอยู่!” ทุกสถานการณ์

1. ที่พัก เลือกจากความสะอาดและความปลอดภัยเป็นหลัก หลีกเลี่ยงห้องพักแบบพูลวิลล่า ที่เปิดประตูกระจกออกไปแล้วสามารถลงสระว่ายน้ำได้ทันที เพราะหนูน้อยที่เดินได้ วิ่งได้ แต่ว่ายน้ำไม่แข็ง อาจกระโดดลงสระเมื่อผู้ใหญ่เผลอ เลี่ยงห้องพักที่เล่นสเต็ป เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม หากสมาชิกตัวน้อยเป็นภูมิแพ้ เลือกห้องพักที่ไม่ปูพรม เพราะพรมนั้นจะเก็บฝุ่นมหาศาล กระตุ้นอาการภูมิแพ้

2. อุปกรณ์ยังชีพ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป คำนวณจากความยาวของทริปเปรียบเทียบกับวันปกติ แล้วเผื่ออีก 2-3 ผืน เตรียมผ้าคลุมเวลาให้นม กระดาษเปียก แอลกอฮอล์เจล ของเล่นชิ้นโปรดไม่มีเสียง เป้อุ้ม ผ้าห่มผืนเล็กของลูก



3. นมแม่ สำหรับลูกที่ยังกินนมแม่ คุณแม่อย่าเพิ่งให้ลูกอิ่มก่อนเดินทางหรือก่อนถึงที่หมาย แอบให้หิวนิดๆ จนเมื่อเครื่องจะ
เทคออฟหรือแลนดิ้ง จึงให้ลูกดูดนม เพราะการกลืนนมจะช่วยปรับความดันในช่องหู และทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายมากขึ้น

4. เวลาเดินทาง เลือกเวลาที่ไม่รบกวนเวลาการนอน เพื่อเด็กๆ จะได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ หรือกะเวลาเมื่อขึ้นเครื่องหรือขึ้นรถแล้วใกล้เวลานอนพอดี แต่ถ้าไม่สามารถเลือกได้ หากต้องเดินทางดึก เมื่อไปถึงควรให้เวลาเด็กน้อยได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะหากกายพร้อมใจพร้อมจะส่งผลให้แข็งแรงตลอดทริป

5. คาร์ซีทเป็นสิ่งสำคัญ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ควรนั่งในคาร์ซีทโดยหันหน้าเด็กไปทางด้านหลังของรถ เพื่อป้องกันแรงกระแทกที่อาจส่งถึงกระดูกคอและหลัง หากเกิดอุบัติเหตุ เมื่อลูกเริ่มโตเลื่อนขั้นจากการนั่งคาร์ซีทไปเป็นบูสเตอร์ซีท (Booster Seat) ที่ช่วยเสริมตัวเด็กให้นั่งสูงขึ้นจนคาดเข็มขัดนิรภัยในรถปกติได้ เมื่ออายุ 8 ขวบหรือมีน้ำหนัก 18 กิโลกรัม จึงคาดได้เหมือนผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ในบางประเทศอาจมีกฎระเบียบที่ต่างกันออกไป ควรเช็ครายละเอียดอีกครั้ง

6. วัคซีนของนักเดินทาง ไม่ใช่วัคซีนตามอายุ แต่ขึ้นอยู่กับจุดหมายปลายทาง เช่น หากเดินทางไปอินเดีย พม่า แอฟริกา และอเมริกาใต้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ หากต้องเดินทางไป อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย พิจารณาวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนบังคับปลายทาง คือต้องมีประวัติยืนยันการฉีด ถึงจะเข้าประเทศได้ เช่น วัคซีนป้องกันไข้เหลือง สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปอเมริกาใต้และแอฟฟริกาใต้ วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น สำหรับผู้เดินทางไปทวีปแอฟริกา ประเทศซาอุดิอาระเบีย และใกล้เคียง เป็นต้น



7. เตรียมตัวเด็กน้อยให้พร้อม ควรพาลูกไปพบคุณหมอเด็กประจำตัว ประมาณ 3-4 วันก่อนเดินทาง เพื่อเช็คสุขภาพว่าพร้อมหรือไม่ หรือเก็บเนื้อเก็บตัวลูกน้อยไม่ให้ออกไปเที่ยวไหน (ยกเว้นโรงเรียน) 1 สัปดาห์ก่อนเดินทาง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรค เมื่อเดินทางอย่าลืมพกยาสำหรับโรคประจำตัว และอาการประจำตัวที่มักเป็นเสมอๆ เช่น ยาแก้ท้องอืด ยาแก้ปวดท้อง ครีมหรือขี้ผึ้งป้องกันผื่นผ้าอ้อม เซ็ตทำแผลชุดเล็ก ผลิตภัณฑ์กันแมลงสำหรับเด็ก เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ ฯลฯ

ติดตามเคล็ดลับอื่นๆ ก่อนจูงมือพาลูกเที่ยว ได้อีกในหนังสือ “เลี้ยงลูกรอบโลก” วางจำหน่ายในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ราคา 265 บาทติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/PleasehealthBooks

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook