“ฉันหยิ่ง ฉันเยอะ ฉันเหวี่ยง ฉันคือศูนย์กลางของโลก” ดีเจต้นหอม

“ฉันหยิ่ง ฉันเยอะ ฉันเหวี่ยง ฉันคือศูนย์กลางของโลก” ดีเจต้นหอม

“ฉันหยิ่ง ฉันเยอะ ฉันเหวี่ยง ฉันคือศูนย์กลางของโลก” ดีเจต้นหอม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อไหมคะว่า คุณสมบัติ สุดแรง ดูไม่น่ารัก ไม่น่าคบหาเอามากๆ ที่เกริ่นมาทั้งหมดนี้ “เคย” มีอยู่ในตัวหอมมาก่อน

ความที่พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่หอมยังเด็ก หอมกับน้องชายจึงต้องระเห็จไปอยู่บ้านคุณปู่คุณย่าแทน แต่ถึงอย่างนั้นนานน้านนน…คุณปู่กับคุณย่าถึงจะแวะมาที่บ้านสักครั้ง เพราะท่านต้องไปราชการต่างจังหวัดบ่อยๆ

บ้านหลังนี้มีแค่หอม น้องชาย คุณอาอีก 2 คน และพี่เลี้ยงอีก 1 คน ซึ่งถ้าไม่นับรวมพี่เลี้ยงแล้วบ้านนี้ก็จะมีแต่เด็กๆ ทั้งนั้น เพราะทุกคนอายุไล่เลี่ย กันหมด ดังนั้นเรื่องการอบรมบ่มนิสัยจึงไม่ต้องพูดถึง จะเรียบร้อยเฉพาะเวลาคุณปู่มาเท่านั้น

หอมจึงเติบโตมาเป็นคนแข็งๆ ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการมีน้ำใจเป็นอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น หอมยังเป็นคนตั้งกำแพงให้ตัวเองไว้สูงมาก ยิ่งถ้าเจอคนแปลกหน้าปั๊บ หอมจะกลายเป็นคนหยิ่ง ไม่พูดไม่จา…แม้แต่เพื่อนห้องฝ่ายเข้ามาคุยก่อน

หอมใช้ชีวิตอย่างนี้เรื่อยมาจนช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 4 นี่เองที่หอมเริ่มเปลี่ยน…

ตอนนั้น หอมได้งานพิเศษเป็นพริตตี้ค่ะ ความที่ต้องไปทำงานไกลถึงไบเทค บางนาหอมจึงตัดสินใจ “แชร์ห้องพัก” กับคนอื่นเป็นครั้งแรกเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง10 วันที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นทำให้หอมรู้ว่า ต้องรู้จัก “โน้ม” เข้าหาคนอื่นบ้าง แล้วก็ต้องรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับเนื้องาน ถึงจะฝืนบ้างก็ต้องยอม

พอจบออกมาหอมเริ่มทำงานผ้ปูระกาศตอนนั้น ไฟกำลังแรง หอมก็จะมีความ “เยอะ” เป็นพิเศษ ทั้งกับตัวเองและคนอื่น อย่างคนเขียนสคริปต์ก็ต้องเขียนถูกต้องเป๊ะๆ คนเลือกข่าวต้องเลือกข่าวได้ดีด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะส่งผลถึงหอมที่ทำงานอยู่หน้าจอ และถ้าใครทำไม่ดีขึ้นมา หอมจะทั้งพูดทั้งวิจารณ์ตรงๆ อย่างไม่แคร์ ฯลฯ สุดท้ายเพื่อนร่วมงานก็เลยไม่ค่อยอยากสมาคมกับหอมสักเท่าไหร่ แต่ก็โชคดีที่ผู้ใหญ่ยังเห็นความสามารถของหอมอยู่บ้าง

มาวันหนึ่งเมื่อหอมเริ่มมองเห็นคนที่มีนิสัยแบบเดียวกัน หอมได้เห็นตัวเองว่าพฤติกรรมแบบนี่ไมน่ารัก จริงอยู่ว่า การวิจารณ์ตรงๆ อาจจะดีในสังคมฝรั่ง แต่ไม่ดีในสังคมไทยเพราะคนไทยอยากให้พูดแค่ในสิ่งที่เขาอยากฟังเท่านั้น ไม่ชอบให้วิจารณ์ ยิ่งเป็นเด็กไปวิจารณ์ผู้ใหญ่ก็ยิ่งถูกมองว่าก้าวร้าว

ที่สำคัญ เราต้องส่องกระจกดูตัวเองด้วยว่า “เราทำหน้าที่ดีแล้วหรือ” ถ้ารู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง ก็ไม่มีสิทธิ์ไปวิจารณ์หรือไปก้าวก่ายคนอื่นเด็ดขาด

พอหอมเริ่มมีโอกาสได้มาแสดงละคร นอกจากจะเป็นงานที่ท้าทายตัวเองไม่น้อยแล้ว การทำงานนี้ยังทำให้หอมได้เห็นสังคมในกองถ่ายว่า “มีความเหลื่อมล้ำ” อยู่เหมือนกัน ไล่เรียงตั้งแต่นางเอก พระเอกที่จะได้รับการปฏิบัติระดับ 5 ดาว นางรอง พระรองได้รับการปฏิบัติระดับ 3 ดาว ส่วนตัวประกอบหรือตัวตลกอย่างหอมอาจจะเหลือแค่ 1 ดาว

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น วันหนึ่งกองถ่ายทำต้มเลือดหมู หอมแค่เดินไปบอกแม่ครัวว่า ไม่ใส่เครื่องในค่ะ เพราะหอมไม่กินเครื่องใน แค่นั้นแม่ครัวก็หาว่าหอมเรื่องมากทั้งๆ ที่เป็นแค่ตัวประกอบอะไรทำนองนี้ ส่วนช่างแต่งหน้าก็แต่งแบบขอไปที แม้หอมจะขอร้องดีๆ ว่าช่วยเติมตรงนี้ให้หน่อย เพราะหอมรู้ดีว่าตัวเองไม่ใช่คนสวย

ความรู้สึกแบบนี้ทำให้หอมแอบอาฆาตเล็กๆ ว่า “เออ จำไว้ อย่าให้ฉันดังขึ้นมาบ้างก็แล้วกัน!”

แล้วมันก็เหมือนความโชคดีนะคะ เพราะไม่นานนักหอมก็เริ่มมีชื่อเสียงในวงการแสดง ส่วนวงการดีเจที่เป็นงานหลักก็ถือว่าใช้ได้ทีเดียว เชื่อไหมคะว่า ในวันที่หอมดัง ชีวิตในกองถ่ายก็เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงค่ะ

ไม่ใช่แค่ทีมงานจะปฏิบัติต่อหอมในระดับ 3 – 5 ดาวเท่านั้นนะคะ แต่ตัวหอมเองก็มีความ “เยอะ” เพิ่มขึ้นด้วย จากที่เคยใช้ชีวิตง่ายๆ อะไรก็ได้ คราวนี้ไม่ได้แล้ว เอาแต่ใจตัวเองและมีข้อต่อรองตลอด ยกตัวอย่างเช่น หอมทำผมเสร็จแล้วเตรียมจะเข้าฉาก แต่ยังรู้สึกว่ามันดีกว่านี้ได้อีกหอมก็จะให้ช่างรื้อทำใหม่ทั้งหมด ทีมงานก็จะตามใจทำให้ใหม่ เหตุผลที่พวกเขาต้องตามใจหอมก็ไม่ใช่อะไร เพราะความที่หอมกำลังดังผสมกับความกลัวนั่นเอง พวกเขากลัวว่าหอมจะไปฟ้องเจ้านาย กลัวว่าหอมจะวีนใส่ ฯลฯ เรียกว่าช่วงนั้น “หอมตัวใหญ่มาก ไปไหนก็เห็นแต่ตัวเอง ส่วนคนรอบข้างกลายเป็นตัวเล็กไปหมดเลย”

ที่หนักที่สุดคือ ทีมงานต้องลงไปนั่งใส่รองเท้าให้หอม ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมือหอมก็ว่าง ไม่ได้ถืออะไรสักนิด มันเป็นความสะใจเล็กๆ มากกว่าค่ะที่หอมไม่เคยได้รับการปฏิบัติแบบนี้มาก่อน!!!

หอมใช้ชีวิตแบบลืมตัวหลงระเริงอย่างนี้ไปสักพัก แล้วก็เหมือนเรื่องแรกที่เล่าให้ฟังเมื่อวันหนึ่งหอมเริ่ม “เห็นตัวเอง” จากข่าวที่อ่านบ้าง ได้ยินคนเมาท์มอยกันบ้างว่า ดาราคนนั้นเยอะ ดาราคนนี้เรื่องมาก ยิ่งอ่านยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกว่า ทุกอย่างที่ว่าแย่ๆ มันอยู่ในตัวหอมทั้งหมดเลยนี่นา วันหนึ่งหอมเลยกลับมานั่งมองตัวเองว่า

“ถึงจะมีชื่อเสียง แต่สุดท้ายหอมก็เป็นแค่ตัวตลก ไม่ใช่พระเอก นางเอกไม่ใช่คนดีเลิศหรือมีความสำคัญอะไรที่ทุกคนต้องมาเอาอกเอาใจขนาดนี้ แล้วหอมทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร”

สู้กลับมาเป็นคนทำงาธรรมดาๆ แล้วทำงานให้ดีที่สุด สุดท้ายคนก็จะรักและนับถือเราจากใจจริงไปเอง ไม่ใช่นับถือแค่ “หน้าฉาก” เพราะเราได้ชื่อว่าเป็นคนดัง

หอมว่าชีวิตคือการเรียนรู้ จริงอยู่ว่าสมัยเด็กๆ เราอาจจะเลือกไม่ได้ที่เกิดมาในครอบครัวที่แตกแยก โตมาแบบไม่มีใครสั่งสอน แต่เมื่อโตขึ้น ได้มีประสบการณ์ชีวิต ได้รู้จักคนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เองที่เป็น “ครู” ที่ดีที่สุดให้กับเราค่ะ

Secret Box

อย่ามองคนอื่นเพื่อเมาท์ แต่จงมองเขาเหมือน “กระจก” ที่ใช้สำรวจตัวเรา

ดีเจต้นหอม ศกุนตลา เทียนไพโรจน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook